xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯจวกจำนำข้าวทำชาติขาดทุนยับ ทุจริตทุกระดับ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ จวกโครงการจำนำข้าวทำชาติขาดทุนยับ เปิดช่องทุจริตทุกระดับ เพิ่มหนี้สาธารณะ ชี้ต้องยกเลิก ฝืนทำต่อไม่มีงบพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน-การศึกษา ห่วงปัญหาทุจริตของไทยรุนแรงขึ้น ส่งผลชาติเสียหายปีละกว่า 5 แสนล้าน ระบุสถานการณ์ทางการรุนแรงกระทบประชาชนผู้บริสุทธิ์

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าว “ข้อเสนอจากนักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ” ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาฯว่า จุฬาฯได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจศึกษาวิจัยประเด็นต่างๆ เพื่อเป็นสติปัญญาให้แก่สังคมและหาคำตอบให้กับประเทศ โดยแบ่งเป็นโครงการระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งโครงการระยาวอยู่ระหว่างศึกษา ได้แก่ ระบบการเลือกตั้ง การเมืองทุจริต เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ สังคมไม่เป็นธรรม การเมืองกับระบบราชการ การกระจายอำนาจ บทบาทสื่อและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ส่วนโครงการระยะสั้นได้เสนอเป็นแนวทางเบื้องต้นใน 5 เรี่อง คือ การทุจริตคอร์รัปชัน การจำนำข้าว การปฏิรูปพลังงาน สถานการณ์ความรุนแรงและการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง

ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวนำเสนอการศึกษา “การทุจริตคอรัปชั่นในมิติเศรษฐศาสตร์” ว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของไทยรุนแรงขึ้นกว่าประเทศอื่นๆ เห็นได้จากข้อมูลจัดอันดับประเทศที่มีความโปร่งใส 175 ประเทศ พบว่าไทยอยู่อันดับ 102 หากเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนนั้น สิงคโปร์มีความโปร่งใสมากที่สุด รองลงมาเป็นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยอยู่อันดับ 4 ซึ่งเดิมฟิลิปปินส์เคยอยู่อันดับต่ำกว่าไทย แต่ขณะนี้ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับดีขึ้นแซงหน้าไทยไปแล้ว

จากปัญหาทุจริตที่รุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทย 5.75 แสนล้านต่อปี และหากเทียบกับมาเลเซียในช่วง 30 ปีนี้ไทยเสียโอกาสในการเพิ่มจีดีพี 2 เท่า และจากการศึกษาการพบว่าปัญหาคอร์รัปชันในไทยสะสมมายาวนานจนเกิดความชาชิน และมีแนวโน้มจะร้ายแรงขึ้นโดยมีสาเหตุสำคัญจากการใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ การดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจและการผูกขาดของภาครัฐซึ่งมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนโดยไม่มีการแยกออกจากกันอย่างชัดเจนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน และการปฏิบัติงานโดยขาดความรับผิดชอบ และมีการเปิดเผยข้อมูลแต่เฉพาะในส่วนรัฐบาลเท่านั้น ส่วนแนวทางแก้ปัญหาขอเสนอให้ต้องสร้างระบบการตรวจสอบ การใช้ดุลยพินิจที่เข้มแข็ง การผลักดันกฏหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม รวมทั้งสร้างกลไกลความรับผิดชอบต่อสังคม และปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารให้เปิดเผยข้อมูลของรัฐต่อประชาชน” ดร.ธานี กล่าว

ผศ.สุกานดา (เหลืองอ่อน) ลูวิส อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวนำเสนอการศึกษาเรื่อง “จำนำข้าว” พบว่าโครงการนี้ทำให้เกิดความสูญเสียหลายประการ ได้แก่ ต้นทุนที่สูงมาก ผลที่ได้ถึงมือชาวนาที่ยากจนน้อยมาก และเพียงแค่เริ่มนำข้ายออกขายรัฐบาลก็ขาดทุนแล้ว และยังเกิดความสูญเสียทางกายภาพและการลดของมูลค่าข้าวจากการเก็บข้าวไว้เป็นเวลานาน ทำให้ขายขาดทุนโดยเฉพาะยิ่งขายช้าก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้น อีกทั้งยังทำลายตลอดการส่งออกของข้าวไทย สร้างแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้องให้แก่ชาวนา อีกทั้งยังเป็นโครงการใหญ่ที่ก่อให้เกิดการขาดทุนสูงสุดและเพิ่มหนี้สาธารณะให้แก่ประเทศมากที่สุด นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชันในทุกระดับ เช่น การขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศอื่นที่อาจไม่เป็นจริง การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์

การช่วยเหลือชาวนาในระยะสั้น รัฐบาลจะต้องเร่งชำระหนี้จำนำข้าวให้ชาวนาและขายข้าวออกไป โดยมีข้อเสนอให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากการขาดทุนหลายแสนล้านบาท และเป็นภาระอย่างมากต่องบประมาณประเทศ หากรัฐบาลยังทำโครงการจำนำข้าวต่อไป อนาคตเราจะไม่มีเงินเพียงพอในการลงทุนสร้างปัจจัยพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาและสาธารณสุข ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวคือ การทำให้ชาวนามีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นโดยส่งเสริมและให้โอกาสทางการศึกษา การเพิ่มผลผลิตทางภาคการเกษตร การมีอาชีพเสริมและลดบทบาทพ่อค้าคนกลาง” ผศ.ดร.สุกานดา กล่าว

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ กล่าวว่า จากการศึกษาปฏิรูปพลังงานพบว่า มีปัญหา 3 เรื่อง คือ ธรรมาภิบาล และความโปร่งใสในการบริหารงานของรัฐ การผูกขาด และการกำกับดูแล การแทรกแซงของพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากพลังงาน จึงมีข้อเสนอให้ปรับองค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 19 คน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีและตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆเป็นกรรมการรวม 14 คน ส่วนกรรมการที่เหลือ 5 คน เป็นข้าราชการกระทรวงต่างๆ

“จะต้องปรับองค์ประกอบคณะกรรมการให้มีสัดส่วนนักวิชาการ องค์กรอิสระ ตัวแทนภาคประชาชนเพิ่มจากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการเมืองและข้าราชการประจำ เพื่อถ่วงดุลอำนาจและมีการตรวจสอบมากขึ้น สร้างความเข้มแข็งและความอิสระให้กับหน่วยงานที่กำกับดูแล รวมถึงสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำกับกิจการพลังงาน นอกจากนี้ ขอเสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารด้านพลังงานที่เพิ่มการแข่งขันมากขึ้น การส่งเสริมรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานพลังงานไทยเป็นผู้นำในการลงทุนและสร้างรายได้ชดเชยการนำเข้าพลังงาน กระจายส่วนแบ่งของธุรกิจพลังงานสู่ภาคประชาชนมากขึ้น และจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ” ศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ กล่าวนำเสนอการศึกษา “สถานการณ์ความรุนแรง” โดยผลการศึกษาเหตุการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.-23 ก.พ.2557 ภาพรวมความเสี่ยงต่อความรุนแรงในการชุมนุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีข้อสังเกตถึงเหตุรุนแรงมุ่งเป้าหมายไปที่มวลชนผู้เข้าชุมนุมมากขึ้น และไม่ได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่ชุมนุม แต่มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นนอกเขต ซึ่งเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลถึงเป้าหมายความเสี่ยง คือ คนบริสุทธิ์ทั่วไป จึงอยากให้ทุกฝ่ายลดปัจจัย เงื่อนไขที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและมีกลไกมาตรการคุ้มครองดูแลประชาชนผู้บริสุทธิ์ให้มากขึ้น

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์จุฬาฯ กล่าวนำเสนอการศึกษา “การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง” ซึ่งพบว่าทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อหลัก รวมถึงเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชนซึ่งเป็นสื่อท้องถิ่น และสื่อออนไลน์ มีการนำเสนอเนื้อหาในเชิงยั่วยุให้เกิดการเกลียดชังต่อกลุ่มเป้าหมาย และขยายกระแสความขัดแย้งให้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง หากมีการปลอยให้เกิดการเผยแพร่อย่างไร้การกำกับควบคุม

ขอเสนอให้มีกลไกกำกับดูแล และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เลิกใส่เกียร์ว่าง หันมาใช้กฏหมายกำกับดูแล โดยร่วมกับองค์กรวิชาชีพเพื่อควบคุมทั้งในแง่กฏหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งติดอาวุธสร้างความรู้ให้กับประชาชน นอกจากนี้ การใช้สื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ต่างๆ ผู้ใช้จะต้องมีความรับผิดชอบ รู้เท่าทันไม่เพิกเฉยต่อการสร้างความเกลียดชังอย่างกรณีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อออนไลน์ของผู้นำประเทศและนักการเมืองต่างๆ ที่เสี่ยงไปในทางยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งและเกลียดชังกัน แม้จะเป็นเสรีภาพในการสื่อสาร แต่ทุกคนก็ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมในการสื่อสาร” ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น