xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ร.บ.กีฬาอาชีพ” ตาชั่งแฝงดาบ 2 คม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แถลงเปิดตัวเมื่อวันที่ 25 ก.พ.57
ASTV ผู้จัดการรายวัน – ประกาศใช้เป็นที่เรียบร้อยสำหรับพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ฉบับแรกของเอเชีย ซึ่งมีข้อดีมากมายให้กับวงการกีฬาไทย โดยเฉพาะบทลงโทษเกี่ยวกับการรับสินบนของนักกีฬาและผู้ตัดสินที่มีโทษสูงสุดคือจำคุก 10 ปี ปรับเงินอีก 6 แสนบาท แต่ทั้งนี้ยังคงต้องจับตาดูว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะตัวผู้ถือกฎต้องใช้ให้เที่ยงตรง มิเช่นนั้นก็เปรียบเสมือนดาบ 2 คม

พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญเพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมกีฬาอาชีพเป็นหลัก ทั้งในส่วนของสมาคมกีฬา สโมสรกีฬา และนักกีฬา ครอบคลุมใน 13 ชนิดกีฬาอาชีพ คือ ฟุตบอล, แบดมินตัน, ตะกร้อ, วอลเลย์บอล, สนุกเกอร์, โบว์ลิง, แข่งรถยนต์, รถจักรยานยนต์, เทเบิลเทนนิส, เทนนิส, กอล์ฟ, บาสเกตบอล และ มวยไทย

โดยมีคณะกรรมการส่งเสริมกีฬาอาชีพเป็นผู้ควบคุมดูแล ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมการฯ (รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา), กรรมการโดยตำแหน่ง 6 ราย (ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงแรงงาน, ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน) รวมถึงกรรมการที่เปิดโอกาสให้ ตัวแทนนักกีฬา ผู้แทนสโมสร และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งสิ้น 21 คน

ขณะที่ขั้นตอนต่างๆ สมาคมกีฬา สโมสร นักกีฬา และบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง ต้องไปยื่นขอจดแจ้งกับคณะกรรมการส่งเสริมกีฬาอาชีพหรือนายทะเบียนเพื่อที่จะรับบัตรประจำตัวนักกีฬาอาชีพและบุคลากรกีฬาอาชีพ จากนั้นก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามมาตราใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาทิ คุ้มครองและสร้างความเป็นธรรมในสัญญาจ้าง โดยผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์อันเนื่องมาจากได้รับความไม่เป็นธรรมจากสโมสร

รวมถึงมีการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ” ที่แยกออกมาจากคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือ สงเคราะห์ และ สวัสดิการต่างๆ เช่น กรณีประสบอุบัติเหตุหรือได้รับความเสียหายจากการแข่งขันกีฬาอาชีพ อีกทั้งยังมีการเชิดชูเกียรติแก่นักกีฬาและบุคคลากรที่เป็นแบบอย่างที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยสอดส่องให้การแข่งขันมีมาตรฐานและความปลอดภัยตามที่คณะกรรมการกำหนด เช่น เรื่องสนามแข่งขัน สิ่งอำนวยความสะดวก มาตรการควบคุมความสงบเรียบร้อย ฯลฯ

แต่สิ่งสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็คือบทลงโทษต่อผู้กระทำความผิด ที่แบ่งเป็น โทษทางปกครอง ปรับเงินสูงสุด 1 แสนบาท ต่อผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับ และโทษทางอาญา โดยเฉพาะกรณี “การล้มกีฬา” โดยบทลงโทษสำหรับนักกีฬาผู้ รับ ให้ หรือขอให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้มีการล้มกีฬา จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือ ปรับเงินตั้งแต่ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเป็นผู้ตัดสินจะโดนโทษหนักขึ้นเป็น จำคุกไม่เกินตั้งแต่ 1-10 ปี หรือ ปรับเงินตั้งแต่ 3-6 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งเมื่อเกิดความผิด ผู้เสียหายหรือผู้พบเห็น สามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันทีเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนสอบสวน ส่งฟ้องศาล และพิจารณาคดีต่อไป หรือสามารถยื่นฟ้องต่อศาลด้วยตัวเองได้ทันที รวมถึงแจ้งต่อคณะกรรมการส่งเสริมกีฬาอาชีพหรือนายทะเบียนตรวจสอบ ก่อนจะใช้อำนาจในการสั่งลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ไปแล้ว แต่ในส่วนของคณะกรรมการที่จะมาเป็นผู้ควบคุมนั้นปัจจุบันยังไม่เรียบร้อย และยังต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพขนาดไหนยามเกิดปัญหา โดยเฉพาะตัวผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะนายทะเบียนที่มีอำนาจมากมายอยู่ในมือ ทั้งเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำและส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณา รวมถึงยังสามารถเข้าไปยังที่ทำการของสโมสรและสมาคมเพื่อตรวจสอบหาหลักฐานต่างๆ เมื่อมีเหตุต้องสงสัยได้อย่างเต็มที่ (หากฝ่าฝืนหรือขัดขวางมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 พันบาท หรือทั้งจำและปรับ)

ด้าน นางนฤมล ศิริวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกฎหมาย สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ด้านการกีฬา สมาชิกวุฒิสภา ได้เป็นห่วงว่าจะส่งผลเสียกลับคืนมาต่อผู้ถือกฎหมายหากใช้ไม่ถูกต้อง “กฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก ผ่านการพิจารณามาอย่างถี่ถ้วน และสามารถเอาผิดได้ทุกฝ่าย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ถือกฎหมายว่าจะสามารถใช้ควบคุมและเอาจริงเอาจังขนาดไหน ที่สำคัญต้องศึกษาให้ดี เพราะหากละเลยหรือดำเนินการผิดพลาดมีสิทธิ์โดนผู้เสียหายฟ้องร้องกลับเอาง่ายๆ ซึ่งโทษที่จะตามมานั้นก็หนักเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว”

ในเรื่องนี้ “บิ๊กหนุ่ม” กนกพันธุ์ จุลเกษม นายใหญ่ กกท.กล่าวว่า “ขณะนี้เราได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองเสร็จแล้วทั้ง 27 ฉบับ เหลือเพียงคัดเกลาอีกเล็กน้อยไม่เกิน 6 เดือนคงเรียบร้อย ซึ่งจะส่งผลถึงการพิจารณาคุณสมบัติของกรรมการที่จะตั้งขึ้นใหม่ อาทิ คณะกรรมร้องทุกข์ คณะกรรมการพิจารณา และคณะกรรมการอุทธรณ์ ซึ่งจะมีนักกฎหมายคอยประจำการแต่ละหน้าที่ พร้อมกันนี้เรายังเตรียมยกระดับกองนิติการให้เป็นฝ่ายนิติการเต็มตัว เตรียมเพิ่มนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านนี้เข้ามา ผมมั่นใจว่าทุกอย่างจะประสบความสำเร็จด้วยดีแน่นอน”

ขณะเดียวกัน ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้ง นักกีฬา สโมสร และ สมาคม ต่างออกมาขานรับ และเตรียมมาตรการรองรับของตัวเองเพื่อสนับสนุนการทำงานของการกีฬาแห่งประเทศไทย เช่น บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด หรือ “ทีพีแอล” ที่เตรียมตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในเบื้องต้น ถึงกระนั้นสิ่งเดียวที่จะวัดว่าทุกอย่างออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้น คงต้องรอให้มี “กรณีตัวอย่าง” เกิดขึ้นเป็นตัวอย่างเสียก่อน
มาดามมล เตือนระวังเป็นดาบ 2 คม
บิ๊กหนุ่ม เตรียมเพิ่มฝ่ายกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น