xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดปีใหม่ดาบสองคมก้าวพลาดชีวิตเปลี่ยน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปีใหม่ทีมนำไม่นิยมช็อปปิง
เอเยนซี - ตลาดนักเตะรอบสองจะปิดตัวลงวันที่ 31 มกราคมนี้ โดยตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้แต่ละสโมสรสรรหาผู้เล่นใหม่เข้ามายกระดับหรืออุดรอยรั่วที่เกิดขึ้นครึ่งฤดูกาลแรก แต่ถึงกระนั้นก็เหมือนดาบสองคม เพราะช่วงเวลาแบบนี้การันตีไม่ได้เลย ชนิดที่ว่าถ้าก้าวพลั้งพลาดก็เสมือนเป็นการขุดหลุมฝังตนเอง

ทุกสโมสรไม่เต็มใจปล่อยผู้เล่นดีที่สุดของตนเองออกไปช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนี้ ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น เช่นต้นปี 2011 เฟร์นานโด ตอร์เรส กองหน้าทีมชาติสเปน ผละ ลิเวอร์พูล ไปอยู่กับ เชลซี เป็นสถิติจวบจนทุกวันนี้ 50 ล้านปอนด์ (ราว 2,750 ล้านบาท) ส่วน “หงส์แดง” ก็เจียดเงิน 35 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,925 ล้านบาท) ไปดึง แอนดี คาร์โรลล์ จาก นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด มาแทน ถือเป็นดีลที่น่าผิดหวัง เพราะทั้งคู่ยิงรวมกันในลีก 25 ประตูเฉลี่ยคิดเป็นมูลค่าลูกละ 3.4 ล้านปอนด์ (187 ล้านบาท) เลยทีเดียว

นับตั้งแต่เปลี่ยนให้ตลาดโยกย้ายนักเตะเปิดทำการ 2 ช่วงเวลาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2003 ค่าเฉลี่ยหว่านเม็ดเงินเสริมทัพของแต่ละสโมสร พรีเมียร์ลีก ซัมเมอร์สูงกว่าหน้าหนาว 321.8 ล้านปอนด์ (ราว 17,699 ล้านบาท) แต่ 6 ปีหลังนับเฉพาะช่วงมกราคมค่าเฉลี่ยสูงขึ้น 130 ล้านปอนด์ (ประมาณ 7,150 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 53 ล้านปอนด์ (2,915 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับระหว่างปี 2003-07

สโมสรอันดับ 4 และ 5 มักใช้เงินมากสุดช่วงเปิดศักราชเฉลี่ยอยู่ที่ 16.1 ล้านปอนด์ ( 885 ล้านบาท) กับ 11.8 ล้านปอนด์ (649 ล้านบาท) ตามลำดับ ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเพื่อเป้าหมายโควตา ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะถอนทุนจากส่วนแบ่งเงินก้อนโต ตรงกันข้ามทีมนำกลับใช้เงินไปเฉลี่ยแค่ 1.14 ล้านปอนด์ (ราว 62.7 ล้านบาท)

แมนเชสเตอร์ ซิตี เคยซื้อ เอดิน เซโก กองหน้าจาก โวล์ฟสบวร์ก เมื่อต้นปี 2011 ด้วยค่าตัว 27 ล้านปอนด์ (1,485 ล้านบาท) แม้ยิงได้แค่ 2 ประตู แต่จบฤดูกาลคว้าอันดับ 3 เข้ารอบแบ่งกลุ่ม แชมเปียนส์ ลีก อัตโนมัติ ขณะที่ อาร์เซนอล ควักเงินสถิติสโมสร 15 ล้านปอนด์ (825 ล้านบาท) สอย อังเดร อาร์ชาวิน แนวรุกจาก เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อต้นปี 2009 ซึ่งผลงานสุดเข้าตายิงและจ่ายรวมกัน 14 ประตูจาก 12 นัด แถม “ปืนโต” ไม่เคยแพ้ในปีนั้นเมื่อมีชื่อแข้งรัสเซียลงสนามและได้อันดับ 4 ในบั้นปลาย

แต่บ่อยครั้งที่มกราคม คือเดือนแห่งหายนะ ฤดูกาล 2011-12 ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เกาะที่ 3 อยู่ดีๆ ตามจ่าฝูงแค่ 6 แต้มแถมแข่งน้อยกว่า 1 นัด แต่การขายกับปล่อยยืม เวดราน ชอร์ลูกา, เซบาสเตียน บาสซง, สตีเวน พีนาร์ และ โรมัน พาฟลูเชนโก ก่อนจะไปดึง หลุยส์ ซาฮา และ ไรอัน เนลเซน มาแทน ทำให้จากนั้นแต้มเฉลี่ยต่อเกมตกลงเหลือ 0.66 แม้ได้อันดับ 4 แต่ก็ต้องอกหักไปเล่น ยูโรปา ลีก เพราะถูก เชลซี ที่ได้อันดับ 6 เบียดแย่งโควตาในฐานะแชมป์เก่ายุโรปถ้วยใบใหญ่

ไปดูท้ายตารางไฮไลต์ของการหนีตายฤดูกาล 2011-12 อยู่ที่ สวอนซี ซิตี โดยพ้นครึ่งทางยิงน้อยสุดเป็นอันดับ 2 ของลีก แต่การมาของ กิลฟี ซิกูร์ดส์สัน ซึ่งยืมจาก ฮอฟเฟนไฮม์ ก่อนที่แนวรุกไอซ์แลนด์ซัด 7 ประตูจ่าย 5 ลูก ทำให้ได้ “หงส์ขาว” ได้อยู่ต่อ สถิติ 17 จาก 18 ทีมล่าสุดที่ตกชั้น (ไม่รวม ควีนสปาร์ก เรนเจอร์ส ซึ่งเมื่อฤดูกาลที่แล้วใช้เม็ดเงินไปอย่างมโหฬาร) เฉลี่ยใช้เงินอยู่ที่ 0.86 ปอนด์ (ประมาณ 47.3 ล้านบาท) ขณะที่พวกรอดตาย หลังรั้งโซนแดงช่วงตลาดเปิดนั้นใช้เงินเฉลี่ย 3.66 ล้านปอนด์ (201 ล้านบาท)

เรื่องของกุนซือที่มากประสบการณ์ก็ถือว่ามีส่วนสำคัญไม่น้อยกับสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตาย เช่น เมื่อปี 2009 โทนี พูลิส ที่เลื่อนชั้นขึ้นมากับ สโต๊ก ซิตี สามารถอยู่รอดจากการคว้า 2 ตัวรุก เจมส์ บีตตี และ แม็ทธิว เอเธอริงตัน ด้วยค่าตัวรวมกัน 5 ล้านปอนด์ (275 ล้านบาท) ทั้งคู่ยิงและจ่ายรวมกัน 13 ลูก ทำให้แต้มและประตูที่ทำได้เฉลี่ยต่อเกมอยู่ที่ 0.38 กับ 0.21 ตามลำดับ ซึ่งตอนนี้โยกมาคุม คริสตัล พาเลซ รั้งอันดับ 16 อยู่เหนือเรดโซน 2 แต้ม

แสดงให้เห็นว่าการจ่ายเงินช่วงเดือนมกราคมไม่รับประกันใดๆ ทั้งสิ้นไม่ว่าคุณจะอยู่โซนแดงหรืออีกฟากของตาราง เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกุนซือต้องพินิจพิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนท่ามกลางระยะเวลาที่บีบให้ต้องรีบตัดสินใจ ส่วนผู้เล่นก็มีน้อยรายนักที่จะซื้อปุ๊บและจุดติดฟอร์มปั๊บ
พูลิส เคยพา สโต๊ค รอดตายมาแล้ว
คาร์โรลล์ หนึ่งในความล้มเหลวช่วงต้นปี
คาร์ดิฟฟ์ ตอนนี้เน้นยืมมากกว่าทุ่มซื้อ
กำลังโหลดความคิดเห็น