ASTVผู้จัดการรายวัน – ตามที่ประเทศไทยได้แสดงความประสงค์ต่อ สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (โอซีเอ) ในการเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชีย “เอเชียน เกมส์” ครั้งที่ 19 ปี ค.ศ. 2023 ต่อจากประเทศเวียดนาม แต่เมื่อดูกันตามเนื้อผ้าแล้ว ไทยต้องพบกับอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการต้องหมุนเวียนให้ไปจัดโซนอื่นของทวีป หรือแม้แต่การเผชิญกับคู่แข่งจากตะวันออกกลางภายใต้เม็ดเงินสนับสนุนมหาศาล รวมถึงปัญหาภายในประเทศ ที่อาจจะส่งผลกระทบให้ฝันครั้งนี้ต้องรอกันต่อไปจนอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันไกลนี้
ถือว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่การเสนอตัวจัดมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ ของไทย จะส่อแววล่มไม่เป็นท่า เพราะก่อนหน้านี้การเสนอตัวจัดกีฬาโอลิมปิก 2008 ที่สุดท้ายเป็นได้เพียงความฝัน เพราะต้องใช้เงินลงทุนนับแสนล้าน ประกอบกับการวัดศักยภาพด้านกีฬา ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะต่อกรกับชาติมหาอำนาจอย่าง จีน ที่มีความพร้อมกว่าและชนะใจคณะกรรมการโหวตคัดเลือกไปในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้บุคคลสำคัญผู้เปรียบดั่งเสาหลักกีฬาไทย ได้เล็งเห็นมาโดยตลอด พร้อมประมวลความคิดชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคในการเป็นเจ้าภาพกีฬาใหญ่อย่าง เอเชียนเกมส์ หรือ โอลิมปิก
โดย “บิ๊กจา” จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงปัญหาแรกที่ไทยต้องเจอในการเสนอเป็นเจ้าภาพคือศักยภาพของประเทศไทย เมื่อเทียบกับคู่แข่ง “ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพเพียงพอในการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาใหญ่อยู่แล้ว เพียงแต่ยังเป็นความสามารถที่รู้กันแค่ภายใน เพราะความน่าเชื่อถือสำหรับการเป็นเจ้าภาพในอดีตที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันความพร้อมของเรายังไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าเราจะเหนือกว่าคู่แข่งหรือไม่ ซึ่งเราต้องทำให้เกิดการพัฒนาทั้งการพัฒนาเมือง สร้างถนนหนทาง อาคารสถานที่ หน่วยงานราชการ การคมนาคมขนส่ง ศูนย์แข่งขันกีฬา ซึ่งเกี่ยวพันกันทั้งหมด”
“นอกจากนี้ไทยยังประสบปัญหาในเรื่องของสนามกีฬาที่มีเพียงไม่กี่สนามที่ได้มาตรฐานสากล หรือแม้แต่ในส่วนของหมู่บ้านนักกีฬาและโรงแรมไว้สำหรับรองรับเจ้าหน้าที่จากชาติต่างๆ ที่ต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เราก็ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งหากจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพนั้นจะต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ถือเป็นปัญหาที่ต้องคิดว่าเราจะสามารถสร้างทุกอย่างได้ทัน ก่อนที่ ไอโอซี จะตัดสินให้เมืองใดเป็นเจ้าภาพก่อน 7 ปี หรือไม่” รองนายใหญ่บ้านอัมพวัน กล่าว
ขณะที่ “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไทยชุดคว้าเจ้าเหรียญทองที่ประเทศพม่า ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 27 กล่าวถึงความไม่พร้อมของไทยในด้านของนักกีฬา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดศักยภาพของชาติต่างๆ “ปัจจุบันนักกีฬาหรือสมาคมกีฬาของไทย มีศักยภาพสูงและทำผลงานได้ไม่น้อยหน้าคู่แข่งในเอเชีย แต่ยังทำได้ไม่ดีทุกจุด เนื่องจากวงการกีฬาไทยมีหลายองค์ประกอบที่ฉุดดึงไว้ไม่ให้ก้าวหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลที่มีไม่เพียงพอต่อการรับผิดชอบทั้งการเตรียมนักกีฬาไปแข่งขันระดับนานนาชาติ หรือแม้แต่การจัดแข่งขันภายในประเทศก็ทำได้ไม่เต็มที่ ทำให้เราพัฒนาไปข้างหน้าได้ไม่เต็มที่”
พร้อมกันนี้เหรัญญิกคณะกรรมการโอลิมปิกไทย ยังได้กล่าวถึงตัวแปรสำคัญที่เป็นเหตุในการบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประเทศไทย “ขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาความแตกแยกทางความคิด ทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ซึ่งต้องเร่งแก้ไขเป็นอันดับแรก โดยเราต้องพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศด้วยการดึงการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ มาเพื่อส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ เพราะปัญหาดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะวงการกีฬาเท่านั้น”
เมื่อทางออกในการเป็นเจ้าภาพแต่เพียงชาติเดียวอาจเป็นการลงทุนที่สูง จึงมีการเสนอแนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าภาพร่วมในมหกรรมกีฬาต่างๆ ในนามกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่น่าจะมีความพร้อม เหมือนที่เคยร่วมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลเอเชียนคัพ 2007 ที่มี 4 ชาติในภูมิภาคนี้ร่วมมือกัน
อย่างไรก็ตาม ดร.ณัฐ อินทรปาณ ผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า “ในกรณีที่จะมีเจ้าภาพร่วม หลายประเทศร่วมมือกัน ต้องเป็นเรื่องของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เสนอต่อไอโอซี เพื่อขอแก้ไขข้อบังคับ ซึ่งเป็นไปได้ยากเพราะตามกฎระเบียบระบุไว้ชัดเจนว่า ในเรื่องการเสนอขอเป็นเจ้าภาพ ต้องให้ประเทศเดียว เมืองเดียวนำเสนอ และเป็นสิทธิ์ของไอโอซีที่จะตัดสินใจให้เมืองหนึ่งเมืองใดได้รับคัดเลือกเท่านั้น และอีกประการสำคัญก็คือเมืองเจ้าภาพคงไม่ต้องการแบ่งจัดกับประเทศอื่น เพราะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี รวมทั้งยังเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศตัวเองอีกด้วย ดังนั้นแนวความคิดนี้น่าจะตกไป”