xs
xsm
sm
md
lg

ประตูผี / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

มันมีคำภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่ในภาษาฟุตบอลว่า โกสท์ โกล ( Ghost goal ) หรือ แฟนเทิ่ม โกล ( phantom goal ) ซึ่งน่าจะแปลว่าเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า ประตูผี หมายถึง การทำประตูที่มีปัญหา ซึ่งตามปกติมักจะเป็นกรณีที่เกิดความไม่แน่ใจหรือมีการถกเถียงกันว่าลูกบอลนั้นได้ผ่านข้ามเส้นประตูทั้งใบไปแล้วหรือไม่ อันนี้หมายรวมทั้งในกรณีที่ผู้ตัดสินเป่าให้เป็นประตูทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ เมื่อพิสูจน์จากภาพวีดีโอในภายหลังพบว่าลูกบอลไม่ได้ผ่านเส้นประตูไปทั้งใบเลย หรือในกรณีที่ลูกบอลผ่านเส้นประตูไปแล้ว แต่กรรมการดันตาถั่วไม่ให้เป็นประตู

ที่มาที่ไปของคำนี้เกิดขึ้นเมื่อใด ต้องย้อนกลับไปวันที่ 3 พฤษภาคม 2005 ในนัดที่ ลิเวอร์พูล เปิด สนามแอนฟีลด์ ต้อนรับ เชลซี ในรอบรองชนะเลิศ ฟุตบอลสโมสรยุโรป ยูเอ็ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ฤดูกาล 2004-05 นัดที่ 2 ซึ่ง ลิเวอร์พูล เอาชนะไป 1-0 จากประตูชัยของ ลูอิส ฆารเซีย ( Luis Garcia ) มิดฟีลด์ชาวสเปน ตั้งแต่ต้นเกม ซึ่งก่อนหน้านั้น นัดแรกเสมอกันมาก่อนที่ สแตมเฝิร์ด บริดจ์ แบบไร้สกอร์ ทำให้เมื่อรวมผลสองนัด ลิเวอร์พูล ได้ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ เอซี มีลาน และคว้าแช้มพ์ในปีนั้นไปครองอย่างดราม่าสุดๆ

ลูบอส มิเชล ( Lubos Michel ) ผู้ตัดสินในนัดนั้นเผยว่า เขาก็ตัดสินไปตามที่ผู้ช่วยผู้ตัดสินส่งสัญญาณมาว่าบอลได้ผ่านข้ามเส้นเข้าประตูไปแล้ว และถึงแม้ว่าจะไม่ให้เป็นประตู จังหวะนั้นมันก็ต้องให้ลูกโทษที่จุดโทษจากการที่ เป๊ตเตรอะ เช็ก ( Petr Cech ) ไปทำฟาล์ว มีลาน บารอส ( Milan Baros ) อยู่ดี แถมต้องให้ใบแดงแก่ผู้รักษาประตูของ เชลซี อีกด้วย ซึ่งจากการฉายภาพช้าและดูภาพนิ่งโดยผู้เชี่ยวชาญในภายหลังทำให้เห็นว่า การตัดสินของ มิเชล ถูกต้องแล้ว

อย่างไรก็ตาม ชูเซ โมริญโญ ( Jose Mourinho ) โค้ชชาวปอรตูเกาของ เชลซี ในขณะนั้นขนานนามการทำประตูจังหวะนี้ว่าเป็น ประตูผี และขยายข้อความไปอีกว่า มันเป็นประตูที่มาจากโลกพระจันทร์ รวมความก็คือ หมอนี่เชื่อว่า เป็นการตัดสินที่เฮงซวยเหลือเกิน ลูกบอลมันไม่เข้า แล้วเอ็งชี้ขาดอย่างนี้ได้ยังไง นับแต่นั้นมา โกสท์ โกล และ แฟนเทิ่ม โกล ก็ถูกใช้มาตลอดเมื่อเกิดข้อโต้เถียงในประตูที่เกิดขึ้นหรือจังหวะที่ผู้ตัดสินไม่ให้ประตู

ในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลระดับโลก ประตูผีที่ถูกบันทึกเป็นตำนานให้เล่าขานกันนั้น อังกฤษ มักมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น อย่างในฟุตบอลโลก 1966 ที่ อังกฤษ เป็นเจ้าภาพ และได้เข้าชิงชนะเลิศกับ เจอรมานีตะวันตก หลังจากเสมอกันในเวลา 2-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ เจฟฟ์ เฮิร์สท์ ( Geoff Hurst ) ยิงชนคานแล้วบอลกระเด้งลงพื้นบนเส้นประตูก่อนที่จะกระดอนออกไป ก็อทฝรีด ดีนสท์ ( Gottfried Dienst ) ผู้ตัดสินชาวสวิสเองก็ยังไม่แน่ใจ ต้องเข้าไปถามผู้ช่วยผู้ตัดสิน เมื่อได้รับการยืนยัน เขาจึงตัดสินให้เป็นประตู ซึ่งเมื่อมีการศึกษาอย่างถี่ถ้วนในภายหลังก็พบว่าลูกนั้นไม่ได้ผ่านเส้นประตูเข้าไปทั้งใบตามกฎ แม้ผลของนัดนั้น อังกฤษ คว้าแช้มพ์โลกด้วยสกอร์ 4-2

อีกเหตุการณ์หนึ่งก็เกิดกับการแข่งขันกับ เจอรมานี อีกเช่นกัน คราวนี้เป็นรอบ 16 ทีม ในฟุตบอลโลก 2010 ที่ อัฟริกาใต้ หลังจาก อังกฤษ โดนนำไป 2-1 แฟร้งค์ แลมผาร์ด ( Frank Lampard ) ซัดบอลชนคานเด้งผ่านข้ามเส้นประตู แล้วด้วยผลของการหมุนของลูกบอลขณะชนคานทำให้เมื่อลูกบอลตกลงกระทบพื้นก็เด้งออกไปแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นใน เวิร์ลด์คัพ 1966 จากภาพช้าแสดงให้เห็นว่าลูกบอลเข้าประตูแล้ว แต่ผู้ตัดสินไม่ได้ให้เป็นประตู ไม่เช่นนั้น อังกฤษ น่าจะตีเสมอเป็น 2-2 และเกมอาจพลิกไม่จบลงด้วยสกอร์เละ 4-1 อย่างที่เป็น หลายคนขนานนามลูกนี้ว่า ลูกล้างแค้นเหตุการณ์ในฟุตบอลโลก 1966 โน่นแน่ะ

ผู้นำของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า องค์กรควบคุมดูแลฟุตบอลสูงสุดแสดงความไม่เห็นด้วยมาตลอด เพราะหากนำเอาเท็คนอลลอจี้เข้ามา จะทำให้ฟุตบอลกลายเป็นเกมที่พึ่งพาอุปกรณ์ทันสมัยมากเกินไป เสน่ห์ของเกมจะถูกลดทอนจนอาจนำไปสู่ความเสื่อมดับสูญลงได้ แต่ในที่สุดความผิดพลาดของมนุษย์ก็แสดงให้เห็นว่าก่อให้เกิดความเสียเปรียบ เกิดความเสียหายมากกว่าผลดี ฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย นี่จะเป็นหนแรกที่ยอมรับเอาเท็คนอลลอจี้สมัยใหม่เข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ตัดสินครับ พอกันที ประตูผี
กำลังโหลดความคิดเห็น