พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการประมูลสัญญาณทีวีในระบบ ดิจิตอล ในประเทศไทยที่ขณะนี้ได้มีการเปิดขายซองประมูลแก่ผู้สนใจ และมีผู้ยื่นความประสงค์ซื้อซองประมูลแล้ว โดยมีนัดยื่นซองประมูลในช่วงสิ้นเดือน ตุลาคมนี้ พร้อมเผยความคืบหน้าการเข้าควบคุมดูแลบริหารลิขสิทธิ์ การถ่ายทอดสดกีฬาระดับนานาชาติ ที่ยังคงเป็นปัญหากับทาง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือลิขสิทธิ์ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ในประเทศไทยจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) อยู่ในขณะนี้
วันศุกร์ที่ 27 ก.ย. ณ ห้องประชุม 3 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการ กสทช. เปิดเผยถึงการประมูลระบบ ทีวี ดิจิตอล ที่จะมีการเปลี่ยนระบบการออกอากาศของฟรีทีวี ของไทยในปัจจุบันจากระบบ ทีวี อนาลอกมาเป็นระบบ ทีวี ดิจิตอล จากเดิมที่มีอยู่ 6 ช่อง ก็จะเพิ่มเป็น 36 ช่อง ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นราวๆปลายปีนี้ โดยทาง กสทช. ได้มีการเปิดให้ผู้ที่สนใจได้ยื่นความประสงค์เข้าร่วมประมูลแล้ว และขณะนี้ได้มีผู้เสนอยื่นซองประมูลแล้ว 33 ราย ซึ่งมีกำหนดให้มายื่นซองประมูลในวันที่ 28-29 ตุลาคมนี้
ส่วนความคืบหน้าในประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาอยู่กับทาง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือลิขสิทธิ์ ฟุตบอลโลก 2014 ในประเทศไทยจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) ที่ได้ไปยื่นฟ้องศาลปกครอง ให้มีการคุ้มครอง และเพิกถอนการประกาศของทาง กสทช. ที่บังคับให้มีการถ่ายทอดสด เวิลด์ คัพ 2014 ลงฟรี ทีวี ทั้ง 64 นัด โดยทางรองประธานคณะกรรมการ กสทช. ได้ให้คำชี้แจงว่า ทาง กสทช. เห็นว่าศึกฟุตบอลโลก เป็นสิทธิ์ที่คนไทยทุกคนควรได้รับชมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และเข้าตามกฎเกฌณ์ข้อบังคับที่ทาง กสทช. ได้วางไว้คือ การแข่งขันที่เป็นที่นิยมและสำคัญต่อสังคม การแข่งขันที่สำคัญต่อประเทศชาติและวัฒนธรรม หรือโปรแกรมการแข่งขันสำคัญที่เคยเผยแพร่ผ่านทาง ฟรี ทีวี มาก่อนหน้านี้ ซึ่งเบื้องต้นได้ระบุไว้ 7 รายการกีฬาคือ ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์,
โอลิมปิกเกมส์, กีฬาคนพิการของทั้ง 3 รายการ และฟุตบอลโลก ซึ่งทั้ง 7 รายการเข้าข่ายและตรงตามเงื่อนไขซึ่งจะต้องได้รับการถ่ายทอดสดผ่าน ฟรี ทีวี ให้คนไทยทั้งประเทศได้เข้าถึงและรับชมโดยทั่วถึงกัน
"หลักการพื้นฐานของประกาศฉบับนี้ ก็ได้ร่างต้นแบบตามหลักปฏิบัติสากลอยู่แล้ว และทั้ง 7 รายการกีฬาที่ได้ระบุไว้ก็เข้าตามกติกาที่เราวางไว้คือ เป็นรายการที่ได้รับความนิยมและสำคัญต่อประเทศชาติ ส่วนเรื่องประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็อาจเกิดจากการที่ได้มีการตกลงสัญญาเรื่องลิขสิทธิ์กันก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎเกณฑ์ฉบับนี้ อย่างไรก็ตามผมก็ขอยืนยันว่าฟุตบอลโลกเป็นรายการกีฬาที่คนไทยทุกคนควรเข้าถึงและรับชมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติม"
ทั้งนี้ทาง กสทช. อ้างว่าได้มีการนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งทาง อาร์เอส ให้เหตุผลในการไม่สามารถถ่ายทอดลง ฟรี ทีวี ได้ ทั้ง 64 นัด เนื่องจากเป็นข้อตกลงในสัญญา และจะเป็นการละเมิดข้อสัญญากับทาง ฟีฟ่า เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยสามารถให้ลงฟรีทีวีได้เพียง 22 นัดเท่านั้น ซึ่งทาง กสทช. ชี้แจงว่าได้ร้องขอดูแม่บทสัญญา จากทาง ฟีฟ่า และหากเป็นเช่นนั้นจริงก็มิอาจบังคับให้ อาร์เอส ละเมิดสัญญากับทาง เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ แต่ทว่าทางเจ้าของลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกในประเทศไทย กลับบ่ายเบี่ยงและเลี่ยงการเจรจามาถึง 4 ครั้ง และทำการยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นดังกล่าว
" ทางอาร์เอส ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาล ให้มีการเพิกถอนประกาศฉบับนี้ และได้ขอความคุ้มครองชั่วคราวจากศาลก่อนการพิพากษา และตอนนี้ก็คงต้องรอฟังคำตัดสินจากศาล ซึ่งอยู่ในขั้นพิจารณา ไต่สวน โดยทาง กสทช. ก็ได้ไปชี้แจงต่อศาลแล้วว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์ของเอกชน และการแสวงหาผลประโยชน์ของเอกชนก็มีช่องทางของมันอยู่แล้ว อย่างเช่นการให้ทางเลือกคนดูที่สามารถรับชมได้ในระบบเทคโนโลยีความคมชัดสูง หรือไฮเดฟิเนชัน มาเป็นแรงจูงใจก็สามารถทำได้ เพราะการบังคับให้มาออกอากาศทาง ฟรีทีวี ทำได้เพียง เผยแพร่ในระบบธรรมดาเท่านั้น รวมถึงการแสวงหาผลประโยชน์จากโฆษณาต่างๆก็ทำได้ตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ซึ่งมันก็มีส่วนที่จะมาชดเชยกันอยู่แล้ว และเชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ทั้งนั้นหากศาลยังไม่มีคำตัดสินก่อนมหกรรมบอลโลกจะเริ่มขึ้นกติกาของ กสทช. ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที" พ.อ.นที กล่าว