ASTV ผู้จัดการรายวัน – ศึกลูกหนังไทยฤดูกาล 2013 ปิดฉากอย่างเป็นทางการ โดยเป็น “ปราสาทสายฟ้า” บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ครองความยิ่งใหญ่กวาดทุกโทรฟีมาประดับตู้โชว์ พร้อมคว้าสิทธิ์ไปฟาดแข้งถ้วยสโมสรเอเชีย “เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก” หรือ เอซีแอล ฤดูกาล 2014 แน่นอนแล้ว ขณะที่พระรอง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ที่ได้ส้มหล่นในฐานะรองแชมป์ลีกสูงสุดยังคงต้องลุ้นต่อวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ที่ สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) จะประกาศให้ไทยได้โควตาเข้าร่วมโม่แข้งกี่ทีม ซึ่งขัดกับภาพของ ไทย พรีเมียร์ ลีก ที่กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงเป็นที่มาที่ต้องช่วยกันขบคิดว่าทำอย่างไรถึงจะการันตีเก้าอี้แบบยั่งยืน
สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือ “เอเอฟซี” จะทำการประเมินภาพรวมของฟุตบอลลีกแต่ละประเทศก่อนนำมาแปรเป็นคะแนนสำหรับการให้โควตาเข้าร่วมแข่งขันศึก เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก และ เอเอฟซี คัพ โดยมี 1,000 คะแนน แบ่งตามสัดส่วนหัวข้อต่างๆ คือ การจัดการองค์กร, มาตรฐานทางเทคนิค, ผู้ชม, การกำกับดูแล, การตลาด, ขนาดธุรกิจ, การจัดการแข่งขัน, สื่อ, สนาม, สโมสรฟุตบอล และ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาลีกชั้นนำทวีปต่างสามารถจับจองยึดพื้นที่ได้อย่างเหนียวแน่นทั้ง เจ-ลีก ญี่ปุ่น, เค-ลีก เกาหลีใต้, ไชนา-ซูปอร์ลีก จีน, โปร ลีก ซาอุดีอาระเบีย และ สตาร์ส ลีก กาตาร์ จนได้ตั๋วรอบสุดท้าย 4 ทีมเต็ม ส่วนไทยรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โควตายังไม่นิ่งมีสลับขึ้น-ลง ปี 2011 ได้โควตาคือ รอบเพลย์ออฟ 1 ทีม และ เอเอฟซี คัพ 1 ทีม ถัดมา ปี 2012 ได้ รอบแบ่งกลุ่ม 1 ทีม และรอบเพลย์ออฟ 1 ทีม (ถ้าแพ้ได้สิทธิ์เล่น เอเอฟซี คัพ) และปี 2013 ได้ รอบแบ่งกลุ่ม 1 ทีม และรอบเพลย์ออฟ 1 ทีม (ถ้าแพ้ไม่ได้สิทธิ์เล่น เอเอฟซี คัพ)
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเนวิน ชิดขอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อยากให้เน้นเรื่องคนดูเป็นสิ่งสำคัญ “ผมมองว่าสิ่งแรกเลยคือเรื่องคนดู ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องทำให้แฟนอยากเข้าสนาม ถ้าจัดการแข่งขันไม่ดี การตัดสินมีปัญหา ใครก็ไม่อยากดูเดินออกจากสนาม จนส่งให้ยอดผู้ชมลดลงและยิ่งฤดูกาลหน้าได้เพิ่มเป็น 20 ทีมด้วย จะมีปัญหามากมายแน่นอน เกมกลางสัปดาห์ที่มากขึ้นจะทำให้ฉุดยอดเฉลี่ยลดลงกว่าเดิม ซึ่งผมก็ช่วยเท่าที่ทำได้ เราได้ขยายสนามเป็น 33,000 ที่นั่ง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มยอดเฉลี่ยในแต่ละนัดเกิน 20,000 คนแน่นอน”
นายใหญ่ “เซราะกราว” ยังแนะทีมเล็กต้องช่วยกันยกระดับสโมสรของตัวเอง “วันนี้คุณได้เงินค่าถ่ายทอดลิขสิทธิ์จำนวน 20 ล้านบาท ก็ควรจะนำเงินส่วนนี้ไปปรับปรุง ถึงแม้ทีมเล็กๆ จะมีส่วนร่วมน้อยสำหรับโควตาสโมสรเอเชีย แต่หากไม่ทำก็จะส่งผลโดยตรงถึงสโมสรเอง เพราะถ้ายังย่ำอยู่กับที่แล้วเกิดตกชั้นไปอยู่ ดิวิชัน 1 ขึ้นมา ผมคิดว่าทีมนั้นจะต้องสูญเสียรายได้ไปกว่า 15 ล้านบาทและอาจทำให้ล้มละลายได้เลยทีเดียว”
ด้าน นายอรรณพ สิงห์โตทอง รองประธาน ชลบุรี เอฟซี ชี้ว่าเรื่อง “คลับ ไลเซนซิง” เป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำเป็นอันดับแรก เพราะต้องใช้สิ่งนี้เป็นมาตรฐานของเงินสนับสนุน “การพิจารณาของ เอเอฟซี จะมี 11 ข้อ ดังนั้นเราต้องมาประชุมดูว่าแต่ละทีมบกพร่องในส่วนไหนและช่วยกันแก้ ไม่ใช่ปล่อยให้ทำกันแบบตามมีตามเกิด ทีมใหญ่จะคอยเป็นพี่เลี้ยงและให้กับทีมเล็ก เช่น ชลบุรี เองก็ยังต้องศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการเงินจาก บุรีรัมย์ และ เอสซีจี เมืองทองฯ ที่ได้คะแนนส่วนนี้มากกว่า และค่อยๆปรับตัวไปทีละขั้น เมื่อนั้นคะแนนก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ”
“สิ่งที่ สมาคมฟุตบอลฯ กับ ทีพีแอล ต้องเร่งทำคือเรื่องของ คลับ ไลเซนซิง ก่อนหน้านี้เราไม่มี ทำให้ปีที่แล้วภาพรวมของเราจึงตกไปกว่า 300 คะแนน ซึ่งประเทศอื่นที่มีการทำคลับ ไลเซนซิง ส่วนใหญ่ได้ถึง 900 กว่าคะแนน และถึงแม้ครั้งนี้เท่าที่ผมทราบมาว่าจะใช้ในสัดส่วนแค่ 60-80 คะแนน แต่ถ้าไม่มีก็จะเสียคะแนนไปฟรีๆ อีก ดังนั้นทั้งสองหน่วยงานจึงต้องเข้มงวดกับทุกสโมสร ที่สำคัญเราควรนำเรื่องนี้มาเป็นเกณฑ์ชี้วัด เช่น หากทีมไหนทำคะแนนผ่านหมดทุกข้อก็รับเงินไปเลยเต็มๆ แต่ถ้าทีมไหนยังทำได้ไม่ครบก็ลดหย่อนเงินสนับสนุนกันไปเพื่อที่จะได้เป็นการสร้างมาตรฐาน เมื่อนั้นทุกสโมสรจะต้องเร่งปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง” เดอะ เซนต์ แนะนำ
ขณะที่ทีมระดับล่างอย่าง สมุทรสงคราม เอฟซี นายสมชาย ตันประเสริฐ ประธานสโมสรกล่าวว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้ถึงเกณฑ์ที่ เอเอฟซี กำหนด “สำหรับเรานอกจากเรื่องเงินสปอนเซอร์แล้ว เราเป็นรองทีมอื่นอย่างเดียวคือเรื่องสนาม เพราะสนามที่ใช้เป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้โดยตรง จะให้ผมไปสร้างเองก็คงไม่มีงบ ซึ่งถ้าวัดกันเรื่องจำนวนคนดู ผมพูดได้ว่าก็ไม่เป็นรองหลายทีมในระดับต้นๆ ของตาราง แต่จะให้มีค่าเฉลี่ย 5,000 คนต่อนัดนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะทีมอย่าง บีอีซี เทโรศาสน หรือ อินทรีเพื่อนตำรวจ ยังทำได้ยากเลย ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นเราก็พร้อมทุกด้านทั้งการบริหารทีมหรือประชาสัมพันธ์ และยิ่งได้งบ 20 ล้านบาทในปีหน้าด้วยคงช่วยได้อีกเยอะ ดังนั้น สมาคมฟุตบอลฯหรือทีพีแอลควรจะต้องเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง เข้ามาช่วยเจราจาข้อจำกัดของแต่ละทีมกับทางการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือภาครัฐ แต่จะให้ใช้มาตรฐานของเอเอฟซีเป็นเกณฑ์การรับเงินนั้นผมก็คงไม่ยอมเพราะจะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ”
ส่วน ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ ลีก จำกัด หรือ “ทีพีแอล” ได้กล่าวว่าเรื่องที่ร่ายเรียงมานั้นทำได้ยาก เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องใช้คือ “เงิน” โดยยกตัวอย่างที่ทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เคยประกาศจะใช้เกณฑ์ คลับ ไลเซนซิง เป็นตัวกำหนดเงินงบประมาณที่จะมีให้ในส่วนของลีกภูมิภาค (ดิวิชัน 2) จนทำให้หลายสโมสรออกมาคัดค้าน “เรื่องนี้จะว่าทำง่ายก็ง่าย แต่มีเงินหรือไม่ ถ้าผมเป็นสโมสรมีเงินมาให้มากๆ ก็ทำได้ แต่ถ้าจะให้กำหนดกฎเกณฑ์แล้วไปลดเงินก็คงไม่มีใครยอม ดูอย่าง ดิวิชัน 2 เป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้คนทำทีมแต่ละคนบิ๊กๆ ทั้งนั้นแล้วจะทำอะไรได้ ผมยอมรับเลยว่าการเมืองมีส่วนเข้ามาเกี่ยวของสูง”
ทั้งนี้โควตาฟุตบอลถ้วยสโมสรเอเชีย ที่ทาง เอเอฟซี จะประกาศวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ จะครอบคลุมไปถึงฤดูกาล 2014-2015 ดังนั้นช่วงเวลาที่มีการเว้นวรรคหลังจากนี้ ทีพีแอล ควรจะเรียกให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาคุยและวางแผนร่วมกันเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะได้ให้ทุกสโมสรพัฒนาไปพร้อมกัน