3 ใน 5 ของคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือรายงานสรุปผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พร้อมชี้แจงเหตุผลที่ไม่รับรองต่อทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ด้าน นายชนินทร์ แก่นหิรัญ 1 ในคณะกรรมการจี้ถามหาหลักฐานที่ “บังยี” วรวีร์ มะกูดี ผู้ได้รับชัยชนะอ้างว่าได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนลงคะแนนนั้นว่ามีจริงหรือเปล่า
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการจัดการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย 3 ใน 5 ราย ประกอบด้วย พล.ต.ต.พิสุทธิ์ พุ่มพิเชฏฐ์ ในฐานะประธาน พร้อมด้วย นายชนินทร์ แก่นหิรัญ และ นายธนา ธรรมวิหาร ได้เดินทางเข้ายื่นเอกสารสรุปรายงานการเลือกตั้งที่แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2556 พร้อมชี้แจงถึงเหตุผลที่คณะกรรมการเสียงข้างมากไม่รับรองผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นต่อการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) แม้ว่า นายวรีวร์ มะกูดี จะได้รับคะแนนเสียงมากกว่า นายวิรัช ชาญพานิชย์ 42-28 คะแนนก็ตาม
โดย นายชนินทร์ กล่าวถึงเหตุผลการไม่รับรองที่ได้แจงต่อ กกท.ว่าเป็นเพราะ 1.พบว่าการวินิจฉัยของคณะอุทธรณ์นั้นขัดต่อข้อบังคับ ซึ่งในฐานะที่ กกต.บอลเป็นผู้มีสิทธิ์จัดการเลือกตั้งจึงมีสิทธิ์ที่จะไม่รับรองได้ 2.พบว่ามีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนร้องเรียนว่าตนเองถูกสวมสิทธิ์ และ 3.พบว่ามีสภากรรมการของสมาคมฯเป็นตัวแทนสโมสรสมาชิกมาลงคะแนน ซึ่งเป็นการขัดต่อข้อบังคับเนื่องจากไม่สามารถทำได้
พร้อมกันนี้ นายชนินทร์ ยังยืนยันว่าทางคณะกรรมการมีสิทธิ์ที่จะไม่รับรองผลการเลือกตั้ง แม้ว่า “บังยี” จะออกมาแย้งว่าไม่มีสิทธิ์ก็ตาม “ตามข้อบังคับ กกต.บอลมีหน้าที่สุดท้ายคือประกาศผลการเลือกตั้ง และบันทึกลงนามเพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง กกท.เพราะฉะนั้นเมื่อตรวจพบว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นคณะกรรมการเสียงข้างมากจึงมีสิทธิ์ที่จะไม่รับรองได้ และเรื่องนี้ผมได้หารือกับฟีฟาแล้วว่าจะไม่รับรองหากมีการขัดต่อข้อบังคับจริง ซึ่งฟีฟาเองก็ไม่ได้ว่าอะไรและปล่อยให้เป็นปัญหาในประเทศที่ต้องจัดการเอง”
“ส่วนกรณีที่ วรวีร์ อ้างว่าตัวเองและสภากรรมการได้ลาออกจากตำแหน่งก่อนการเลือกตั้งแล้วนั้น ผมอยากจะรู้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า เพราะการลาออกของนายกสมาคมฯคงไม่ใช่เรื่องเงียบๆ ต้องมีการแถลง หรือรายงานต่อ กกท.อย่างเป็นทางการ ซึ่งในคืนวันที่ 16 ต.ค.ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่ชั่วโมง นายองอาจ ก่อสินค้า ยังเซ็นรับรองแต่งตั้งคณะอุทธรณ์ชุดใหม่อยู่เลย และอย่างนี้ถ้าลาออกในวันที่ 17 ต.ค.ก็ควรจะต้องมีหนังสือถึง กกท.ในวันนั้น”
ขณะที่ นายวิรัช ได้กล่าวโต้กรณีที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ทีมงานฝั่งตนที่เป็นประธานสโมสรอุทัยธานี แต่กลับมาลงคะแนนในฐานะตัวแทนสโมสรปากน้ำโพ เอ็นเอสอาร์ยู นั้นไม่มีสิ่งใดผิดปกติ เพราะ นายชาดา เป็นที่ปรึกษาของสโมสรปากน้ำโพฯจริงและมีการจดทะเบียนชัดเจนไม่เหมือนกับหลายๆ คนของฝั่งนายวรวีร์ที่ไม่เกี่ยวพันกับสโมสรนั้นๆเลยแต่กลับมีชื่อเป็นตัวแทนมาใช้สิทธิ์
ด้าน นายณฐพล ปัญญาคณานุกูล ประธานสโมสรพัทยา เอฟซี เป็นตัวแทน 7 สโมสร ประกอบไปด้วย พัทยา เอฟซี, พัทยา ยูไนเต็ด, ศรีราชา, ชลบุรี, สโมสรกีฬา จ.ระยอง, ม.เกษมบัณฑิต, ม.เกษตรศาสตร์ เดินทางมายื่นคัดค้านผลการเลือกตั้งเช่นกัน พร้อมเผยว่ามีอีกหลายทีมกำลังดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง และเรียกร้องค่าเสียหายทีมละ 50 ล้านบาท โดยมีจำเลย 2 ราย คือ สมาคมฟุตบอลฯ กับ ผู้ที่มาสวมสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียง