ASTV ผู้จัดการรายวัน – ศึกเทนนิสระดับ เอทีพี ทัวร์ รายการ “ไทยแลนด์ โอเพน 2013” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 11 ติดต่อกันรูดม่านปิดฉากไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 ตำแหน่งแชมป์เป็นของ มิลอส ราโอนิค มือ 11 ของโลกจากแคนาดา ด้วยฟอร์มยอดเยี่ยมเสิร์ฟเอซ 18 ครั้งเอาชนะ โทมัส เบอร์ดิช มือ 6 ของโลกจากเช็ก 2-0 เซต 7-6 (7/4), 6-3 รับเงินรางวัลเข้ากระเป๋าไป 102,450 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านบาท) ถือเป็นปีที่กร่อยสนิท เพราะขาดมือระดับท็อปโฟร์ของโลกร่วมดวลแร็กเกต ขณะที่หวดเจ้าถิ่นเรียกได้ว่าสูญพันธุ์ เนื่องจากขาดช่วงมานานและไม่มีตัวตายตัวแทนขึ้นมาสืบความยิ่งใหญ่ต่อจากรุ่นพี่
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความสำเร็จของ “ซูเปอร์บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ ชาวไทยที่เคยขึ้นถึงมือ 9 ของโลก กวาดแชมป์ระดับ เอทีพี ทัวร์ 5 รายการ จุดกระแสให้วงการเทนนิสไทยทะยานถึงขีดสุด เมื่อบรรดาลูกเด็กเล็กแดงต่างหันมาจับแร็กเกตกันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกันยังเป็นต้นกำเนิดของรายการ ไทยแลนด์ โอเพน ซึ่งถือเป็นทัวร์นาเมนต์สำคัญเปิดโอกาสให้เหล่านักหวดไทยสร้างชื่อขึ้นมาเป็นความหวังต่อไปของวงการ เช่น “เจ้าปิ๊ก” ดนัย อุดมโชค, “ฝาแฝด” สนฉัตร-สรรค์ชัย รติวัฒน์ หรือ “เจ้าพ้ง” กิตติพงษ์ วชิรมโนวงศ์
ทว่าหลังสิ้นสุดยุคของ ภราดร รวมถึง ดนัย ที่เปรยว่ากำลังมองถึงการแขวนแร็กเกตภายใน 1-2 ปีข้างหน้า กลับไม่มีนักหวดดาวรุ่งชายก้าวขึ้นมาสานต่อความสำเร็จ แม้หลายปีที่ผ่านมาจะมีนักกีฬาระดับเยาวชนตบเท้าออกไปลงแข่งตามทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ทั้งไทยและเทศมากขึ้น แต่กลับไม่สามารถยกระดับขึ้นมาได้ โดยเฉพาะ ไทยแลนด์ โอเพน หนล่าสุดที่เพิ่งรูดม่านไม่มีหวดไทยตีตั๋วเข้าเมนดรอว์ประเภทเดี่ยวแม้แต่คนเดียว ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือทุกคนตกรอบควอลิฟายตั้งแต่ไก่โห่ ขณะที่ “จูเนียร์” วิชยา ตรงเจริญชัยกุล ที่ได้สิทธิ์ไวลด์การ์ดของทางเจ้าภาพ ก็ไปไม่ถึงดวงดาวจอดป้ายแค่รอบแรกเช่นกัน
จากสิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นว่าวงการเทนนิสไทยชั่วโมงนี้โดยเฉพาะฝ่ายชายกำลังเข้าสู่ช่วงสุญญากาศอย่างแท้จริง เพราะมองไม่เห็นวี่แววว่าจะมีนักหวดคนใดก้าวขึ้นมาเป็นฮีโร่คนใหม่แทนที่ของ “ซูเปอร์บอล” หรือ “เจ้าปิ๊ก” แม้แต่คนเดียว ซึ่ง อ.เสถียร มนต์คงธรรม ผู้บรรยายกีฬาเทนนิสชื่อดังและคร่ำหวอดอยู่ในวงการนี้มายาวนาน ให้ความเห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการแจ้งเกิดของนักหวดลูกสักหลาดไทยในยุคปัจจุบัน
อ.เสถียร เปิดเผยว่า “ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเทนนิส เป็นกีฬาสากลที่เล่นกันทั่วโลก การที่เด็กไทยจะก้าวขึ้นมาอยู่ในระดับอาชีพ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ขณะเดียวกันดาวรุ่งต่างประเทศมีโอกาสพัฒนาตัวเองได้สูง เนื่องจากคลุกคลีกับผู้เล่นและโค้ชฝีมือดีมากมาย ส่วนบ้านเรามองไปทางใดก็เจอแต่เพื่อนฝูง รวมถึงผู้ปกครองเองก็อยากให้ลูกๆ เรียนหนังสือมากกว่า แม้ความจริงแล้วเด็กบ้านเราฝีมือไม่เป็นรอง โดยเฉพาะระดับเอเชียที่มีหลายคนตบเท้าออกไปคว้าแชมป์ แต่ด้วยทักษะและประสบการณ์ที่ห่างจากชาวต่างชาติ ดังนั้นเมื่อถึงเวลาลงแข่งรายการระดับโลกจึงไม่ประสบความสำเร็จ”
“อีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือบริษัทเอกชนที่มักจะเข้ามาให้การสนับสนุนแต่นักกีฬาที่มีชื่อเสียง มองข้ามนักกีฬาระดับเยาวชนที่ต้องมีการผลักดันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมมองว่าหากสปอนเซอร์หันมาให้ความสำคัญกับนักกีฬาตั้งแต่เด็กๆ รวมถึงได้โค้ชฝีมือดีมาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดแบบคลุกคลีอยู่ด้วยกันเลยยิ่งดี ก็จะช่วยสร้างรากฐานสำคัญให้กับวงการเทนนิสไทยได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้เชื่อว่าเราคงได้เห็นนักกีฬารุ่นใหม่ขึ้นมาสืบทอดความสำเร็จของรุ่นพี่ในอนาคตอันใกล้” ผู้บรรยายกีฬาคนดัง กล่าว
ส่วน ดนัย อุดมโชค วัย 32 ปี ที่รั้งตำแหน่งมือสูงสุดของไทย และมีโอกาสคลุกคลีกับนักหวดเยาวชน มองว่าหวดรุ่นใหม่ยังขาดประสบการณ์ รวมถึงระเบียบวินัยที่แตกต่างจากนักกีฬารุ่นก่อน “ผมคิดว่าเด็กยุคใหม่น่าจะทำผลงานได้ดีกว่านี้ เพราะปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ช่วยอำนวยสะดวกให้ เช่น เรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาที่สามารถประเมินสภาพร่างกายและการซ้อมแต่ละวันได้ หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาช่วยให้เล่นได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่มีใครก้าวขึ้นเป็นความหวัง”
ดนัย กล่าวต่อ “ผมคิดว่าเด็กของเรายังรับมือกับสถานการณ์กดดันในสนามไม่ได้ เมื่อเจอคู่ต่อสู้โจมตีใส่ก็ตื่นเต้นจนทำอะไรไม่ถูก แก้เกมเองไม่เป็นต้องรอให้โค้ชเป็นคนสอนทุกอย่าง ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะความจริงแล้วเด็กทุกคนควรคิดเองบ้าง ขณะเดียวกันเท่าที่สังเกตก็พบว่าหลายคนติดสบายมากเกินไป มีพ่อ-แม่-โค้ช คอยดูแลใกล้ชิดจนหลายครั้งไม่จริงจังกับการฝึกซ้อมเท่าที่ควร ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย”
แม้อนาคตวงการเทนนิสไทยฝ่ายชายกำลังเข้าสู่ช่วงตกต่ำ แต่ “เจ้าปิ๊ก” ยังเชื่อมั่นว่าอนาคตจะต้องมีฮีโร่คนใหม่ขึ้นมากอบกู้วิกฤตนี้ “ส่วนตัวผมคิดว่ายังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะเท่าที่ได้ติดตามพบว่ามีน้องๆ หลายคนที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นมือ 1 ของประเทศได้ เช่น วิชยา ตรงเจริญชัยกุล หรือ ปรัชญา อิสโร แม้ยังมีจุดบกพร่องมากมายที่ต้องแก้ไข แต่หากได้โอกาสขัดเกลาฝีมือเชื่อว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นความหวังสำคัญของวงการในอีกหลายปีข้างหน้า”