xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของจังหวะ / วันปีย์ สัจจมาร์ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “The Golf Touch” โดย “วันปีย์ สัจจมาร์ค”

คำว่าจังหวะในภาษาไทยเมื่อใช้กับกอล์ฟบางครั้งถูกนำมาใช้แทนภาษาอังกฤษในศัพท์ของกอล์ฟสองคำ คำที่หนึ่งคือ Tempo คำที่สองคือ Timing แปลเป็นไทยแล้วแปลได้ว่าจังหวะทั้งคู่ ซึ่งก็ไม่ผิดแต่ Tempo กับ Timing ในหลักการของการสวิงกอล์ฟแล้วไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง Tempo คือจังหวะที่มีแค่ช้าหรือเร็ว ในขณะที่ Timing จริงๆ แล้วเป็นลำดับของการปฏิบัติของร่างกายของการสวิงที่มีถูกและมีผิด มีการเรียงหนึ่งก่อนสอง สองก่อนสาม แล้วสามก่อนสี่ วันนี้ผมอยากจะคุยในเรื่องของคำว่า Tempo ซึ่งจำกัดความหมายเพียงแค่ช้าหรือเร็วเท่านั้น และแน่นอนในวงสวิงกอล์ฟที่เราเห็นโปรระดับโลกเล่นกันหลายคนมี Tempo หรือว่ามีจังหวะความเร็วของสวิงที่แตกต่างกัน บ่งบอกให้เห็นชัดเจนว่าเราสามารถตีดีได้ ทั้งจังหวะที่เร็วและจังหวะที่ช้า

อยากจะย้ำอีกครั้งนะครับว่า จังหวะ ถ้าอยู่ตรงกลางที่เรียกกันว่า จังหวะดี หรือว่าดูราบรื่นนั้น แน่นอนเป็นสิ่งที่นักกอล์ฟส่วนมากปรารถนา แต่ถึงแม้จะโอนเอนไปฝั่งที่เราเรียกว่าค่อนข้างเร็ว หรืออีกฝั่งหนึ่งที่เรียกกันว่าค่อนข้างช้า ก็ไม่ผิด สามารถจะสวิงได้ทั้งสองแบบ สิ่งที่อยากจะต้องปรับเปลี่ยนในเรื่องของจังหวะเกิดขึ้นเมื่อเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ถ้าว่ากันตามจริงมันแล้วก็ไม่ผิดอยู่ดี เพียงแต่ว่าเร็วเกินไปกับช้าเกินไป มีข้อผิดพลาดในผลงานที่เราน่าจะเลี่ยงได้และทำได้ดีกว่านั้น เร็วเกินไปมักจะทำให้เรา impact ลูกไม่สม่ำเสมอ เสียทั้งระยะ เสียทั้งทิศทาง ช้าเกินไปอาจจะ impact ได้ดี แต่ความเร็วไม่พอ ระยะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น สมควรแก่การพัฒนา ดังนั้นถ้าจะพูดว่าจังหวะไม่มีว่าผิด ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็คงพูดได้ แต่ละคนจำเป็นต้องหาจังหวะของตัวเองให้เจอก็เท่านั้นเอง หมายความว่าอย่างไร และจะหาอย่างไร ลองนึกถึงธรรมชาติของคนเราที่ทำหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน ที่ไม่พร้อมกันดูสิครับ เช่นเราเดินกับเพื่อนคนหนึ่ง คนข้างๆ เราเป็นคนถนัดเดินเร็ว ในขณะที่เราเป็นคนที่เดินจังหวะธรรมดา ถ้าเทียบกับเพื่อนคนที่สามเราอาจจะเป็นคนเดินเร็วเมื่อเทียบกับเขาด้วยซ้ำไป ดังนั้นเรามีคนเดินเร็ว เดินปานกลาง กับเดินช้า มาเดินด้วยกันอยู่สามคน ไม่ว่าคนใดคนหนึ่งก็ตามจะต้องปรับให้เร็วขึ้นหรือช้าลง จะรู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ จะรู้สึกผิดปกติ จะรู้สึกเกร็ง และจะล้ากว่าวิธีปกติที่ตัวเองปฏิบัติเสมอ ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูสิครับ สำหรับคนเดินเร็ว เวลาไปเดินห้างครั้งต่อไปลองเดินให้ช้าลง จะพบว่าทำไม่ค่อยได้ จะกลายเป็นว่าเดินความเร็วเดิม แต่ไปหยุดรอเสียมากกว่า ในขณะที่คนที่เดินช้าเป็นนิสัย พอให้เร่งเดินเร็วไปเรื่อยๆ จะเดินได้ไม่นานเท่า จะเหนื่อยก่อน จะหมดแรงก่อน จะเมื่อยก่อน ดังนั้นการเดินแต่ละคนก็มีจังหวะธรรมชาติของตัวเองที่ถนัดที่สุด

วงสวิงกอล์ฟก็มีจังหวะเช่นนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นพี่น้องกัน เป็นเพื่อนกัน หัดกอล์ฟมาด้วยครูคนเดียวกัน แต่จังหวะโดยธรรมชาติของเราอาจจะเร็วไม่เท่ากัน ดังนั้นการลองผิดลองถูก หาความเหมาะสมที่สุดที่เราสวิงได้ราบรื่นที่สุด ได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุด และทำได้ทั้งวัน ไม่เหนื่อยจนเกินไป น่าจะเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเล่นกอล์ฟของตัวเรา
บนลงล่าง ล่างขึ้นบน / วันปีย์ สัจจมาร์ค
วงสวิงอันทรงพลังเหมือนกับที่บรรดาทัวร์ริ่งโปรทั้งหลายแสดงให้เราเห็นในจอโทรทัศน์เป็นแม่แบบที่ดีในการทำตามของนักกอล์ฟทั่วไป ปัจจัยสำคัญในวงสวิงเหล่านี้ก็คือการใช้เกลียวลำตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อได้ยินคำว่าเกลียวผมเชื่อว่าหลายคนพอจะนึกภาพออก เพราะคำว่าเกลียวมีให้เราสัมผัสได้ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไปด้วยเช่นกัน เมื่อมีคำว่าเกลียวก็น่าจะมีการบิดหรือหมุนมาเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน ปกติแล้วการบิดเกลียวจะทำให้แน่นหรือตึง และการคลายเกลียวเป็นการคลายความตึงที่เคยสร้างไว้ หลักการนี้ใช้กับการเล่นกอล์ฟได้ด้วยเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น