xs
xsm
sm
md
lg

เล่นกอล์ฟกันไว้…ห่างไกลสมองเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“นัดวันกันแล้วก็ลืม! หนี้ค้างก็ลืมจ่าย!! สงสัยเฮียแกจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ซะแล้ว”

“ไม่หรอก! เฮียแกจำเบอร์แคดดี้ของแกแม่นจะตาย ไอ้เรายังลืมเลย แกคงเป็นโรคขี้ลืมน่ะ ยังไม่ถึงกับสมองเสื่อมอัลไซเมอร์หรอก เมื่อวานแกยังทวงเงินค่ากองกลางอยู่เล้ย!!”

นักกอล์ฟอาจสงสัยว่า มันต่างกันอย่างไร? ระหว่างอาการขี้ลืม (เพราะความชรา) กับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์… เรามีข้อมูลมาให้ศึกษาเปรียบเทียบกันดังนี้ครับ

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เกิดจากอนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์สมอง ซึ่งส่งผลให้เกิดการสะสมของโปรตีน จับกันเป็นก้อนในเนื้อสมอง ทำให้เซลล์สมองไม่สามารถ รับ-ส่ง กระแสประสาทได้ดีดังเดิม เกิดความบกพร่องในหน้าที่ของสมองส่วนต่างๆ แสดงออกเป็นกลุ่มอาการในเรื่องความจำบกพร่อง สติปัญญาและความสามารถลดลง การตัดสินใจไม่เหมาะสม มีปัญหาทางบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง อารมณ์ผิดปกติ พฤติกรรมบกพร่อง การเคลื่อนไหวผิดปกติ จนถึงอาการของโรคจิต ที่มีประสาทหลอน หลงผิดได้ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นเพราะอายุมาก ความจริงแล้วมีข้อแตกต่างที่พึงสังเกตุได้คือ

1.อาการลืม ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน คนทั่วๆไปอาจมีอาการลืมการนัดหมาย ลืมชื่อเพื่อน ลืมโทรศัพท์ไว้ในรถ ได้บ้างเป๊นบางครั้ง แต่จะนึกได้ในภายหลัง แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะลืมบ่อยกว่า และฟิ้นความจำไม่ได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ

2.ทำกิจกรรมที่เคยทำมาไม่ได้ เช่น อุ่นอาหารไว้แล้วทิ้งเลย แต่งตัวเองไม่ได้ ขับรถไม่ได้

3.มีปัญหาในการใช้ภาษา ผู้ป่วยจะลืมคำง่ายๆ และใช้คำที่ไม่เหมาะสมแทน ทำให้คนอื่นเข้าใจลำบาก

4.ไม่รู้เวลาและสถานที่ ผู้ป่วยจะจำถนนหนทางที่เคยใช้เป็นประจำไม่ได้ และไม่รู้ว่ามาได้อย่างไร และจะกลับบ้านอย่างไร

5.การตัดสินใจแย่ลง ทำให้มีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากคนธรรมดา เช่น ฝนตกก็เดินไม่กางร่ม อากาศร้อนก็กลับใส่เสื้อกันหนาว

6.วางของผิดที่ เช่น วางกุญแจในตู้เย็น วางรองเท้าไว้บนเตียง เป็นต้น

7.อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น โกรธง่าย กลัวอย่างไม่มีเหตุผล อยู่ดีๆก็ร้องไห้

8.มีปัญหาในการคิด คนทั่วไปบางคนอาจคิดเลขไม่ออก แต่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะไม่รู้ว่าตัวเลขคืออะไร เอาไว้ทำอะไร หรือไม่รู้ว่าวันเกิดคือวันอะไร

ยังมีต่อนะครับ เอาไว้ตอนหน้าเราจะบอกนักกอล์ฟอาวุโสถึงเรื่องการป้องกัน และเทคนิคการดูแลสมองง่ายๆ อย่าลืมติดตามนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น