xs
xsm
sm
md
lg

กรมจิต เผยเด็กสมาธิสั้นโอกาสกลายเป็นคนก้าวร้าวสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมสุขภาพจิตเผย เด็กสมาธิสั้นมีโอกาสพัฒนาไปสู่ความก้าวร้าว หลังอายุ 16 มีแนวโน้มเกเร ต่อต้านสังคมมากกว่าเด็กปกติ 3.5-4 เท่า สอดคล้องผลวิจัยเด็กในสถานพินิจ พบเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 28% เป็นควบภาวะเกเร ก้าวราวมากถึง 82%

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้นส่งผลต่อความรุนแรงและปัญหาในเด็กและเยาวชน ซึ่งหากให้ความสนใจและรักษาก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ โดยโรคสมาธิสั้น (Attention-Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) เป็นภาวะบกพร่องในการทำหน้าที่ของสมองทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรม 3 ด้าน คือ 1.ขาดสมาธิต่อเนื่อง 2.ซนมากกว่าปกติไม่นิ่ง 3.ขาดการยั้งคิด หุนหันพลันแล่น ซึ่งจะเกิด 2 สถานการณ์ขึ้นไป ทำให้มีปัญหาต่อการเรียน เข้าสังคม จะเริ่มแสดงอาการตั้งแต่เด็กก่อน 7 ขวบจนต่อเนื่องเข้าวัยผู้ใหญ่ สมาธิสั้นจึงถือเป็นโรคทางจิตเวช ร้อยละ 5 ของเด็กอายุ 8-11 ปี และร้อยละ 5-10 ของเด็กวัยเรียน โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง 4-6 เท่า ซึ่งสาเหตุของโรคมีหลายปัจจัยทั้งความผิดปกติของยีน และปัจจัยสิ่งแวดล้อม เช่น สารตะกั่ว การสูบบุหรี่ของมารดาขณะตั้งครรภ์ ความผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด เป็นต้น
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า จากการวิจัยในกลุ่มเด็กที่ต้องคดีในสถานพินิจกรุงเทพมหานคร อายุ 11-18 ปี พบว่ามีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอย่างเดียว ร้อยละ 28 และเป็นโรคสมาธิสั้นร่วมกับภาวะเกเร ก้าวร้าว ถึงร้อยละ 82 สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศว่า เด็กที่มีโรคสมาธิสั้นจะพัฒนาไปสู่ความก้าวร้าวรุนแรง และเมื่อหลังอายุ 16 ก็มีแนวโน้มเกเร ต่อต้านสังคมมากกว่าเด็กปกติ 3.5-4 เท่า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้หากได้รับการรักษา เด็ก 10 คนมีโอกาสปกติได้ 8 คน แต่พบว่า ผู้ใหญ่มักไม่เข้าใจ ว่าความก้าวร้าวรุนแรงเกิดจากโรคสมาธิสั้น จึงมักโดนลงโทษ ซึ่งพบว่าจะยิ่งทำให้มีอาการซึมเศร้า พฤติกรรมทำร้ายตนเอง ติดสุรา เมื่อโตขึ้นจะมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อคนอื่น เช่น การทุบตี ทำร้ายคู่สมรสของตนเอง มักนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว

“การแก้ปัญหาเด็กสมาธิสั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยกรมสุขภาพจิตอยู่ระหว่างนำตัวเลขปัญหาไปสู่นโยบายคัดกรองเด็กและให้เด็กที่เกิดปัญหาเข้าถึงการรักษาได้ โดยในปีนี้จะดำเนินโครงการนำร่อง โดยจับคู่โรงเรียนกับโรงพยาบาล เพื่อคัดกรองเด็กและทดสอบกลไกแก้ปัญหา ก่อนดำเนินโครงการเต็มรูปแบบในปี 2557 ซึ่งจะมีการพัฒนาคลินิกในการดูแลเด็กสมาธิสั้นด้วย ถือเป็นการสร้างคุณภาพเด็กและแก้ปัญหาสังคม ซึ่งผู้ปกครอง ครู สังคมต้องเร่งทำความเข้าใจร่วมกัน” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น