ASTV ผู้จัดการรายวัน - สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เตรียมเปิดประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ครั้งใหม่ (ปี 2014 - 2016) ช่วงประมาณกลางเดือนมีนาคมนี้ คาดว่ามีผลประโยชน์เข้ามาถึงปีละ 600 ล้านบาท โดยเจ้าของลิขสิทธิ์เดิมอย่าง ทรูวิชั่นส์ ถือสัญญาเป็นฤดูกาลสุดท้ายในปี 2013 แต่ดูเหมือนมีหลายกลุ่มพร้อมลงชิงชัย โดยเฉพาะ “ซีทีเอช” (CTH) เป็นผู้ท้าชิงรายสำคัญที่พร้อมฉกอีกหนึ่งคอนเทนต์กีฬาสุดฮอต หลังสร้างความฮือฮาทุ่มงบกว่า 1 หมื่นล้านบาท คว้าลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่งเป็นเงินที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 432 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการประมูลไทยลีกครั้งนี้ถือว่าเข้มข้มแน่นอน คาดว่าลิขสิทธิ์อาจดีดจากกว่า 200 ล้านบาท ขึ้นไปจากเดิม
ซีทีเอช - บริษัทเคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH ประกาศตัวเป็นผู้ท้าชิงรายแรก หลังสั่นสะเทือนวงการด้วยการทุ่มงบกว่า 202 ล้านปอนด์ (ประมาณ 10,100 ล้านบาท) ตัดหน้าคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่งถือเป็นลีกที่ชาวไทยให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 เป็นเวลา 3 ฤดูกาล (ปี 2013-2016) โดยพร้อมเดินแผนต่อไปคือการรวบคอนเทนต์อันดับ 2 ที่คอกีฬาสนใจอย่าง ไทยพรีเมียร์ลีก มาไว้ในมือ จำนวนเงินที่อาจพุ่งสูงเกินหลายเท่าตัวจากของเดิมที่คาดไว้ คงไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากมีกลุ่มทุนกระเป๋าหนักผนึกกำลังกันนำโดย วิชัย ทองแตง นักธุรกิจเศรษฐีหุ้นอันดับ 4 ของประเทศไทย เจ้าของฉายาพ่อมดตลาดหุ้น และวัชร วัชรพล ทายาทหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รวมถึงพันธมิตรอย่าง ช่อง 7 ที่มีข่าวว่าพร้อมหนุน ทำให้มีศักยภาพมากพอที่จะคว้าสิทธิ์มาครอง อีกทั้งจุดเด่นของ CTH คือการเป็น “เคเบิ้ลท้องถิ่น” ที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั่วประเทศ แต่จุดด้อยที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือจำนวนช่องที่มี และศักยภาพในการลงพื้นที่ถ่ายทอดสด แต่หาก CTH สามารถคว้าคอนเทนต์นี้มาได้ สามารถพูดได้เลยว่าจะทำให้ก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจรายใหม่แห่งวงการเคเบิ้ลทีวีบ้านเราได้เลย
ทรูวิชั่นส์ - ทรูวิชั่นส์ จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางในการรักษาคอนเทนต์หลักตัวนี้ไว้ในมือต่อไป หลังพลาดท่าเสียลิขสิทธิ์ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่เปรียบเสมือนโลโก้ประจำตัวให้กับ CTH ด้วยประสบการณ์ตลอด 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา จนถึงซีซันปัจจุบันที่กำลังจะเริ่ม (2011-2013) ทรูฯ ถือได้ว่ามีความพร้อมและลงตัวในทุกด้าน ศักยภาพในการถ่ายทอดสดที่ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด รวมถึงรายการเสริมเกี่ยวกับฟุตบอลไทยตามช่องต่างๆ ทำให้เป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการพิจารณาหากไม่นับในส่วนของเม็ดเงิน ที่เหลือก็ขึ้นอยู่ว่าจะกล้าทุ่มมากน้อยเพียงใด จากเดิมที่จ่ายเพียง 200 กว่าล้านบาท ตลอด 3 ปี (71.5 ล้านบาท ต่อปี) คราวนี้ค่าลิขสิทธิ์อาจพุ่งสูงเพิ่มอีกหลายเท่าตัว ทั้งนี้ ทรูวิชันส์ ถือว่ามีประสบการณ์มาแล้วคงไม่ปล่อยให้เสียสิ่งที่มีไปง่ายๆ
อาร์เอส - “เฮียฮ้อ” สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส หัวเรือใหญ่ มีนโยบายเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ลงทุนคว้า ลาลีกา สเปน อีกหนึ่งลีกยอดนิยมของโลกมาออกอากาศผ่านทางกล่องรับสัญญาณดาวเทียม “ซันบ็อกซ์” (SUNBOX) คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะลงชิงชัยในการแย่งคอนเทนต์กีฬาอันดับ 1 ของไทย อย่าง ไทยพรีเมียร์ลีก แต่ทั้งนี้สิ่งสำคัญนอกจากเรื่องของตัวเงิน คงต้อหาเหล่าพันธมิตรเข้ามาเสริมทัพด้วย
เวิลด์ สปอร์ต กรุ๊ป - วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แย้มว่าในการประมูลคราวนี้อาจมี บริษัท จากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ชื่อของ บริษัท เวิลด์ สปอร์ต กรุ๊ป ที่ทำการตลาดให้สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) เข้ามาอยู่ในข่าย เนื่องจากก่อนหน้านี้มีข่าวหลุดออกมาว่า สมาคมฟุตบอลฯเตรียมให้เข้ามาดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ ซึ่งบริษัทสัญชาติสิงคโปร์รายนี้ มีประสบการณ์มากมายในการดูแลเรื่องถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก และ เอเอฟซี คัพ
ด้าน ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานทีพีแอล ทิ้งท้ายถึงการประมูลครั้งนี้ว่า “ส่วนตัวคิดว่ามีหลายเจ้าต้องการที่จะเข้ามาร่วมประมูล คาดว่าจำนวนเงินจะสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัวแน่นอน ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่เราจะต้องพิจารณาก่อนนอกเหนือเรื่องเงิน คือศักยภาพในการบริหารหากสามารถได้ลิขสิทธิ์ไปครอบครอง เราต้องดูว่าเจ้าไหนมีความสามารถในการจัดการ ดูแล และถ่ายทอดสด ซึ่งถ้าคุณได้ไปแล้วแต่ไม่สามารถจัดการได้ทางเราก็จะมีมาตรการรองรับอยู่อย่างเช่นการปรับเงิน ส่วนในเรื่องบริษัทจากต่างประเทศนั้นผมคิดว่าไม่น่าจะมี เพราะต้องมีพันธมิตรและเครือข่ายหลายๆ ด้านในประเทศไทยถึงพร้อมที่จะเข้ามา”