xs
xsm
sm
md
lg

Champions League เอเชียกับยุโรป ต่างกันไม่กี่ร้อยเท่า / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ด้วยความที่ สหสมาคมฟุตบอลยุโรป หรือ ยูเอ็ฟฟ่า ดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์เอง เม็ดเงินที่หามาได้อย่างมหาศาลจากสินค้าและลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์ได้ถูกแบ่งปันให้สโมสรต่างๆอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง กฎเกณฑ์ต่างๆในเรื่องสิทธิประโยชน์ของแต่ละสโมสรก็ดูเป็นธรรม

ตามกฎของ ยูเอ็ฟฟ่า นั้น นอกจากยี่ห้อของชุดแข่งขันที่ปรากฏบนเสื้อของนักเตะของแต่ละสโมสรแล้ว แต่ละทีมยังมีสิทธิ์ติดโฆษณาได้อีก 1 ยี่ห้อ อันนี้เขาไม่ห้าม แม้ว่าผู้สนับสนุนของสโมสรดังกล่าวจะเป็นคู่แข่งกับผู้สนับสนุนของ ยูเอ็ฟฟ่า ก็ตาม และถ้าจะมีการโฆษณาให้การกุศล ยูเอ็ฟฟ่า ก็แถมให้อีกหนึ่งครับ

แต่ สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ไม่ได้ดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์เอง โยนไปให้ เวิร์ล สปอร์ต กรุ๊พ ( WSG ) รับเนื้อสันในไปทั้งก้อน หมอนี่เลยคิดผลิตกฎออกมาละเอียดยิบ ห้ามโน่นห้ามนี่ ค่อนข้างเอาเปรียบสโมสรที่เข้าร่วมแข่งขัน เงินที่ได้ก็โยนให้น้อยนิดเหลือเกิน

บนเสื้อแข่งของนักเตะของแต่ละทีมใน เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก นอกเหนือจากยี่ห้อเสื้อแล้ว ให้มีโฆษณาได้รายเดียว นอกจากนั้น ลูกพี่สั่งห้ามหมด กำหนดเขตรอบๆสนามแข่งขันในรัศมี 700 เมตร เป็นเขตต้องห้าม เรียกว่า Respect area หรือ Red zone ห้ามมีการโฆษณาหรือการจำหน่ายสินค้าอะไรทั้งสิ้น ขนาดเสื้อหรือสินค้าของสโมสรเอง ยังไม่ได้เลย เพราะมันไม่ใช่สปอนเซ่อร์ของเอ็ง ถือว่าเป็นสินค้ายี่ห้อขัดใจ อันนี้เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ก่อนแข่ง 48 ชั่วโมงครับ

อย่าง ไอ โมบาย ชื่อสนามของ ทีมบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ซึ่งคุณพ่อตั้งให้ตั้งแต่เกิด เอ็งก็ยังบังคับขืนใจให้เปลี่ยนเป็น บุรีรัมย์ สเตเดี้ยม ซะงั้น เจ้าหน้าที่ต้องเอาป้ายไปปิดทับ ไอ โมบาย

ร้านค้าซึ่งตั้งอยู่นอกสนามแท้ๆ แต่ดันอยู่ในรัศมีที่ว่า เขาก็ต้องหากระดาษมาปิดจนมิด ใครผ่านไปเห็นนึกว่า ปิดซ่อมหรือมีช่างกำลังทาสี หนักเข้าพลอยต้องปิดกิจการในวันแข่งให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย

ตัวเลขเงินรางวัลที่จัดให้แก่ทีมต่างๆตามผลงานนั้นก็สูงต่ำทิ้งกันไกล อย่างในฤดูกาล 2010-11 นั้น เพียงแค่ รอบ เพลย์-อ็อฟ ยูเอ็ฟฟ่า มีเงินให้ทีมละ 2.1 ล้าน ยูโร หรือประมาณ 84 ล้าน บาท ในขณะที่ เอเอ็ฟซี นั้น รอบคัดเลือกเล่นกันแบบตัวใครตัวมัน ลงทุนค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายกันเอง จะเริ่มมีเงินให้ก็ต้องเข้ารอบแบ่งกลุ่ม

ในรอบแบ่งกลุ่ม สำหรับฟุตบอลสโมสรยุโรปถ้วยใบใหญ่ พวกเขาก็รับเงินไปก่อนอีก 3.9 ล้าน ยูโร แล้วยังมีค่าลงเตะเฉยๆอีกนัดละ 550,000 ยูโร รวมเป็น 7.2 ล้าน ยูโร นั่นมัน 288 ล้าน บาท เชียวนะ และถ้าดันชนะในรอบนี้ก็ได้อีกนัดละ 800,000 ยูโร ( 32 ล้าน บาท ) เสมอได้ครึ่งเดียว และแพ้อด

หันมาดู เอเอ็ฟซี มีค่าสนับสนุนการเดินทางให้ คราวละ 3 หมื่น ยูเอส ดอลเล่อร์ส มันก็แค่ 9 แสน บาท แล้วจัดให้เฉพาะทีมเยือนเท่านั้น ในรอบนี้ ชนะได้แม็ทช์ละ 4 หมื่น ยูเอส ดอลเล่อร์ส ( 1.2 ล้าน บาท ) เสมอได้ครึ่งเดียว แพ้ไม่มีเงินครับ

พอหลุดเข้าไปใน รอบ 16 ทีม แข่งแบบ น็อค เอ๊าท์ เหย้า-เยือน ยูเอ็ฟฟ่ามีแจก 3 ล้าน ยูโร ( 120 ล้าน บาท ) เป็นขวัญถุง ไม่ว่าแข่งแพ้หรือชนะ แต่ทางทวีปเอเชีย เหมาจ่ายให้แค่ 5 หมื่น ยูเอส ดอลเล่อร์ส ( 1.5 ล้าน บาท ) และในนัดเยือนมีช่วยค่าเดินทางอีก 4 หมื่น ยูเอส ดอลเล่อร์ส

เมื่อเข้ารอบ 8 ทีม สโมสรยุโรปได้รับอีกทีมละ 3.3 ล้าน ยูโร ( 132 ล้าน บาท ) ในขณะที่ สโมสรเอเชียได้เศษเงินเป็นค่าร่วมการแข่งขัน 8 หมื่น ยูเอส ดอลเล่อร์ส ( 2.4 ล้าน บาท ) รวมกับค่าเดินทางอีก 5 หมื่น ยูเอส ดอลเล่อร์ส ( 1.5 ล้าน บาท )

เกิดโชคดีหลุดเข้าถึง รอบรองชนะเลิศ ยูเอ็ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ลมแทบใส่เลยครับ สโมสรได้รับอีก 4.2 ล้าน ยูโร ( 168 ล้าน บาท ) แต่ของเอเชีย เอเอ็ฟซี เหมาจ่ายเป็นค่าร่วมการแข่งขัน 120,000 ยูเอส ดอลเล่อร์ส ( 3.6 ล้าน บาท ) และช่วยค่า บ.ข.ส.อีก 6 หมื่น ยูเอส ดอลเล่อร์ส ( 1.8 ล้าน บาท )

การเป็นแช้มพ์ ของเขาคว้าเงินรางวัลก้อนใหญ่ 9 ล้าน ยูโร ( 360 ล้าน บาท ) ส่วนของเอเชียเรา นอกจากช่วยค่าเดินทาง 1.8 ล้าน บาท แล้ว แช้มพ์ ได้เพียง 1.5 ล้าน ยูเอส ดอลเล่อร์ส หรือ 45 ล้าน บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น