xs
xsm
sm
md
lg

FIFA World Ranking / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ความคิดเรื่องการจัดอันดับโลกนั้น เริ่มนำเข้าสู่ที่ประชุม ฟีฟ่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 1992 เพราะเขาเห็นว่า จะเป็นสิ่งที่ช่วยบ่งบอกระดับความเก่งของทีมชาติชุดใหญ่ของแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้สามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละทีมมีความแข็งแกร่งแค่ไหน และในเวลาต่อมา อันดับโลกดังกล่าวยังมีส่วนช่วยในการจัดทีมวางสำหรับการแข่งขันฟุตบอลรายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รอบคัดเลือก หรือ รอบสุดท้าย

การคิดคะแนนให้แต่ละทีมในยุคแรกๆนั้น ก็ใช้วิธีนำผลการแข่งขันมาเป็นเกณฑ์ ชนะ ได้ 3 คะแนน เสมอ ได้ 1 คะแนน และ แพ้ ไม่ได้คะแนน แต่พอถึงต้นปี 1999 ฟีฟ่า ตระหนักว่า มันมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้การจัดอันดับมีความยุติธรรมและใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด จึงตัดเรื่องคะแนนที่ได้จากผลการแข่งขันออกไป และใช้ระบบคะแนนเต็ม 10 โดยนำเอา จำนวนประตู ได้-เสีย การแข่งในฐานะ ทีมเหย้า-ทีมเยือน ระดับความสำคัญของแม็ทช์การแข่งขันนั้นๆ ความแข็งแกร่งของภูมิภาค เข้ามาคำนวณ ซึ่งแม้ทีมจะแพ้ก็ยังได้รับคะแนนด้วย

อย่างไรก็ตาม ฟีฟ่า เล่นคิดคะแนนรวมย้อนหลังกลับไปตั้ง 8 ปี ทำให้หลายคนส่งเสียงบ่นว่า อันดับโลกที่ประกาศออกมานั้น ยังไม่แม่นยำ ดังนั้น หลังจากจบ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 ฟีฟ่า จึงนำระบบการคิดคะแนนใหม่มาใช้ โดยคิดคะแนนรวมย้อนหลังเพียง 4 ปี และการแข่งขันในแต่ละนัดใช้คะแนน 100 เป็นฐาน นำมาคูณกับ ตัวคูณ 5 ตัว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ความแข็งแกร่งของแต่ละทีมได้ใกล้เคียงที่สุด

ตัวคูณตัวแรกคือ ผลการแข่งขัน ( Match result ) ชนะ 3 คะแนน ชนะด้วยการดวลจุดโทษ 2 คะแนน เสมอ 1 คะแนน แพ้ด้วยการดวลจุดโทษ 1 คะแนน และแพ้โดยไม่ได้ดวลจุดโทษ ไม่มีคะแนนให้

ตัวคูณที่สอง เป็นเรื่องความสำคัญของการแข่งขัน ( Match status ) นัดกระชับมิตร 1.0 ฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก หรือ ฟุตบอลชิงแช้มพ์ทวีป รอบคัดเลือก 2.5 ฟุตบอลชิงแช้มพ์ทวีป รอบสุดท้าย และ ฟุตบอล คอนเฟเดอเรเชิ่นส์ คัพ รอบสุดท้าย 3.0 และ ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 4.0

ตัวคูณที่สามคือ ความแข็งแกร่งของทีมคู่แข่ง ( Opponent strength ) เขาให้นำฐาน 200 ลบด้วย อันดับโลกของทีมคู่แข่ง แล้วนำมาหาร 100 ได้ผลออกมาเป็น ตัวคูณ แต่มีข้อยกเว้นว่า ทีมที่อยู่อันดับ 1 ของโลกนั้น ให้ใช้ ตัวคูณ 2.00 ไปเลย และทีมที่มีอันดับ 150 หรือห่วยกว่านั้น ให้ใช้ ตัวคูณ 0.50

ตัวคูณที่สี่คือ ความแข็งแกร่งของภูมิภาค ( Regional strength ) หลังจบ ฟุตบอลโลก 2010 ฟีฟ่า กำหนดค่าความแข็งแกร่งของแต่ละภูมิภาคใหม่ ดังนี้ โซนยุโรป ( UEFA ) และโซนอเมริกาใต้ ( CONMEBOL ) 1.00 โซนอเมริกาเหนือ กลาง และ แคริบเบียน ( CONCACAF ) 0.88 โซนเอเชีย ( AFC ) และ โซนอัฟริกา ( CAF ) 0.86 และโซนโอเชินเนีย ( OFC ) 0.85 เมื่อมีการแข่งขันก็ให้นำค่าความแข็งแกร่งของภูมิภาคของทั้ง 2 ทีมมาบวกกัน แล้วหาร 2 ก็จะได้ ตัวคูณ

ยังมีอีกตัวคูณหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องนะครับ เนื่องจาก ฟีฟ่า เก็บรวบผลการแข่งขันของแต่ละทีมย้อนกลับไป 4 ปี และเพื่อให้มีผลสะท้อนภาพได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงในปัจจุบันที่สุด ดังนั้น ฟีฟ่า จึงให้น้ำหนักในเรื่องช่วงเวลาที่ทำการแข่งขันตั้งแต่นานนมกับการแข่งขันที่เพิ่งเกิดขึ้นต่างกันออกมาเป็น ตัวคูณช่วงเวลาการประเมิน ( Assessment period ) คือ การแข่งขันที่เกิดขึ้นภายใน 12 เดือน คูณด้วย 1.0 ภายใน 12-24 เดือน คูณ 0.5 ภายใน 24-36 เดือน คูณด้วย 0.3 และภายใน 36-48 คูณด้วย 0.2

ผมขอยกตัวอย่าง เกมกระชับมิตรที่ ทีมชาติไทย จะพบกับ ภูฏาน ในเย็นวันนี้ที่สนาม ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง หาก ไทย ชนะ คิดคะแนนอย่างนี้ครับ 100 คูณด้วย 3 ( ไทย ชนะโดยไม่มีการดวลจุดโทษ ) คูณด้วย 1.0 ( นัดกระชับมิตร ) คูณด้วย 0.50 ( อันดับโลกของ ภูฏาน คือ 207 ต้องใช้ ตัวคูณยกเว้น ) คูณด้วย 0.86 ( ทั้งสองทีมอยู่ใน โซนเอเชีย 0.86 + 0.86 แล้วหาร 2 ) คูณด้วย 1.0 ( เป็นเกมที่เกิดขึ้นไม่เกิน 12 เดือน ) จะได้ผลออกมาเป็น 129 คะแนน ส่วน ภูฏาน ไม่มีคะแนนเพิ่ม เพราะแพ้การแข่งขัน ตัวคูณเรื่องผลการแข่งขันเป็น 0 จะนำไปคูณกับอะไรก็เป็น 0 อยู่ดี ตอนนี้ แฟนบอลก็รอการประกาศอันดับโลกจากทาง ฟีฟ่า เที่ยวต่อไป 19 ธันวาคม นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น