จานนี อินแฟนติโน เลขาธิการสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟา) พอใจ หลังตลาดซื้อ-ขายนักเตะช่วงซัมเมอร์รูดม่านเมื่อวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตัวเลขจับจ่ายชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีสำหรับกฎควบคุมรายจ่ายของสโมสร อย่างไรก็ตาม เตือนยอดขาดทุนสะสมยังคงสูงเกินไป
มิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป แสดงจุดยืนชัดเจนคว่ำบาตรสโมสรที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับแม้ว่าจะมีเจ้าของอภิมหาเศรษฐีหนุนหลังด้วยการคลอดกฎควบคุมรายจ่าย (Financial Fair Play) อินแฟนติโน เลขาธิการ ยูฟา เผยว่า ตลาดซื้อ-ขายนักเตะรอบสองเดือนมกราคมปี 2012 เงียบเหงากว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2011 โดยมียอดรายจ่ายลดลง 36 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ช่วงปีใหม่ 4 ฤดูกาลหลังยังมีตัวเลขที่ต่ำลงอีก 20 เปอร์เซ็นต์
“แนวทางปฏิบัตินี้ได้เริ่มขึ้นแล้วมีสัญญาณชะลอตัวเกี่ยวกับกิจกรรมการซื้อ-ขาย บรรดาสโมสรต่างๆ ดูแลเรื่องการเงินแสดงถึงการเคลื่อนไหวของกฎควบคุมรายจ่ายอย่างชัดเจนและส่งผลในแง่บวก การขาดทุนมีเสถียรภาพ แต่ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย” อินแฟนติโน เผย
วันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตัวเลขซื้อนักเตะอยู่ที่ 1,753 ล้านยูโร (ประมาณ 70,120 ล้านบาท) ต่ำกว่าช่วงซัมเมอร์ที่แล้วซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 2,249 ล้านยูโร (ประมาณ 89,960 ล้านบาท) แต่หากรวมช่วงตลาดเปิดทั้งหน้าหนาวและหน้าร้อนยอดจับจ่ายอยู่ที่ 2,146 ล้านยูโร (ประมาณ 85,840 ล้านบาท) อินแฟนติโน กล่าวอีกว่า “กฎนี้ถือเป็นการกระตุ้น แต่ยังคงมีตัวเลขสีแดงปรากฎในบัญชีการซื้อขายที่สูงไม่น้อย แต่อย่างน้อยเราก็อยู่ในจุดที่เริ่มต้นจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งหมดไม่ใช่แค่คำขู่ แต่คือการส่งสัญญาณชัดเจนให้แต่ละสโมสรตื่นตัวและกังวล พวกเขาทราบถึงกฎรวมถึงการลงโทษนี้ดีหากจ่ายเกินกว่ากำหนด”
กฎควบคุมรายจ่ายจะมีผลอย่างเต็มรูปแบบปี 2014 พลาตินี มีความตั้งใจจะปฏิวัติฟุตบอลยุโรปเพื่อหยุดสโมสรไม่ให้เผชิญวิกฤติทางด้านการเงิน โดยอดีต “นโปเลียนลูกหนัง” กล่าวว่า “สำหรับช่วงเวลาของการตั้งระบบจะอยู่ราว 3 หรือ 4 ปี จุดเริ่มต้นนี้ถือว่าผ่านไปแล้วและเราต้องการเห็นว่าทุกอย่างได้ดำเนินต่อไป”