xs
xsm
sm
md
lg

วัดพลังรีแมตช์ “ดรีมทีม-สเปน” / ลุงแซม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “Final Quarter” โดย “ลุงแซม”

แม้ต้องฟันฝ่า 7 เกมกว่าจะกรีธาทัพถึงรอบชิงเหรียญทอง แต่ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าด้วยศักยภาพ ณ ปัจจุบันไม่แคล้ว สหรัฐฯ กับ สเปน มาตามนัดรีแมตช์รอบชิงจากเมื่อ 4 ปีก่อนที่ “ปักกิ่งเกมส์” จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสื่อพากันหยิบหาเหตุผลไขคำตอบว่าที่สุดแล้วใครจะประกาศศักดายัดห่วงชายในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ 2012 โดย “บลีชเชอร์รีพอร์ต” สื่อจอมซอกแซกแดนลุงแซม นำเอา 5 ประเด็นมาคิดคำนวณความได้เปรียบเสียเปรียบ ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดพร้อมกับให้ท่านผู้อ่านแลกเปลี่ยนทรรศนะตามอำเภอใจ

สิ่งแรกที่พูดถึง คือ เรื่องของ “ความต่อเนื่อง” (Continuity) อย่างที่ทราบกัน สหรัฐฯ มี 5 คนที่มาจากชุดแชมป์โอลิมปิก 2008 เลอบรอน เจมส์, เดรอน วิลเลียมส์, โคบี ไบรอันท์, คาร์เมโล แอนโธนีย์ และ คริส พอล ขณะที่ สเปน หาก ริคกี รูบิโอ การ์ดจ่ายหน้าหยกไม่บาดเจ็บหนัก คงเป็น 1 ใน 7 ขุนพลที่ลุ้นถอนแค้นสหรัฐฯ เคียงข้าง พี่น้อง “กาซอล” (เพา-มาร์ค), ฆวน การ์ลอส นาบาร์โร, รูดี เฟร์นานเดซ, โฆเซ กัลเดรอน และ เฟลิเป เรเยส ขณะที่ “ดรีมทีม” มีตัวจากชุดแชมป์โลกเมื่อปี 2010 อีก 5 คน เควิน ดูแรนท์, รัสเซล เวสต์บรูก, ทายสัน แชนด์เลอร์, อังเดร อิกัวดาลา และ เควิน เลิฟ ด้าน “กระทิงดุ” ได้กำลังสมทบจากทัวร์นาเมนต์ใหญ่ที่ตุรกี อย่าง บิคตอร์ กลาเบร์, เฟร์นานโด ซาน เอเมเตริโอ และ เซร์คิโอ ยัลล์ ผนวกรวม เซิร์จ อิบากา ที่โดดเด่นจากยูโรบาสเกต 2011 ดังนั้น ความต่อเนื่อง ผสมกลมกลืนของทีม ข้อนี้ไม่มีใครเหลื่อมล้ำนักตามทรรศนะผู้เขียน

ทว่า สิ่งที่ต้องยกให้ สหรัฐฯ เป็นต่อชัดแจ้ง คือ “ความสามารถรอบตัว” (Versatility) ไมค์ ชูเชฟสกี สบายใจได้มากกว่าเมื่อซูเปอร์สตาร์ NBA เล่นได้หลากหลาย เลอบรอน เอาเข้าจริง แม้ส่วนสูงเป็นรอง แต่ใจใหญ่งัดกับ เพา กาซอล ในตำแหน่งพาวเวอร์ ฟอร์เวิร์ด ได้สบาย ขณะที่ ดูแรนท์ สูงโย่ง 6 ฟุต 9 นิ้ว ด้วยความคล่องแคล่ว ส่องไกลได้อย่างแม่นยำ งานนี้ เฟร์นานเดซ เวียนศีรษะแน่นอน หากต้องประกบ หรือแม้แต่ชน “เมโลแมน” ก็เข้าขั้นกระอัก ในส่วนของ สเปน ไลน์อัพถือว่าค่อนข้างฟิกซ์ นอกจาก “แอร์ คองโก” อิบากา แล้วถ้า สคาริโอโล ต้องถอดตัวจริงคนใดคนหนึ่งออกไปพัก ความแตกต่างชัดเจนจะเกิดขึ้นเมื่อต้องเจอพวกรอบจัดอย่าง “ดรีมทีม”

มาถึงจุดที่ สเปน ได้เปรียบกันบ้าง “ขนาด” (Size) ทั้ง เพา และ มาร์ค จะใช้ความสูงหนา ระดับ 7 ฟุต สลับกันขย่ม แชนด์เลอร์ ซึ่งเป็นผู้เล่นมะกันคนเดียวที่สูงระดับเดียวกัน เลิฟ อาจลงไปช่วยสลับชะลอความหนักได้บ้าง ถ้าปล่อยให้ “กระทิง” เซตเพลย์โพสต์ได้พื้นที่หัวกะโหลก สหรัฐฯ ย่อมเจอปัญหาใหญ่ “โค้ชเค” ต้องวางหมากตั้งรับให้ดีด้วย นอกจากแผนฟาสต์เบรกที่จะคอยเล่นงานพวกตัวใหญ่เชื่องช้าเหล่านี้ ส่วนเรื่องของ “ความปราดเปรียว” (Athleticism) คงไม่มีใครเกิน “ดรีมทีม” ถึงแม้ รัสเซล เวสต์บรูก ขึ้นชื่อเรื่องเสียเทิร์นโอเวอร์บ่อยเกิน ทว่า จังหวะเปลี่ยนจากเกมรับเป็นรุกว่องไวเยี่ยงวอก คริส พอล อาการเจ็บนิ้วโป้งดีขึ้นมาก น่าจะมีลูกจ่าย “แอลลี ฮูป” สวยๆ ให้เพื่อนยัดห่วงกันเพลิน

สุดท้ายเป็นเรื่องของ “ความกดดันและความคาดหวัง” (Pressure/ Expectations) มองผิวเผิน สหรัฐฯ ดูแบกรับในจุดนี้มากกว่า โคบี เอ่ยปากคงกลับบ้านลำบากหากไร้ซึ่งเหรียญทอง อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า ซูเปอร์สตาร์ ทั้ง โคบี, เลอบรอน, ดูแรนท์ ต่างเผชิญความคาดหวังกับการเป็นแชมป์ NBA ไม่เว้นแต่ละปี ยิ่งเจอกระแสนำไปเปรียบ “ดรีมทีม” ฉบับดั้งเดิมเมื่อปี 1992 ที่ โคบี เปิดประเด็นด้วยแล้ว ฟากของสเปน ด้วยฝีมือเฉพาะบุคคลที่เป็นรอง แต่ในใจลึกๆ เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนอยากถอนแค้นเป็นอย่างยิ่ง หากไม่สำเร็จในครั้งนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อถึง ริโอ เดอ จาเนโร เกมส์ 2016 จะมีโอกาสหรือไม่ เมื่อมีความคิดจำกัดอายุนักบาสไม่เกิน 23 ปี ถูกเสนอขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น