ASTV ผู้จัดการรายวัน-ฟุตบอลสปอนเซอร์ ไทยพรีเมียร์ลีก 2011 ปิดฉากโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ฤดูกาล 2012 ที่จะรูดม่านในวันที่ 17 มีนาคมนี้ ยังมีการบ้านสำหรับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยและบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด โดยทีมข่าว MGR Sport รวบรวมประเด็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาชี้ช่องทางการปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีขึ้นของวงการลูกหนังไทย ดังนี้
รื้อกฎโควตาผู้เล่นต่างชาติใช้ 3+1
ภายหลังความล้มเหลวของทีมชาติไทยในระดับอาเซียนซึ่งตกรอบแรกทั้งในซีเกมส์ 2 สมัย และ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2010 ทำให้สมาคมฟุตบอลฯ ตอบรับเสียงส่วนใหญ่จาก 18 สโมสรในลีกสูงสุดด้วยการกลับมาใช้โควตาผู้เล่นต่างชาติลงสนามในแต่ละนัดได้ 3 คนบวกกับนักเตะเอเชียได้อีก 1 คน โดยพบกันครึ่งทางด้วยการให้แต่ละสโมสรส่งรายชื่อนักเตะขึ้นทะเบียนฤดูกาล 2012 ได้ 7 คนเท่าเดิม
ด้าน เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ พีอีเอ ซึ่งมีเหล่าแข้งนอก อาทิ ฟรองค์ โออองด์ซา กับ ฟรองค์ อาเชียมปง เป็นกุญแจสำคัญสู่แชมป์ขานรับว่า “ผมยินดีปรับทีมให้สอดคล้องกับทุกกฎ เพราะผมมั่นใจว่าเราแข็งแกร่งกว่าทุกทีม อีกทั้งตอนนี้ผู้เล่นทีมชาติไทยเราก็มีเกือบ 11 คน” ส่วน อรรณพ สิงห์โตทอง ผู้จัดการทั่วไป ชลบุรี เอฟซี บอกว่า “กฎนี้ทำให้นักเตะไทยรุ่นใหม่ๆ มีโอกาสลงสนามมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับทีมชาติในอนาคต ส่วนเรื่องสัญญาผู้เล่นก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะส่วนใหญ่เซ็นกันเพียงปีเดียว แต่ละทีมก็จะคัดเฉพาะคนที่ดีที่สุดเอาไว้”
มอบถ้วยให้ทีมแชมป์ในบ้าน
พิธีมอบถ้วยแชมป์ฤดูกาล 2011 กลายเป็นงานกร่อย เนื่องจากสมาคมฟุตบอลฯ และบริษัทไทยพรีเมียร์ลีก ฯ ไม่ยอมมอบในวันสิ้นปีที่แล้ว ซึ่ง บุรีรัมย์ พีอีเอ จัดงานฉลองใหญ่โตรอเก้อ ทำให้นัดสุดท้ายที่ไปเยือน เชียงราย ยูไนเต็ด “ปราสาทสายฟ้า” ส่งเจ้าหน้าที่ทีม 2 คนขึ้นไปรับถ้วยในพิธีที่สมาคมฯ เชิญผู้ใหญ่และ เซอร์ เดวิด ริชาร์ดส ประธานพรีเมียร์ลีก อังกฤษ มาร่วมงานท่ามกลางความเงียบเหงา นำมาซึ่งคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานาว่าทั้ง 2 ฝ่ายละเลยความสำคัญของถ้วยแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกซึ่งควรเป็นรางวัลที่มีเกียรติ
เรื่องนี้ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานทีพีแอลกล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า “เราไม่ได้มีเจตนามอบแชมป์นอกบ้าน เพียงแต่ปีที่แล้วเกิดความไม่สะดวกมากมาย อย่างไรก็ดี ผมยังยืนยันว่าปีหน้าหรือปีต่อๆ ไป ถ้ารู้ทีมแชมป์ล่วงหน้าก็จะจัดพิธีมอบถ้วยให้ในบ้านแน่นอน ซึ่งมันให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่และเป็นความสุขของทีมที่ได้รับ”
จัดระเบียบโปรแกรมการแข่งขัน
2011 นับเป็นซีซันที่โปรแกรมยุ่งเหยิงและยืดเยื้อมากที่สุดจนต้องเตะกันข้ามปี ซึ่งเกิดจากปัญหาน้ำท่วม, คิวเตะบอลถ้วยที่อัดแน่น รวมถึงชนกับการเตรียมทีมชาติจนมีการขอเลื่อนครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลฯ มีข้อสรุปว่า “ฤดูกาลจะเปิดตั้งแต่วันที่ 17-18 มีนาคม และจะให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 11 พฤศจิกายน เพื่อที่ทีมชาติไทยจะได้มีเวลาเตรียมทีมแข่ง ซูซูกิ คัพ มากขึ้น ส่วนทีมที่ไปเล่นเอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก ถ้าเล่นในบ้านต้องได้พักก่อนเตะ 48 ชั่วโมง ถ้าไปเยือนต้องได้พัก 72 ชั่วโมง”
“บังยี” กล่าวต่อไปว่า “จากนี้ไปจะไม่มีการเลื่อนโปรแกรมให้ทีมใดอีกเป็นอันขาด นอกจาก ทีพีแอล และ สมาคมฯ จะเป็นคนกำหนดโดยพิจารณาจากปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น น้ำท่วม เกิดการจลาจล ปิดถนน เป็นต้น ส่วนวันเตะจะจัดให้แข่งวันเสาร์-อาทิตย์ เท่าเทียมกันทุกทีม แต่จะมีการเพิ่มนัดกลางสัปดาห์ทุกสัปดาห์ ขณะที่ทีมชาติไทยจะมีการแบ่งช่วงเก็บตัวเตรียมทีมที่แน่นอนเอาไว้ แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็จะปรับเฉพาะโปรแกรมเอฟเอ คัพ”
ความชัดเจนเรื่องโอนสิทธิ์ทำทีม
ยังเป็นที่วุ่นวายไม่เลิกเรื่องสิทธิ์การทำทีมของสโมสร บุรีรัมย์ เอฟซี หลังสมาคมฟุตบอลฯและบ.ไทยพรีเมียร์ลีกสั่งเบรกไม่ให้สิทธิ์ สงขลา เอฟซี เข้ามาสวมสิทธิ์เลื่อนชั้นแทน โดยอ้างกฏว่า “โอนหุ้นได้แต่โอนสิทธิ์ไม่ได้” ทำให้หลายฝ่ายนำไปเทียบกับกรณีที่ ทีทีเอ็ม ย้ายจากสมุทรสาครไปยังพิจิตร และล่าสุดที่จะไปเชียงใหม่ อีกทั้งกรณีที่ ศรีสะเกษ เมืองไทยฯ จะขอย้ายไปยัง อุบลราชธานี พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น อีสาน ยูไนเต็ด ว่าทำไมถึงทำได้
ดังนั้น นิพนธ์ บุญญามณี ประธานสโมสร “วัวชนแดนใต้” จึงสนองนโยบายว่า “เมื่อทางสมาคมบีบบังคับทางให้เดินเช่นนั้น ทีมก็จะทำตาม โดยเราจะบริหารทั้ง2สโมสรพร้อมกันในฤดูกาลหน้า และทำตามกฏทุกอย่างทั้งบุรีรัมย์ เอฟซี และสงขลา เอฟซี ส่วนเรื่องถ้าหากสงขลาฯได้เลื่อนชั้นขึ้นไทยลีกแล้วจะทำอย่างไรกันต่อไป เมื่อถึงเวลานั้นก็ต้องตัดสินใจขายทีมใดทีมหนึ่งออกไป ซึ่งมันเป็นเรื่องในอนาคต”