"บิ๊กอ๊อด" พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ หวั่นเวียดนามทำผลงานแซงไทยหลังเบียดกันชิงที่ 2 "อิเหนาเกมส์" พร้อมผลักดันให้มีการตั้งกฏมนตรีซีเกมส์ที่ชัดเจนเรื่องการเพิ่มกีฬาพื้นบ้านที่มากเกินโควต้าจนทำให้คุณค่าของการแข่งขันซีเกมส์ด้อยลง
เมื่อเวลา 15.30 น. วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2554 พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานงานเสวนาเรื่อง "เสียงสะท้อนจากซีเกมส์อินโดนีเซีย 2011" โดยมี พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและคณะกรรมการโอลิมปิก, ดร.ณัฐ อินทรปาณ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล ประจำประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ
โดย พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา กล่าวถึงจุดประสงค์การจัดเสวนา "เสียงสะท้อนจากซีเกมส์อินโดนีเซีย 2011"ว่า "เป็นการพิจารณาผลงานของแต่ละสมาคมกีฬาในการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีหลายชนิดกีฬาที่ทำผลงานดีขึ้นและทำได้ตามมาตรฐาน แต่บางสมาคมกลับมีผลงานที่ต่ำลง อย่างไรก็ตามเหรียญรางวัลไม่ใช่ตัวชี้ถึงผลสำเร็จของสมาคมนั้นแต่อย่างใด ยกตัวอย่าง สมาคมว่ายน้ำ ที่อาจทำผลงานได้มากถึง 9 เหรียญทอง แต่มาจากนักกีฬาเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งมาจากประเภทเดี่ยวเท่านั้น ไม่มีประเภทผลัดผสม"
นอกจากนี้ "บิ๊กอ๊อด" เผยถึงความห่วงใยที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ฝากถึงวงการกีฬาไทยหลังจบการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 26 ว่า "อยากให้ให้สมาคมกีฬาที่มีชนิดกีฬาบรรจุในโอลิมปิกเกมส์ ประเมินผลงานของสมาคมว่ามีผลงานได้ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ปัญหาจากการจัดการแข่งขันของเจ้าภาพจะนำมาปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญซีเกมส์มีการบรรจุกีฬาพื้นบ้านมากเกินไป ทำให้คุณค่าของซีเกมส์ด้อยลง ทั้งนี้ประเทศเวียดนามกำลังพัฒนาศักยภาพนักกีฬาขึ้นมาใกล้เคียงกับไทยมากขึ้น เรื่องอาหารการกินควรมีมาตรฐาน และควรนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาพัฒนานักกีฬาไทยเพราะเชื่อว่าศักยภาพนักกีฬาไทยไปไกลกว่านี้"
ทั้งนี้ ประมุขโอลิมปิก กล่าวเสริมว่า "ซีเกมส์ที่ผ่านมาหากคิดเฉพาะกีฬาสากลไทยถือเป็นอันดับ 1 แบบฉิวเฉียด เพราะเวียดนามมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตเวียดนามมีสิทธิ์แซงหน้าไทยได้ ดังนั้นควรมีการพูดคุยและแก้ไขในระดับมนตรีซีเกมส์เกี่ยวกับกีฬาพื้นบ้านที่มากเกินไป ที่สำคัญจะนำปัญหาที่พบในซีเกมส์ที่อินโดนีเซียมาเป็นบทเรียนและหาทางแก้ไขเพื่อช่วยเหลือด้านกีฬาระหว่างประเทศต่อไป นอกจากนี้ปัญหาภายในประเทศยังต้องมีการพูดคุยกันโดยเฉพาะสมาคมกีฬายิงปืนฯ หากการบริหารจัดการได้รับการแก้ไขก็น่าจะทำผลงานได้ดีเหมือนสมาคมบาสเกตบอลฯ"
สำหรับการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 ที่ประเทศเมียนมาร์ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ตั้งเป้าหมายไทยเป็นเจ้าเหรียญทอง "เนื่องจากเจ้าภาพไม่หวังที่จะเป็นเจ้าเหรียญทอง ดังนั้นมีเพียง 3 ชาติ ที่ต้องขับเคี่ยวกันคือ ไทย, อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเวลาปีกว่าถือว่าไม่นานนัก ทั้งนี้ผมจะเดินทางไปเยี่ยมกระทรวงกลาโหมและกระทรวงกีฬาของประเทศเมียนมาร์ภายในมกราคม หรือ กุมภาพันธ์ ปีหน้า และหากเมียนมาร์ต้องการให้ไทยช่วยเหลือในด้านใด อาทิ สนามการจัดแข่งขัน ชนิดกีฬาแข่งขันต่างๆ ทางไทยก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่"
ขณะที่ พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นในการจัดเสวนาดังกล่าวเกิดขึ้นมาจากความล้มเหลวจากการจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 26 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เช่น การฝืนกฎมนตรีซีเกมส์ การจัดการแข่งขันและมอบเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬา ที่มีการแข่งขันเพียง 2 ชาติเท่านั้น ซึ่งมีหลายสิ่งที่ชาติสมาชิกรับไม่ได้ ดังนั้นการที่ไทยเป็นศูนย์กลางสำนักงานซีเกมส์ จะพยายามผลักดันให้แต่ละชนิดกีฬามีการแข่งขันตั้งแต่ 3 ชาติขึ้นไป จึงจะมีการรับเหรียญรางวัลได้"
"นอกจากนี้การบรรรจุกีฬาพื้นบ้านลงแข่งขัน ควรจะบรรจุเป็นกีฬาสาธิตก่อน จะอ้างว่าประชากรในประเทศมีมาก อาทิ โววีนัม เวียดนามอ้างมีประชากรเล่นกว่า 80 ล้านคน หรือ อินโดนีเซีย มีประชากรกว่า 101 ล้านคน จึงนำมาบรรจุลงในการแข่งขันซีเกมส์ จากนี้ไปต้องมีการหารือกันในระดับมนตรีซีเกมส์ก่อน ส่วนในการแข่งขันครั้งหน้าที่เมียนมาร์ ยังไม่มีการพูดคุยกันถึงเรื่องกีฬาพื้นบ้าน ในอนาคตตทิศทางการเปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้น มีหลายชนิดกีฬาที่ต้องปรับปรุงกฎในการแข่งขัน ดังนั้นการที่ไทยเป็นศูนย์กลางสำนักงานซีเกมส์ จะช่วยให้การพูดคุยง่ายขึ้น และอยากย้ำอีกว่าการจัดกีฬาบ้านอย่างน้อยต้องพูดคุยกันในมนตรีซีเกมส์"