xs
xsm
sm
md
lg

“5 ซูเปอร์สเตเดียม” ไทยพรีเมียร์ลีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิว ไอ-โมบาย สเตเดียม
จากกระแสลีกฟุตบอลไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากแต่ละสโมสรจะมีการยกระดับเรื่องการทำทีม, การบริหารจัดการ และการส่งเสริมภาพลักษณ์จนทำให้การแข่งขันน่าติดตามมากขึ้นแล้ว สนามแข่งขันก็ได้รับการพัฒนาให้มีความยิ่งใหญ่ ทันสมัยหรือช่วยเสริมให้การเชียร์ดูตื่นเต้นเร้าใจไม่แพ้ลีกชั้นนำในต่างประเทศ MGR Sport จึงขอเจาะ 5 สังเวียนแข้งซึ่งได้รับการยอมรับว่าอยู่ในระดับหัวแถวของศึกลูกหนังสปอนเซอร์ ไทยพรีเมียร์ลีก อันเป็นจุดหมายปลายทางที่แฟนบอลอยากมาสัมผัสด้วยตัวเอง

นิว ไอ-โมบาย สเตเดียม (บุรีรัมย์ พีอีเอ และ บุรีรัมย์ เอฟซี)
นี่คือสนามฟุตบอลที่เพียบพร้อมและทันสมัยที่สุดในระดับสโมสรบ้านเราเวลานี้ ไม่เพียงแต่จะมีความจุถึง 24,000 ที่นั่ง ไฟส่องสว่างมาตรฐานสากลที่ช่วยให้ภาพบนหน้าจอโทรทัศน์เวลาถ่ายทอดสดเหมือนกับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ห้องพักนักกีฬาที่มีอุปกรณ์พร้อมสรรพ รวมถึงพื้นหญ้าที่เรียบเนียนแล้ว ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นบ็อกซ์วีไอพีอันหรูหรา ช็อปขายของที่ระลึกอันใหญ่โต ส่วนที่นั่งผู้สื่อข่าวยังมีจอทีวีแอลซีดีให้ชมภาพช้าเพื่อการรายงานข่าวด้วย แต่จุดที่ต้องปรับปรุง คือ น้ำประปาในห้องน้ำจะไม่ค่อยไหลในวันแข่งขันซึ่งมีผู้ชมเข้าสนามจำนวนมาก

ชลบุรี สเตเดียม (ชลบุรี)
บ้านของ “ฉลามชล” เป็นสนามเพียงแห่งเดียวที่ สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ให้เกรดเอ ในการประเมินมาตรฐานของไทยพรีเมียร์ลีกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (แต่ตอนนั้น นิว ไอ-โมบาย ยังสร้างไม่เสร็จ) จากการแบ่งโซนต่างๆ ออกจากกันอย่างชัดเจนและลงตัว ทั้งทางเข้าแฟนบอล, แขกวีไอพี, ผู้สื่อข่าว, ห้องแถลงข่าว, ห้องพักนักกีฬา, ห้องผู้ตัดสิน แม้การมีลู่วิ่งคั่นอัฒจันทร์กับสนามทำให้ระยะการชมเกมค่อนข้างห่าง แต่กลับไม่ทำให้บรรยากาศการเชียร์ลดลงแม้แต่น้อย เนื่องจากเวลาเปล่งเสียงเชียร์จะดังก้องไปทั่วสนาม แต่ข้อด้อยสำคัญคือความจุ 8,200 ที่นั่งไม่พอรองรับฐานแฟนบอลที่มีอยู่มากกว่านั้น

ยามาฮ่า สเตเดียม (เมืองทอง หนองจอก ยูไนเต็ด)
ต้นแบบ “ฟุตบอล สเตเดียม” ของเมืองไทยซึ่งเป็นแห่งแรกที่มีอัฒจันทร์ครบ 4 ด้าน ตลอดจนการจัดสรรพื้นที่ภายในให้เป็นทั้งร้านขายของที่ระลึก บ็อกซ์วีไอพี พิพิธภัณฑ์สโมสร ห้องแถลงข่าว และที่นั่งผู้สื่อข่าวบนอัฒจันทร์อย่างเป็นสัดส่วน อีกทั้งยังจำลองบรรยากาศราวกับเป็น “โอลด์ แทรฟฟอร์ด” ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขนาดย่อม ความจุ 20,000 ที่นั่ง แต่ถ้าปรับปรุงพื้นลานจอดรถด้านหลังโซน N ให้เรียบและเพรสบ็อกซ์บนอัฒจันทร์มีสัญญาณไว-ไฟอินเทอร์เน็ตก็จะดีไม่น้อย

ลีโอ สเตเดียม (บางกอกกล๊าส)
รัง “กระต่ายแก้ว” คือสนามในระดับสโมสรแห่งแรกที่เป็นพื้นหญ้าเทียม โดยมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นอยู่ที่อัฒจันทร์ 3 ชั้นซึ่งตั้งตระหง่านชนิดเห็นชัดจากถนนใหญ่ด้านหน้าทางเข้า และการใช้พื้นที่อันจำกัดได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยทำให้มีความจุถึง 9,500 ที่นั่งภายใต้สิ่งอำนวยความสะดวกและห้องหับต่างๆ พร้อมสรรพใกล้เคียงกับมาตรฐานของ เอเอฟซี กระนั้น การมีสแตนด์เพียง 3 ด้านทำให้อรรถรสในการซึมซับบรรยากาศการเชียร์ลดลงไป

แพท สเตเดียม (การท่าเรือไทย)
แม้ว่าศักยภาพของ แพท สเตเดี้ยม ในฐานะสนามแข่งระดับไทยพรีเมียร์ลีก จะไม่สามารถเทียบกับ 4 สนามด้านบนได้แต่สิ่งหนึ่งที่ สังเวียนแข้งแห่งถิ่นคลองเตย ไม่น้อยหน้าทุกทีมในลีกคือบรรยากาศการเชียร์อันร้อนระอุที่สุดแห่งหนึ่งวงการลูกหนังอาชีพไทย เพราะนอกจากจะมีอัฒจันทร์ล้อมรอบ 4 ด้านแล้ว การที่พื้นสนามอยู่ในระยะใกล้ชิดกับที่นั่งแฟนบอลจึงได้รับการขนานนามว่า “นรกของทีมเยือน” ซึ่งสร้างแรงกดดันนักเตะคู่แข่งได้ตลอด 90 นาที หากบรรยากาศดังกล่าวบางครั้งอาจร้อนระอุจนเกินไปและทำให้ “สิงห์เจ้าท่า” กลายเป็นทีมที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมแฟนบอล จนกลายเป็นข่าวพาดหัวมาแล้วอย่างน้อยสามครั้ง
ชลบุรี สเตเดียม
ยามาฮ่า สเตเดียม
ลีโอ สเตเดียม
แพท สเตเดียม
กำลังโหลดความคิดเห็น