ร่างพิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเงินรางวัลนักกีฬา เพื่อให้การจัดสรรเงินรางวัล เงินโบนัส และเงินพิเศษอื่นใดของสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ต้องชะงักกลางคัน เมื่อคณะกรรมการถกช่องโหว่ดัน 2 แนวทางระหว่างนักกีฬาตัดตัวชุดสุดท้ายก่อนการแข่งขันได้รับเงินรางวัลรวม 20 % หรือให้เท่ากับนักกีฬาที่ได้เหรียญ ก่อนส่งเรื่องให้ "บิ๊กจา" ประมุขหวายไทย เป็นผู้พิจาารณา
เมื่อเวลา 11.00 น. วันศุกร์ที่ 29 กรกฏาคม 2554 พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ นายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุม ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ
ที่ประชุมแจ้งให้ทราบว่า จากการจัดการแข่งขันตะกร้อลวดห่วงอาชีพ ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากแฟนกีฬาเป็นจำนวนมาก โดยจัดแข่งขันที่บริเวณสนามราชมังคลากีฬาสถาน การกีฬาแห่งประเทศไทย โดยทีมนำยังเป็นทางด้าน สมุทรสาคร, อันดับ 2 กองทัพบก, อันดับ 3 การท่าเรือ, อันดับ 4 นนทบุรี และ อันดับ 5 กทม. โดยสนามที่ 5 จะมีการแข่งขันในวันที่ 5-8 สิงหาคมนี้
ส่วนตะกร้อ ไทยแลนด์ ลีก ประจำปี 2554 ซึ่งจบครึ่งฤดูกาลแรกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีมนำจ่าฝูง ได้แก่ นครปฐม, อันดับ 2 ศรีสะเกษ, อันดับ 3 กทม., อันดับ 4 ชลบุรี, อันดับ 5 ระยอง, อันดับ 6 กาฬสินธุ์, อันดับ 7 เชียงใหม่, อันดับ 8 นครราชสีมา, อันดับ 9 แพร่ และอันดับ 10 เลย โดยการแข่งขันในครึ่งฤดูกาลหลังที่ประชุมมีมติไม่อนุญาติให้ทีมชาติไทยที่เก็บตัวฝึกซ้อมอยู่ในขณะนี้ ลงแข่งขันในนามทีมต่างๆ ซึ่งจะเริ่มทำการแข่งขันในวันที่ 30 กรกฏาคม - 2 ตุลาคม 2554
โดย อ.กมล ตันกิมหงษ์ ผู้ฝึกสอนตะกร้อชายทีมชาติไทย กล่าวว่า "ในการจัดการแข่งขัน "เวิร์ลคัพ" ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 21-24 กรกฏาคมที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะได้แชมป์ทั้งชายและหญิง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นและได้รับการร้องเรียนจากประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันอย่างกว้างขวาง ในกรณีที่ทางเจ้าภาพได้จัดโปรแกรมเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ชาติอื่นๆ ได้แสดงความคิดเห็นถึงการทำงานของคณะกรรมการจัดการแข่งขันว่าไม่มีความยุติธรรม โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ไม่พอใจกับการจัดโปรแกรมการแข่งขัน และตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับบ้านทันที
รวมทั้งการประสานงานทั้งในและนอกสนาม การตัดสินและเทคนิคต่างๆ ที่มาเลเซียมักจะเอาเปรียบคู่แข่ง ทั้งนี้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะเป็นประสบการณ์ให้ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเวิร์ล ซีรีย์ สนามแรก ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2554 จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และไม่ควรให้ประเทศอื่นๆ วิจารณ์เราเหมือนที่มาเลเซียโดนล่าสุด
ขณะเดียวกัน "บิ๊กจา" พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ นายกสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย กล่าวในฐานะประธานสหพันธ์ตะกร้อนานาชาติว่า "เรื่องนี้ตนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สร้างสัมพันธภาพของประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันทั่วโลก รู้อยู่แล้วว่ามาเลเซียจะต้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่การได้เปรียบในการจับสลากแบ่งสายแล้ว โดยทั้งหมดนี้ไทยจะต้องแก้ภาพพจน์ที่ไม่ดีให้ประเทศอื่นๆได้มั่นใจอย่างรวดเร็ว"
ด้านความเคลื่อนไหว "ตะกร้อคิงส์คัพ" ที่จะจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ระหว่างวันที่ 12-17 กันยายน 2554 โดยก่อนหน้านี้ได้ส่งหนังสือเชิญทีมเข้าร่วมแข่งขันไปตั้งแต่ 1 มิถุนายนแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีการตอบรับทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ โดยนักกีฬาจะเข้าพักที่โรงแรมชาลีน่า รามคำแหง ซึ่งสามารถเดินทางไป-กลับสนามได้อย่างสะดวก ส่วนในปีนี้สมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ต้องการให้การจัดการแข่งขันยิ่งใหญ่กว่าที่ผ่านมา เนื่องในจะเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 84 พรรษา โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติขึ้นด้วย
นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้เสนอร่างการจัดสรรเงินรางวัลสำหรับนักกีฬาทีมชาติไทย เพื่อให้การจัดสรรเงินรางวัล เงินโบนัส และเงินพิเศษอื่นใด สำหรับนักกีฬาทีมชาติไทยเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย โปร่งใส ยุติธรรม ปราศจากปัญหาอื่นใด เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยความเรียบร้อย โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อร่างระเบียบในการจัดสรรเงินรางวัลฯ มีนายวัฒนา ยุกแผน เป็นประธานคณะกรรมการ, นายธวัช กุทุมพงษ์พานิช กรรมการ, นายนพชัย วุฒิกมลชัย กรรมการ, พ.ท.อภิศักดิ์ หมั้นทรัพย์ กรรมการ, อ.กมล ตันกิมหงษ์ กรรมการ, นายวีรัส ณ หนองคาย กรรมการ, นายธนวัฒน์ ประสงค์เจริญ กรรมการและเลขานุการ และนางสาวโสภิดา นิกรสุข กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ตามร่างประกาศของสมาคมตะกร้อฯ ระบุไว้ว่าต้องเป็น นักกีฬาเซปักตะกร้อที่ได้เหรียญรางวัลเอเชียนเกมส์, ซีเกมส์, เอเชียนบีชเกมส์, เอเชียนอินดอร์มาเชียลอาร์ทเกมส์ และตะกร้อลอดห่วงสากล อย่างไรก็ตามในส่วนของนักกีฬาที่ถูกตัดตัวชุดสุดท้ายก่อนการแข่งขันรายการต่างๆ จะได้รับเงินรางวัลรวม 20 % ให้ผู้จัดการทีมเป็นผู้พิจารณาตามผลงานและการเก็บตัวฝึกซ้อม
ซึ่งมีคณะกรรมการบางรายทักท้วงและไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยเห็นว่าควรต้องใช้หลักเกณฑ์เดิม คือ เห็นว่าควรให้แบ่งเงินรางวัลดังกล่าวให้กับนักกีฬาที่ตัดตัวชุดสุดท้ายเป็นจำนวนเท่ากัน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ในเมื่อมีข้อโต้แย้งจะต้องมีการนำเสนอร่างทั้ง 2 ความเห็น เพื่อนำเสนอนายกสมาคมฯเป็นผู้พิจารณาต่อไป
ท้ายนี้ที่ประชุมได้มีมติให้จัดการอบรมคณะกรรมการผู้ตัดสินภายในเดือนสิงหาคมนี้โดยจะขอความร่วมมือกับกรมพลศึกษาและการกีฬาแห่งประเทศไทยเนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความรู้และประสบการณ์เพื่อร่วมกันพัฒนาให้ผู้ตัดสินได้รับการพัฒนาอย่างมีมาตรฐาน