xs
xsm
sm
md
lg

ไทยส่งนักกีฬาพิเศษร่วมสเปเชียล อลป. เวิลด์ 2011

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ส่งนักกีฬาผู้พิการทางสมองและปัญญาทีมชาติไทยจำนวน 32 คน เข้าร่วมการแข่งขัน "สเปเชียล โอลิมปิค เวิลด์ ซัมเมอร์ เกมส์ เอเธนส์ 2011" ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2554 ร่วมชิงชัยใน 5 ชนิดกีฬาจาก 22 ชนิดกีฬา คือ กรีฑา (ประเภทลู่ลาน และ ฮาล์ฟมาราธอน), ว่ายน้ำ, บอชชี่, ฟุตบอลหญิง และเทเบิลเทนนิส

เมื่อเวลา 11.00 น. วันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2554 รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย เป็นประธานแถลงข่าว "การส่งคณะนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคฯ เข้าร่วมการแข่งขันสเปเชียล โอลิมปิค เวิลด์ ซัมเมอร์ เกมส์ เอเธนส์ 2011" ร่วมกับ สมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, จอรจอส พาตินิอู้ รองหัวหน้าฝ่ายรักษาการณ์สภานทูตแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) ประจำประเทศไทย ณ ห้องประชุมสมาคมธรรมศาสตร์ สาทรใต้

สำหรับสเปเชียลโอลิมปิค เป็นโครงการพัฒนาสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสมองและปัญญาโดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลาง ซึ่งปีที่ผ่านมาได้มีการคัดเลือกนักกีฬาจากทั่วประเทศกว่า 536 คน จนกระทั่งได้คณะนักกีฬาจำนวน 32 คน ประกอบด้วยนักกีฬาพิเศษ ชาย 12 คน และหญิง 20 คน ที่มีอายุระหว่าง 12-37 ปี จาก 21 สถาบัน ใน 19 จังหวัด เพื่อเป็นตัวแทนของประเทศในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยไปร่วมการแข่งขันกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคเวิร์ล ซัมเมอร์ เกมส์ ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) ซึ่งมีนักกีฬากว่า 7,500 คน จาก 180 ประเทศทั่วโลกร่วมชิงชัย ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2554 ใน 5 ชนิดกีฬาจาก 22 ชนิดกีฬา คือ กรีฑา (ประเภทลู่ลาน และ ฮาล์ฟมาราธอน), ว่ายน้ำ, บอชชี่, ฟุตบอลหญิง และเทเบิลเทนนิส ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอน จำนวน 15 คน

โดย สมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า "ขอแสดงความยินดีกับนักกีฬาพิเศษที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศ นอกจากนักกีฬาพิเศษจะได้แสดงความเป็นเลิศด้านทักษะกีฬาร่วมกับนักกีฬาทั่วโลกแล้ว ยังเป็นการแสดงนัยทางสังคมที่สำคัญของผู้พิการทางสมองและปัญญาจากประเทศไทย ที่จะได้สื่อสารกับประชาคมโลกให้คนทั้งโลกได้เห็นคุณค่าของผู้พิการทางสมองและปัญญาว่ามีศักยภาพจะพัฒนาความสามารถได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป"

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.นริศ ชัยสูตร ประธานคณะกรรมการสเปเชียลโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ได้เผยว่า "นอกจากการร่วมกิจกรรมทางการกีฬาในการแข่งขันระดับโลกครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านความพิการทางปัญญาจากประเทศไทยยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 20 นักวิชาการทั่วโลกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเชิงนโยบายของสเปเชียลโอลิมปิคสากล ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการแข่งขันฯ เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับความท้าทายและการเพิ่มโอกาสของผู้พิการทางปัญญาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก"

ส่วน จอรจอส พาตินิอู้ รองหัวหน้าฝ่ายรักษาการณ์สภานทูตแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีซ) ประจำประเทศไทย เผยถึงกิจกรรมเมื่อเดินทางถึงประเทศกรีซแล้วว่า "ก่อนเริ่มการแข่งขันที่กรุงเอเธนส์ ได้เชิญคณะนักกีฬาไทยไปเยี่ยมเยียน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนในเกาะโรดส์ เพื่อส่งเสริมการเชื่อมสัมพันธไมตรีของกันและกัน"

นอกจากนี้ "น้องเจน" เจนจิรา เดชอุดม นักเรียนจากโรงเรียนเพชรบุรีปัญญานุกูล นักกีฬาฟุตบอลหญิง ผู้แทนคณะนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคไทย กล่าวว่า "รู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อชีวิต ตอนนี้พวกเราได้เข้าค่ายฝึกซ้อมกันอย่างหนักทุกวัน วันละ 2 ชั่วโมง แต่พวกเราก็จะตั้งใจทำเต็มที่ ขอให้คนไทยเป็นกำลังใจให้พวกเราด้วยนะค่ะ"

อนึ่งประเทศไทยเคยส่งนักกีฬาสเปเชียลโอลิมปิคไทยเข้าร่วมการแข่งขันรายการ เวิร์ลเกมส์ มาแล้ว 5 ครั้ง เมื่อปี 2530,2534,2538,2546 และ 2550 ซึ่งในปี 2554 จะเป็นการจัดการแข่งขันขึ้นครั้งที่ 2 ในทวีปยุโรป และจะเป็นรายการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีนักกีฬา 7,500 คน จาก 180 ประเทศทั่วโลก ดำเนินการโดยผู้ตัดสินและอาสาสมัครกว่า 25,000 คน

ผลงานนักกีฬาพิเศษไทยเมื่อปี 2550 รวมทั้งสิ้น 17 เหรียญทอง 11 เหรียญเงิน และ 12 เหรียญทองแดง แบ่งเป็น ว่ายน้ำ 5 เหรียญทอง, 1 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง, กรีฑา 8 เหรียญทอง, 4 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง, บอชชี่ 1 เหรียญเงิน, 4 เหรียญทองแดง, ฟุตบอล 1 เหรียญทอง (ฟุตบอลชาย 5 คนรุ่น 16 ปีขึ้นไป), เทเบิลเทนนิส 2 เหรียญทอง, 2 เหรียญเงิน และ 1 ทองแดง, เทนนิส 1 เหรียญทอง และ 3 เหรียญเงิน





กำลังโหลดความคิดเห็น