สวัสดีครับท่านนักกอล์ฟ ท่านสมาชิกและแฟนเว็บไซต์ www.manager.co.th ทุกท่านครับ ผมหายหน้าหายตาไปประมาณ 2 สัปดาห์ ต้องกราบขอโทษท่านผู้อ่านไว้ด้วยครับ แต่ในสัปดาห์นี้ผมจะเล่าให้ฟังครับว่าหายไปไหนมา และมีเรื่องเล่าจากแดนไกลมาฝากท่านนักกอล์ฟด้วยครับ
ก่อนอื่น ผมและทีมงานต้องขอแสดงความเสียใจต่อกรณีความสูญเสีย จากอุบัติเหตุทางอากาศของเครื่องแบล็กฮอว์กและเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ลำ ด้วยครับ ผมและทีมงานขอแสดงความเสียใจอย่างที่สุด นอกจากนี้ยังขอแสดงความเสียใจอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ด้วยครับ ก็ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมต้องถึงกันขนาดนี้
เรามาเข้าเรื่องของกอล์ฟกันครับ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายจากทางสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย นำนักกีฬากอล์ฟชุดซีเกมส์ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งประกอบไปด้วย
นักกีฬาชาย
1. เนติพงศ์ ศรีทอง
2. ณัฐวัฒน์ สุวัจนกรณ์
นักกีฬาหญิง
1. พนิตตา อยู่สบาย
2. พิณรัชย์ หลุ่มบุญเรือง
ไปแข่งขันในรายการริเวอร์วูดส์ จูเนียร์ โอเพน 2011 (Riverwoods Junior Open 2011) ที่ เมือง เบรดา ประเทศ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งทัวร์นาเมนต์นี้ถือว่าเป็น ทัวร์นาเมนต์ที่แข็งมากในทวีปยุโรป เพราะนักกีฬากอล์ฟที่เข้าร่วมแข่งขันถูกจำกัดอายุไว้ที่ 21 ปี ขณะที่นักกีฬาของไทยเรามีอายุเฉลี่ยเพียง 16 ปีเท่านั้นครับ
ขอพูดย้อนกลับไปนิดครับ ... ในอดีตนักกอล์ฟที่เข้าร่วมแข่งขันในรายการนี้ล้วนแล้วเป็นผู้เล่นที่ในเวลาต่อมาต่างๆ ประสบความสำเร็จในทัวร์ที่มาจากฝั่งยุโรป เช่น มาร์ติน คายเมอร์, แซร์จิโอ การ์เซีย, รูล์ฟ มุนซ์, มาร์ติน ลาเฟอร์เบอร์, นิโคลัส โคลเสิร์ท เป็นต้นครับ ทางฝั่งของผู้หญิงก็จะมีนักกอล์ฟอีกหลายคนที่ปัจจุบันต่างก็ไปเล่นในระดับทัวร์ในฝั่งยูโรเปียนทัวร์ และน้อง “จูเนียร์” ธิฎาภา สุวัณณะปุระ ที่เป็นแชมป์เมื่อปีที่แล้ว 2010 แล้วได้เทิร์นเป็นนักกอล์ฟอาชีพเต็มตัว ที่ทางเนเธอร์แลนด์ได้ให้ความสำคัญ โดยทำการติดตามข่าวจากน้องจูเนียร์โดยตลอด ทั้งยังได้ไถ่ถามถึงผลงานของจูเนียร์ตั้งแต่ทางทีมของเราไปถึงครับ
การแข่งขันครั้งนี้มีผู้เล่นจาก 21 ประเทศเข้าร่วม โดยส่วนใหญ่มาจากแถบยุโรป เช่น อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เป็นต้น ขณะที่แถบเอเชียมีอยู่ 4 ประเทศ คือ ไทย จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ผู้เล่นชายทั้งหมด 81 คน หญิง 51 คน ไม่แบ่งไฟล์ท พบกันหมด 4 วัน ตัดตัววันที่ 3 ของการแข่งขันครับ
ซึ่งดูจากตัวผู้เล่นของแต่ละชาติแล้วแข็งมากทุกประเทศ ขณะที่นักกอล์ฟไทยเราก็แบกเรื่องของอายุอยู่เพราะเราอ่อนกว่าชาติอื่นๆ โดยเฉลี่ยแล้ว 3-4 ปีครับ นอกจากนี้ผู้เล่นหลายคนยังเป็นผู้เล่นที่ถูกเลือกในระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐกันหลายคน หรือ พูดง่ายๆ เป็นตัวของมหาวิทยาลัยกันเยอะ ทว่าเราก็ยังหวังลึกๆ ในเรื่องของแชมป์อยู่
ในเรื่องของสนามแข่งขันก็เป็นสนามเก่าแก่ของเมือง ชื่อ Toxandria Golf Club ถ้าชื่อเต็มจะเขียนเป็นภาษาดัชต์ Noord-Brabantsche Golfclub “Toxandria” สนามนี้ไม่ยาวครับ คลาสสิก แคบมาก ถ้าไม่อยู่แฟร์เวย์ก็รัฟและไม่ตัดช่วยด้วย เข้าป่าก็คือเข้าป่า ไม่ตามใจท่านสมาชิกของเขาเลยครับ ลูกกอล์ฟมีโอกาสหายถ้ามาร์กลูกไม่ดี แต่ในวันแข่งขันมีโฟร์แคดดี้ ช่วยดูครับ ส่วนวันที่ทำการแข่งขันคือ ตั้งแต่วันที่ 13-16 ก.ค. 2011 แต่ขณะเราไปถึงกันก่อน คือตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. (โดยส่วนตัว ผมอดตัดเค้กวันเกิดกับครอบครัวเลย :-( )
เราไปถึงเพื่อทำการเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุดสำหรับแข่งขัน เราบิน 10-11 ชั่วโมงครับ ขณะที่ผู้เล่นคนอื่นๆ ส่วนใหญ่เขาขับรถมากัน ในวันซ้อมเราเล่นกันดีมาก อากาศอยู่ที่ 10-18 องศาเซลเซียส มีแดด ช่วงนี้กลางวันยาวมาก คือ พระอาทิตย์ขึ้น 6 โมง และตกเกือบ 5 ทุ่มครับ อาหารการรับประทาน ลำบากแต่พอได้ครับ ถึงวันแข่งขันพวกเราทุกคนพร้อมแต่เรากลับต้องมาเจอกับเรื่องของอากาศที่ไม่คาดคิดว่าจะเจอ คือ อุณหภูมิลดลงเหลือ 10 องศา ไม่มีแดด ลมแรงมากและมีฝนตกปรอยๆ คล้ายกับที่ท่านนักกอล์ฟอาบน้ำด้วยฟักบัว แต่เด็กของเราก็สู้มากครับ
พอเข้าวันที่ 2 อากาศที่ว่าวันแรกไม่ดีแล้ว วันที่ 2 ยิ่งแย่กว่าเดิมอีก พวกเราเรียกสภาพอากาศเช่นนี้ว่า 3 in 1 เลย สภาพอากาศในลักษณะเช่นนี้ ไม่สามารถเล่นกอล์ฟได้เลยครับ ซึ่งเราก็พยายามคุยกับผู้จัดการแข่งขัน โดยท้ายสุดก็ได้ทำการยกเลิก แต่ข่าวร้ายคือทางเด็กและประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นได้เล่นจบ และเกือบจบกันก่อนครับ
วันแรกและวันที่สองของการแข่งขัน ถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญต่อสกอร์ของผู้เล่นอย่างยิ่งเลยครับ ในท้ายสุดทางฝั่งชายของเรามีตกรอบอยู่หนึ่งได้เล่นครบทั้ง 4 วันอีกหนึ่ง ทางฝั่งผู้หญิงได้เล่นในกลุ่มผู้นำ คือ “พิณรัชย์” ที่ต้องต่อสู้กับ ลอเรน เทย์เลอร์ จาก อังกฤษ ที่เพิ่งได้แชมป์ Scottish Junior Open มา เก่งมากครับคนนี้ ท้ายสุดพิณรัชย์ได้ที่ 7 กลับบ้านกับที่ 13 จากพนิตตาครับ ซึ่งในวันที่ 3 ของการแข่งขัน พิณรัชย์ ก็ได้เป็นผู้เล่นที่ทำสกอร์ดีที่สุดของการแข่งขันในวันที่ 3 ส่วนสภาพอากาศของในวันสุดท้ายก็ยังไม่พ้นเย็น ฝน ลม อีก ท้ายสุด จบการแข่งขันทางทีมของเราก็ได้รับคำชมอย่างมาก จากทางผู้จัด และผู้เข้าร่วมจากการแข่งขันครับ หน้าที่ของผมในครั้งนี้ไม่เพียงแค่พานักกีฬาไปแข่ง แต่ผมถือว่าทำหน้าที่ทางการทูตติดไปด้วย
ส่วนในประเด็นที่พูดไว้ในหัวเรื่องว่า “สนามหลังบ้าน” ในความหมายหนึ่งก็คือ ความได้เปรียบจากสภาพอากาศที่ผู้เล่นแต่ละคนชอบและคุ้นเคย ก็คือในส่วนของการปรับตัวที่ทางเราต้องเรียนรู้อีกและต้องปรับตัวให้เร็ว ใครเร็วกว่าได้เปรียบ เรื่องของการเข้าสังคม ภาษาเป็นเรื่องสำคัญที่นักกอล์ฟไทยต้องเรียนรู้ อาหารและความเป็นอยู่ และมีคำพูดด้วยที่ว่า ถ้าท่านนักกอล์ฟที่ต้องการจะเป็น “โปรแข่ง” ก็ควรที่จะเล่นที่สนามหลังบ้านของท่านให้ได้ แฮนดิแคปที่ +3 ก่อน หรือ ตีที่ 69 เป็นปกติ ถึงควรคิดที่จะแข่ง เพราะเรา-เขาไม่ได้แข่งกันที่สแควร์พาร์ (Square PAR) ไม่ใช่สักแต่แข่ง แล้วมาบอกว่าเป็น “โปรแข่ง” ต้องซ้อมให้ถึง
ที่น่าปลื้มใจก็คือเด็กทั้ง 4 ของเราก็ไม่เคยถอดใจให้เห็นเลยครับ นอกจากนี้หลังจากเล่นกันเสร็จ ก็ช่วยกันไปเชียร์เพื่อนๆ ฝนก็ตกไป หนาวก็หนาว “เนติพงศ์” ก็ไปช่วยเป็นแคดดีให้ “พนิตตา” ในวันสุดท้าย “ณัฐวัฒน์” แข่งเสร็จก็มาช่วยเป็นแคดดี้ให้ “พิณรัชย์”
ในกลุ่มสุดท้ายของการแข่งขัน เราแข่งขันเสร็จก็กลับที่พัก โดยมีเพื่อนชาวดัชต์ที่เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมาทางครอบครัวผมเคยเดินทางมาเป็นแขกได้มารออยู่แล้ว (นายเอกมาเนเธอร์แลนด์อีกแล้ว) แต่ทริปนี้ต่างหน้าที่เขาจึงพาคณะเราไปเลี้ยงกันที่ร้านอาหารไทย ใน เมืองเบรดาที่อร่อย ซึ่งผมท้ากับเพื่อนว่า “ร้านนี้ในครัว ไม่มีคนไทย” ซึ่งเดี๋ยวช่วงท้ายจะเฉลยให้ฟังว่าทำไม ผมจึงท้าเช่นนี้
ร้านนี้หรูหรามากครับ อาหารไทยที่นี้ ไม่ธรรมดานะครับ พร้อมกับของขวัญสำหรับเด็กคนละกล่องใหญ่ คือ เสื้อผ้ากอล์ฟ Peak Performance ที่ผมได้แนะนำเพื่อนผมให้รู้จักเมื่อทริปก่อนแล้วเขาก็ชอบมาก ค่าอาหารมื้อนี้เกือบ 400 ยูโร ครับ พวกเราได้แต่ขอบคุณแล้วขอบคุณอย่างเดียวสำหรับน้ำใจของสหายนักการทูตท่านนี้
จากที่เล่าให้ท่านนักกอล์ฟมา ส่วนตัวผมคิดถึงบ้านมาก แต่เมื่อต้องมาทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติก็ต้องตัดใจ และเต็มที่กับมันถึงที่สุด ที่สำคัญคือ การมาครั้งนี้รู้สึกภาคภูมิใจกับเด็กทั้ง 4 คนนี้มากถึงแม้ไม่ชนะเลิศ แต่ก็คงประทับใจคนหลายคน ที่นั่นอย่างแน่นอน เมื่อถึงเมืองไทยบ้านเราก็ดีใจ แต่ไม่อยากอ่านข่าวเลย เคยถามตัวเองบ่อยๆว่า เราอยากให้บ้านของเราน่าอยู่เหมือนสมัยตอนเด็กๆ เราจะทำอย่างไร คำตอบสั้นๆที่น่าจะดีที่สุด ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
ขอให้ท่านนักกอล์ฟ เล่นกอล์ฟอย่างมีความสุข สวัสดีครับ dui dui
หมายเหตุ :
- dui dui = bye bye ครับ ส่วนเรื่องร้านอาหารที่ผมท้าว่าในครัวไม่มีคนไทยนั้น ก็เพราะข้าวที่พวกเราทานกันนั้นหุงกันไม่สุกเลยครับ :)
- ท่านนักกอล์ฟสามารถเข้าไปดูข้อมูล ผลการแข่งขันและภาพบรรยากาศได้ที่ www.junioropen.nl
“โปรเอก” ม.ล.โอรัส เทวกุล, Certified Golf Teaching Professional
Facebook : Millennium Golf Academy
Email :orusjaa@yahoo.com