ASTVผู้จัดการรายวัน - สิ่งที่คอกีฬาโดยเฉพาะสาวก "อเมริกันเกมส์" ภาวนาอย่าให้เกิดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อลีกอเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) ตัดสินใจล็อกเอาท์ไม่ให้มีการแข่งขันฤดูกาล 2011/12 หลังล้มโต๊ะการเจรจาต่อสัญญา "ข้อตกลงสิทธิประโยชน์ร่วมกัน" (Collective Bargaining Agreement) กับสหภาพผู้เล่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาตามวัน-เวลาท้องถิ่น
ตลอด 16 วันที่ผ่านมา โรเจอร์ กูเดลล์ ประธานลีก NFL คนปัจจุบันพยายามตั้งโต๊ะพูดคุยหาข้อยุติเรื่องการต่อสัญญาฉบับใหม่ "ข้อตกลงสิทธิประโยชน์ร่วมกัน" ที่เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1993 เพื่อให้บรรดาเจ้าของทีมทั้ง 32 เฟรนไชส์ รวมถึง สหภาพผู้เล่น (NFLPA) แบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างลงตัว แต่การขยายเวลาเจรจาหลังหมดสัญญาไปตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ทั้งสองฝ่ายกลับยังงัดกันใน 2 ประเด็นใหญ่ เรื่องการแบ่งเค้กก้อนโตเป็นเงินถึง 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2.7 แสนล้านบาท) ซึ่งเจ้าของทีมต้องการชักเข้ากระเป๋าจากเดิม 1 พันล้านเหรียญฯ เป็นสองเท่าเพื่อนำไปใช้ในการบูรณะสนาม แต่สหภาพผู้เล่นมองว่า 800 ล้านเหรียญฯ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท) ยังดูมากไปด้วยซ้ำ
อีกทั้งเรื่องที่ NFL และเจ้าของทีมประสานเสียงอยากให้มีการเพิ่มโปรแกรมในฤดูกาลปกติจาก 16 เป็น 18 เกม และไปลดช่วงพรีซีซันจาก 4 เหลือ 2 เกม เพื่อเพิ่มรายได้มหาศาลเข้าสู่ลีก ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจาก เดอมัวริซ สมิธ ผู้อำนวยการสหภาพ รวมทั้งผู้เล่นในลีกหลายต่อหลายคน เนื่องจากนั่นเป็นการเสี่ยงให้ผู้เล่นมีโอกาสบาดเจ็บมากขึ้น แม้สเกลการเปลี่ยนแปลงเพดานค่าจ้าง "ผู้เล่นหน้าใหม่" (รุคกี้) ที่ดูแพงเกินเหตุในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำท่าได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ทว่านั่นไม่สามารถต่อยอดทำให้การจรดปากกาเซ็นสัญญาฉบับใหม่ลุล่วง เป็นเหตุให้ลีกตัดสินใจพักไม่ให้มีการแข่งขันฤดูกาลหน้า และนี่ก็เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1987 ที่เกิดการล็อกเอาท์ขึ้น ซึ่งคราวนั้นผู้เล่นพากันประท้วงไม่ลงสนามเพราะปัญหาขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์
โดย สมิธ เผยให้ฟังถึงความล้มเหลวที่เกิดขึ้นว่า "ธุรกิจใดๆ ที่หุ้นส่วนไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างก็พูดกันคนละอย่าง ผมบอกได้เลยว่ามันไม่มีทางดำเนินไปด้วยดีได้ ธุรกิจนั้นๆ ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้แน่"
ทางฟากของสหภาพฯ แก้เผ็ด NFL ด้วยการยุบองค์กรการเจรจาไปโดยปริยาย เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาผู้เล่นที่เสียประโยชน์ ซึ่งนำมาโดย เพย์ตัน แมนนิง (อินเดียนาโปลิส โคลต์ส), ทอม เบรดี (นิวอิงแลนด์ แพทริออตส์), ดรูว์ บรีส์ (นิวออร์ลีนส์ เซ็นต์ส) และเพื่อนๆ รวม 10 คน ดำเนินการฟ้องร้องกับศาลสหรัฐฯ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากต้นสังกัดได้ตามสะดวก เพราะเมื่อมีการล็อกเอาท์เท่ากับว่าพวกเขาไม่สามารถเจรจาตกลงเซ็นสัญญาใดๆ ได้นั่นเอง
เมื่อเรื่องเตรียมเข้าสู่กระบวนการของศาล NFL ต้องมาลุ้นว่า ซูซาน เนลสัน ผู้พิพากษาแห่งศาลสหรัฐฯ จะสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาเจรจากันได้จริงหรือไม่ เนื่องจากแหล่งข่าวแดนมะกันเปรยว่าภายใน 3-4 สัปดาห์นี้ อาจมีการเจรจาจับมือกันอีกครั้งเพื่อให้ฤดูกาล 2011/12 ดำเนินต่อไปตามโปรแกรมเดิม (8 กันยายน) แต่ถ้าการพิจารณายืดเยื้อก็มีความเป็นไปได้ว่าตารางการแข่งขันจะล้าช้าออกไป เหมือนกับเมื่อปี 1987 ที่ลุยฤดูกาลปกติกันเพียง 15 (จาก 16 เกม)
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น มีการประมาณการว่าหากปล่อยให้ล่วงเลยถึงเดือนสิงหาคม NFL จะเสียรายได้ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) ถ้ายังล็อกเอาท์ถึงช่วงพรีซีซันรายรับจะหายไป 1 พันล้านเหรียญฯ (ราว 3 หมื่นล้านบาท) สุดท้ายหากไม่มีซีซันลีกคนชนคนจะขาดรายได้คิดเป็นเกมละ 400 ล้านเหรียญฯ (1.2 หมื่นล้านบาท) เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม บรรดาเจ้าของทีมยังสามารถอยู่ได้ ในเมื่อพวกเขาจะได้เงินประกันจากการล็อกเอาท์จำนวน 4 พันล้านบาท (1.2 แสนล้านบาท) ไปนอนกอดอีกอย่างน้อยหนึ่งปี
ส่วนพวกที่เสียประโยชน์ไปเต็มๆ คงหนีไม่พ้นผู้เล่นซึ่งจะไม่ได้รับค่าเหนื่อย รวมถึงค่าประกันสุขภาพ ฟรีเอเยนต์เกือบ 500 ชีวิต ไม่สามารถหาสังกัดได้เพราะการล็อกเอาท์ไม่อนุญาตให้ทีมเซ็นสัญญาหรือเทรดนักกีฬาได้ ขณะที่ดาวรุ่งระดับมหาวิทยาลัยที่มีคิวดราฟท์เข้าลีกในวันที่ 29 เมษายนนี้ ก็ยังจะไม่ได้งานในทันควัน ผลกระทบยังแผ่ขยายไปถึงบุคลากรของแต่ละทีมที่อาจต้องหางานใหม่ทำเช่นกัน นี่จึงเป็นเรื่องให้ผู้ใหญ่ของแต่ละทีมควรชั่งใจคิดสักนิดว่าผลประโยชน์ส่วนรวมควรมาก่อน แน่นอนถึงแม้ NFL ยังจะเป็นธุรกิจกีฬาหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ แต่การปล่อยให้เกิดการ "ล็อกเอาท์" ย่อมเป็นช่องทางให้ลีกรองๆ อย่าง เมเจอร์ลีก เบสบอล (MLB) บาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) ฮ็อกกี้น้ำแข็ง (NHL) หรือแม้แต่ เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ (MLS) ได้โกยส่วนแบ่งทางการตลาดและบรรดาสปอนเซอร์ได้ไม่มากก็น้อย