xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กจา" ตั้งชุดทำงานตรวจสอบคัดเลือกนักกีฬาซีเกมส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิ๊กจา เร่งตั้งชุดตรวจสอบความโปร่งใสในการคัดเลือกตัวนักกีฬาทีมชาติชุดซีเกมส์
"บิ๊กจา" พลตรีจารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการ โอลิมปิคฯ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการเตรียมนักกีฬาไทยเพื่อการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ประจำปี 2554 ร่วมกับ "บิ๊กหนุ่ม" กนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการฯ แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการติดตามแผนงานของแต่ละสมาคมกีฬาเริ่มตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้าย ที่สำคัญเน้นหนักที่วันคัดเลือกตัวนักกีฬา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสให้สอดค้องกัน พร้อมวางกรอบนโยบายการคัดเลือกนักกีฬาต้องเป็นนักกีฬาที่ดีที่สุดของประเทศในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ณ ประเทศอินโดนีเซีย

เมื่อเวลา 10.00 น. วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2554 มีการประชุมการเตรียมความพร้อมในการพิจารณาแผนงานและงบประมาณการเตรียมนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ณ ประเทศอินโดนีเซีย โดยมี "บิ๊กหนุ่ม" กนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมนักกีฬาไทยเพื่อการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ประจำปี 2554 พร้อมกับ "บิ๊กจา" พลตรีจารึก อารีราชการัณย์ และ "บิ๊กต้อม" ธนา ไชยประสิทธิ์ เป็นที่ปรึกษาฯ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 211 ราชมังคลากีฬาสถาน การกีฬาแห่งประเทศไทย

โดยที่ประชุมมีเรื่องให้ทราบสำหรับชนิดกีฬาที่จัดการแข่งขันในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ณ เมืองปาเลมบัง และ เมืองจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีการจัดการแข่งขันทั้งสิ้น 44 ชนิดกีฬา ซึ่งมีการแข่งขันที่เมืองปาเลมบัง จำนวน 24 ชนิดกีฬา และที่เมืองจาการ์ตา จำนวน 20 ชนิดกีฬา รวมมีการชิงเหรียญทองทั้งสิ้น 548 เหรียญทอง ทั้งนี้สำหรับประเทศไทยส่งเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 38 ชนิดกีฬา เนื่องจากมี 3 ชนิดกีฬา คือ ฟินสวิมมิง, เคมโป และ โววินัม ยังไม่มีสมาคมกีฬารองรับ นอกจากนี้ยังมีการรวมจำนวนชนิดกีฬาถึง 3 กีฬาเข้าร่วมกัน คือ ฟุตบอล-ฟุตซอล, สกีน้ำ-โรลเลอร์สเก็ต และ เรือแคนู/คยัค-เรือพาย-เรือยาว ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยมีโอกาสชิงเหรียญทองทั้งสิ้น 545 เหรียญทอง

สำหรับเรื่องงบประมาณการเก็บตัวนักกีฬา คู่ซ้อม และเจ้าหน้าที่นั้น การกีฬาแห่งประเทศไทยได้รับงบประมาณการเตรียมและส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในปีงบประมาณ 2554 ทั้งสิ้น 86,257,190 บาท โดยที่ผ่านมาสมาคมกีฬาที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันได้เสนอของบประมาณปี 2554 ทั้งสิ้น 615,471,029 บาท และในปี 2555 ทั้งสิ้น 62,461,961 บาท ทั้งนี้การกีฬาแห่งประเทศไทยได้เริ่มพิจารณาแผนของแต่ละสมาคมเกือบ 30 สมาคมกีฬาแล้ว อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการดึงงบประมาณปี 2555 มาเพิ่มอีก 170 ล้านบาทเพื่อให้เพียงพอแก่การส่งนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ครั้งนี้

ในส่วนระเบียบเพื่อพิจารณาที่ประชุมได้เห็นชอบสำหรับแนวทางการเตรียมนักกีฬาเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 26 ประเทศอินโดนีเซีย โดย กกท. ได้วางแนวทางเป้าหมายการแข่งขัน คือ เป้าหมายหลัก หรือ จ้าวเหรียญทอง คำนึงเฉพาะกีฬาสากล, เป้าหมายรอง เป็นการพัฒนามาตรฐานนักกีฬาในการแข่งขันเพื่อเตรียมนักกีฬาเข้าร่วมการคัดเลือกกีฬาโอลิมปิคเกมส์ ปี 2555 หรือการแข่งขันระดับนานาชาติรายการอื่นๆ ในอนาคต

ที่สำคัญ กกท. ได้วางกรอบนโยบายการคัดเลือกนักกีฬาดังนี้ 1.เป็นนักกีฬาที่ดีที่สุดของประเทศ 2.กาคัดตัวและการวางตัวผู้เล่น สมาคมกีฬาต้องคำนึงถึงศักยภาพสูงสุดเท่านั้น 3.หลักเกณฑ์คัดเลือกตัวนักกีฬาของทุกสมาคมกีฬาต้องโปร่งใส โดยมีแนวทางการพิจารณาส่งชนิดกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มชนิดกีฬาที่มีศักยภาพสูง พิจารณาจากผลสำเร็จในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2-3 ครั้งที่ผ่านมา โดยได้เหรียญทองจำนวนมากเมื่อเทียบกับประเภทที่จัดการแข่งขัน และ 2.ชนิดกีฬาที่มีโอกาส พิจารณาจากผลสำเร็จในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2-3 ครั้งที่ผ่านมาและกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งล่าสุด โดยอาจได้รับเหรียญทองหรือเหรียญเงินจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาความพร้อมของนักกีฬา และความพร้อมในการบริหารจัดการของสมาคมกีฬา ตลอดจนงบประมาณที่สมาคมกีฬามีประกอบกัน ทั้งนี้การส่งแข่งขันในแต่ละชนิดกีฬาจะส่งเฉพาะประเภททีมีศักยภาพโดยไม่คำนึงว่าจะต้องส่งครบทุกรุ่น ทุกประเภท

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาในการเก็บตัวให้มีประสิทธิภาพ ทาง กกท. ได้สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือในการเก็บตัวประมาณ 9 เดือน (มีนาคม-พฤศจิกายน) โดยแบ่งเป็นฝึกซ้อมแบบไป-กลับ (1 มีนาคม-7 พฤศจิกายน) และการฝึกซ้อมแบบพักร่วมกัน (1 มิถุนายน - 7 พฤศจิกายน) พร้อมงบประมาณด้านต่างๆ เช่น ผู้ฝึกสอน อุปกรณ์กีฬา การส่งแข่ง/ ฝึกซ้อมต่างประเทศ อย่างไรก็ตามสมาคมกีฬา ต้องมีงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาตนเองด้วย ด้านมาตรการกำกับติดตามจะมีเจ้าหน้าที่ในการติดตามดำเนินตามแผนงานเพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรค ทั้งนี้ กกท. ได้สนับสนุนงบประมาณในการเก็บตัวกรณีเก็บตัวร่วมกัน แบ่งเป็น ค่าเบี้ยเลี้ยง 600 บาท-ค่าที่พัก 300 บาท และในกรณีที่ไม่เก็บตัวค่าเบี้ยเลี้ยง 300 บาท โดยจะเสนอเป็นเงินอุดหนุนให้แก่สมาคมกีฬาเพื่อแจกจ่ายให้แก่นักกีฬา

นอกจากนี้ "บิ๊กจา" พลตรีจารึก อารีราชการัณย์ รองประธานและเลขาธิการคณะกรรมการ โอลิมปิคฯ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ ได้ยกกรณีตัวอย่างของสมาคมยิงปืนที่มีปัญหาเรื่องการคัดเลือกตัวนักกีฬา ว่า "ที่ผ่านมาสมาคมยิงปืนไม่ได้คัดนักกีฬาที่ดีที่สุดของประเทศเข้าร่วมทีมชาติ ทำให้พลาดเหรียญทอง ดังนั้นซีเกมส์ครั้งนี้ขอโอกาสคนมีฝีมือให้ได้รับการคัดเลือกตัวติดทีมชาติ ส่วนปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องภายในของสมาคมฯ ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้องกับประเทศชาติ ทั้งนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ เมื่อได้รับคัดเลือกเป็นทีมชาติแล้วไม่ควรตกที่นั่งเป็นนักกีฬาส่วนเกิน ส่วนขาด อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมการโอลิมปิคได้ร่วมกับ กกท. แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแผนงานของแต่ละสมาคมเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเก็บตัวจนถึงวันสุดท้าย ที่สำคัญอยู่ที่วันคัดเลือกตัวนักกีฬา เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสให้สอดค้องกัน"

ขณะเดียวกัน "บิ๊กต้อม" ธนา ไชยประสิทธิ์ เหรัญญิกของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในฐานะหัวหน้าคณะนักกีฬาไทย กล่าวเตือนการคัดเลือกตัวนักกีฬาว่า "ซีเกมส์ครั้งนี้ไม่เหมือนกับการแข่งขันเหมือนที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้จะเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ อีกทั้งในช่วงที่มีการคัดเลือกตัวนักกีฬาทีมชาติจะมีการวิ่งเต้นกันมาก ดังนั้นขอให้หยุดพฤติกรรมนี้เสีย และอยากให้มีการปรับปรุง พัฒนาผลงานมากกว่า"

ท้ายนี้ "บิ๊กหนุ่ม" กนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า "การแข่งขันกีฬาในนามทีมชาติไทยไม่ว่าจะเป็นมหกรรมกีฬาใด แต่ละสมาคมกีฬาต้องผลักดันนักกีฬาที่มีศักยภาพเข้าร่วมแข่งขัน ดังนั้นในกีฬาซีเกมส์นี้จึงขอเน้นที่กีฬาสากล ให้แต่ละสมาคมฯ ได้เน้นที่นักกีฬาดาวรุ่งด้วยเพราะซีเกมส์เป็นการแข่งขันกีฬาที่เล็กที่สุดในภูมิภาค จึงอยากให้นักกีฬาดาวรุ่งได้ไปทดสอบฝีมือก่อนที่จะพัฒนาให้เป็นนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติในอนาคตได้"
กำลังโหลดความคิดเห็น