สวัสดีครับท่านนักกอล์ฟ และแฟนๆ เว็บไซต์ www.manager.co.th ทุกท่าน …...
ในบทเรียนที่ 48 นี้ เราจะมาคุยกันถึงอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านนักกอล์ฟสามารถพัฒนาการเล่น โดยเฉพาะการสร้างวงสวิงที่ง่ายที่สุดอีกวิธีหนึ่งครับ
วิธีการพัฒนาวงสวิงวิธีนี้จะใช้ได้มากและประสบผลสำเร็จอย่างสูง ถ้าท่านนักกอล์ฟยิ่งมีสมาธิและใส่ใจในรายละเอียด สำหรับวิธีการก็คือ การมอง (Visualization) และ การจินตนาการ (Imagination) ครับ พูดอย่างนี้ท่านนักกอล์ฟอาจสงสัยว่าเท่านั้นเองน่ะหรือ?
ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งครับ ครั้งหนึ่งในสมัยที่ไทเกอร์ วูดส์ ยังเป็นเบบี้อยู่ หรือตอนที่ยังเป็น ด.ช.ไทเกอร์อยู่ คุณพ่อของเขา เอิล์ล วูดส์ ได้พาไทเกอร์มาดูคุณพ่อสร้างวงสวิงให้กับเขา พูดง่ายๆ ครับ คือ ตีกอล์ฟให้ไทเกอร์ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกจนผมเชื่อครับว่าติดตาไทเกอร์น้อย ณ ตอนนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวงสวิงที่ดีของนักกอล์ฟระดับโลกในปัจจุบัน หรือจะยกตัวอย่างง่ายๆ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ลูกชายของผมชอบดูการ์ตูนเรื่องยอดมนุษย์อุลตร้าแมน ทำให้เขาพยายามที่จะเลียนแบบการเคลื่อนไหวของยอดมนุษย์ของเขา เป็นต้นครับ
สัปดาห์นี้ ผมลงมือเขียนคอลัมน์ชิ้นนี้อยู่ที่สนามกอล์ฟอมตะ สปริง คันทรี คลับ จังหวัดชลบุรี ซึ่งกำลังมีการคัดเลือกนักกอล์ฟจากทั่วโลกเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในรายการเมเจอร์นั่นคือ ดิ โอเพน โดยการคัดเลือกครั้งนี้จะคัดเลือกนักกอล์ฟเพียง 4 คน จากกนักกอล์ฟทั้งหมดที่เข้าคัดตัวกว่า 80 คน โดยในส่วนตัวของผมเองก็มีโอกาสได้มาร่วมการฝึกซ้อมกับนักกอล์ฟหลายท่าน โดยเฉพาะลูกศิษย์คนหนึ่งคือ เชิงชาย ปั้นพุ่มโพธิ์
สำหรับเชิงชายเอง เขาก็มีโอกาสสานฝันของเขาในการได้สิทธิ์ในการร่วมคัดเลือกนักกอล์ฟที่เข้าร่วมรายการดิ โอเพ่นครั้งนี้ด้วย โดยในวันฝึกซ้อมเขาได้โอกาสไปออกรอบกับพี่ๆ โปรระดับบิ๊กอย่าง ประหยัด มากแสง, ถาวร วิรัตน์จันทร์, สัตยา ทรัพย์อัประไมย ครับ
จากการที่มีโอกาสได้ร่วมเดินออกรอบ ฝึกซ้อมยอดฝีมือ ทั้งมากประสบการณ์ทำให้เราเก็บเกี่ยวอะไรจากการศึกษาการเล่นของเขาได้มาก เช่น ลูกสั้นของ “โปรเล็ก” นั้นเหนือชั้นเกินคำบรรยาย ระยะการตีของ “โปรเจ็ท” ก็ไกลเหลือเกิน และที่ผมชอบมากเป็นการส่วนตัวก็คือจังหวะการตีหรือสวิงเทมโปของ “โปรหมาย” ที่ราบลื่น เรียบง่าย นุ่มนวล แต่แฝงไวด้วยพลังอันมหาศาลที่สามารถนำออกมาใช้งานได้ในทันที เป็นต้น
หลังจากผมได้ร่วมฝึกซ้อมกับลูกศิษย์แล้วทำให้ตัวเองเกิดแรงขับดัน อยากฝึกซ้อมโดยใช้จังหวะการสวิงที่เห็นแบบติดตามาใช้ ค่อยๆ สร้างมโนภาพหรือจินตนาการให้เกิดเป็นอย่างภาพที่เราเห็น จากนั้นก็ค่อยๆ จัดการกับร่างกายเราให้เคลื่อนไหวตามนั้น ผลที่ออกมาในหลายครั้งอาจจะไม่เป๊ะแต่ก็ใกล้เคียง โดยสรุปผมเห็นว่าสามารถใช้ได้ดีมากครับ ดังนั้นในบทเรียนนี้ผมจึงขออนุญาตแนะนำท่านนักกอล์ฟให้ลองใช้วิธีการนี้ไปพัฒนาวงสวิงของท่านบ้าง ข้อดีก็คือทำให้ท่านนักกอล์ฟลืมเรื่องถูกหรือผิดออกไป แล้วทำให้วงสวิงสามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระมากขึ้น
แล้วสัปดาห์หน้ากลับมาเจอกันใหม่ สวัสดีครับ ขอให้ท่านนักกอล์ฟฝึกซ้อมและออกรอบอย่างสนุกสนานครับ
คลิปทีออฟของประหยัด มากแสง ระหว่างการฝึกซ้อมใน 2009 CA Championship (คลิปจาก Youtube)
“โปรเอก” ม.ล.โอรัส เทวกุล, Certified Golf Teaching Professional
Email :orusjaa@yahoo.com