ASTVผู้จัดการรายวัน - หลังที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา เห็นชอบในหลักการว่าจะให้ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2030 โดยจะมีการพิจารณาแผนงานอีกครั้งในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ณ ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเบื้องต้น นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เชื่อว่าชาติอาเซียนมีศักยภาพเพียงพอในการขอรับหน้าเสื่อ
ทั้งนี้ “บังยี” ในฐานะคณะกรรมการบริหารของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) กล่าวว่าหากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้รับเรื่องจากที่ประชุมก็พร้อมรับหน้าที่ประสานงานลงไปดูในรายละเอียดให้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเป็นเจ้าภาพร่วมกันทั้งหมด 10 ชาติ หรือเป็นเจ้าภาพเพียงในนามโดยใช้สนามบางชาติ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ซับซ้อน แต่เชื่อว่าอีก 19 ปีข้างหน้าวงการฟุตบอลอาเซียนคงพัฒนาขึ้นไปอีกมากจนมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพ
ทว่า ทันทีที่มีการเปิดประเด็นนี้ขึ้นมาก็มีการแสดงความคิดเห็นแตกแขนงออกไปทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดย อรรณพ สิงห์โตทอง ผู้จัดการทั่วไปของทีมชลบุรี เอฟซี มองถึงโปรเจ็กท์ยักษ์ชิ้นนี้ว่า “ผมคิดว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมหาศาลตั้งแต่ทำโครงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ วิ่งเต้นล็อบบี สร้างสนามที่ได้มาตรฐาน รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ไว้รองรับการแข่งขัน ซึ่งตอนนี้เราควรที่จะนำงบดังกล่าวมาพัฒนาวงการฟุตบอลภายในประเทศ ทั้งการพัฒนาผู้เล่นระดับเยาวชน, โค้ช, ผู้ตัดสิน ตลอดจนการบริหารจัดการให้ดีขึ้นก่อน”
นอกจากนั้น คนโตแห่งเมืองชลยังพูดถึงการจัดสรรโควตาไปลุยบอลโลกอีกว่า “สมมุติว่าเราเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ 4 ชาติเท่ากับว่าแทบจะเบียดบังโควตาของทวีปเอเชียเกือบทั้งหมด (ปัจจุบันได้โควตา 4.5 ทีม ทีมหนึ่งไปเตะเพลย์ออฟ) หรือถ้าได้โควตาเพียง 2 ชาติ อีก 2 ชาติที่เหลือก็คงไม่ยอมง่ายๆ เพราะใครที่ได้สิทธิ์จัดฟุตบอลโลกก็ย่อมอยากให้ทีมชาติของตัวเองได้ลงแข่งขัน”
ส่วนนายพิพัฒน์ วราเมธพิพัฒน์ ตัวแทนกลุ่มผู้สนับสนุนฟุตบอลไทยเผยถึงมุมมองของตนว่า “แม้การเป็นเจ้าภาพจะเป็นใบเบิกทางให้เราได้เล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย แต่ในฐานะแฟนบอลก็ไม่อยากให้ ไทย เป็นแบบ กาตาร์ ที่ยังไม่เคยได้ไปเล่นแต่กลับได้จัดฟุตบอลโลก หากผ่านรอบคัดเลือกได้ด้วยตัวเองดูจะมีความน่าภูมิใจมากกว่า ขณะเดียวกันเราต้องย้อนกลับมาดูวงการฟุตบอลไทยในปัจจุบันว่ามีความพร้อมที่จะก้าวไปถึงขั้นนั้นแล้วหรือยัง”
จากนั้นนายพิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า “สิ่งแรกที่เราต้องพร้อมคือสนามแข่งขัน แต่ตอนนี้หลายสนามในไทยพรีเมียร์ลีก หรือ ดิวิชัน 1 ยังมีไฟที่สว่างไม่พอเตะในเวลา 18.00 น. ได้ ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ผมจึงยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่เราจะทุ่มงบประมาณที่ควรนำมาพัฒนาผู้เล่นเยาวชนอายุ 14-15 ปี หรือยกระดับการบริหารจัดการไปใช้กับเรื่องที่ไกลเกินตัว มันก็เหมือนกับพนักงานมีเงินเดือน 20,000 บาท แต่อยากอยู่คฤหาสน์ราคา 100 ล้านบาท เราต้องพัฒนาในระดับจุลภาคให้มั่นคงก่อนแล้วจึงค่อยไปสู่ระดับมหภาค”
ขณะที่ นายองอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า “สิ่งที่เราต้องเสนอเป็นลำดับแรกคือสนามแข่งขันประมาณ 8 สนาม โดยสนามที่จะใช้จัดพิธีเปิด-ปิดการแข่งขันต้องมีความจุราว 80,000-90,000 คน ส่วนสนามอื่นๆ ต้องจุประมาณ 40,000 คน ซึ่งเรื่องนี้ต้องชี้แจงให้ที่ประชุมอาเซียนซัมมิทได้รับทราบก่อนว่ามีมติเห็นชอบหรือไม่ ก่อนลงนามทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนที่สมาคมฯ จะร่วมดำเนินการยื่นข้อเสนอให้กับฟีฟา”
ในส่วนของกระบวนการยื่นข้อเสนอ (Bidding) “บิ๊กเปี๊ยก” กล่าวถึง “บังยี” ซึ่งเป็นฟีฟาเมมเบอร์ว่า “คุณวรวีร์ เป็นกรรมการที่มีเสียงในฟีฟา ซึ่งรู้กระบวนการบิดดิงเป็นอย่างดีว่าตามแนวทางปฏิบัติของฟีฟาพอจะมีลู่ทางใดบ้างที่จะขอเป็นเจ้าภาพร่วมกันหลายชาติ เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีเจ้าภาพร่วมกันเกินกว่า 3 ชาติ ดังนั้นจึงน่าจะช่วยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับที่ประชุมอาเซียนได้ และหากชาติอาเซียนได้เป็นเจ้าภาพก็จะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค การเติบโตด้านเศรษฐกิจ, สังคม และที่สำคัญก็คือการพัฒนาด้านฟุตบอล แม้จะโครงการนี้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้โดยเราต้องทำอะไรบางอย่างให้เขาเห็นก่อน เพราะการตัดสินขึ้นอยู่กับบอร์ดฟีฟาทั้ง 24 คน”