xs
xsm
sm
md
lg

สโมสรร่วมหนุนเพิ่มทีมไทยลีก "ดร.วิชิต" ชี้จดทะเบียนก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง แนะลีกเพิ่มทีมต้องได้รับความร่วมมือจากสโมสร
บรรดาสโมสรส่วนใหญ่ในศึกไทยพรีเมียร์ลีก เห็นพ้องต้องกันว่าควรเพิ่มจำนวนทีมให้มากว่า 16 ทีม ด้าน ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานใหญ่ไทยลีกไม่ขัดข้อง แต่มีข้อแม้ว่าทุกทีมในทุกดิวิชันจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเสียก่อน ขณะที่ พีระ ฟองดาวิรัตน์ รองผู้ว่ากกท.เชื่อฟุตบอลไทยเป็นอาชีพอย่างมั่นคงภายใน 5 ปี

เมื่อเวลา 13.15-18.00 น. ของวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีงานสัมมนาเรื่องสรุปผลการดำเนินงานและแนวทางในการพัฒนาการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพของประเทศไทย ประจำปี 2552 ณ โรงแรมพาวิเลียน ริมแคว รีสอร์ท ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

โดยในช่วงต้นของการประชุม นายพีระ ฟองดาวิรัตน์ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ฝ่ายกีฬาอาชีพและสิทธิประโยชน์ ได้ชี้แจงผลสรุปของการแข่งขันในฤดูกาลที่ผ่านมา รวมถึงแถลงนโยบายเพื่อการพัฒนากีฬาอาชีพของ กกท. ซึ่งก็ได้เปิดเผยเงินทุนสนับสนุนฟุตบอลลีกอาชีพทุกระดับในปีงบประมาณ 2553 ว่ามีสูงถึง 210 ล้านบาท จากเดิมที่ในปีงบประมาณ 2552 มีเพียง 70 ล้านบาทเท่านั้น

สำหรับนโยบายเพื่อการพัฒนากีฬาอาชีพของ กกท. ภายใต้งบสนับสนุนจำนวนดังกล่าว นายพีระ อธิบายว่ามีทั้งแผนระยะสั้น 1-3 ปี และ แผนระยะยาว 5 ปีอันเป็นช่วงเวลาที่คาดว่าฟุตบอลลีกอาชีพของไทยจะสามารถเติบโตจนมั่นคงอย่างยั่งยืนได้

ในส่วนของแผนระยะสั้นจะเน้นไปที่การจัดระบบการบริหารจัดการแบบสากลพร้อมทั้งสร้างความนิยมในกีฬา ทั้งในส่วนของสโมสรและฝ่ายจัดการแข่งขัน ซึ่งแต่ละทีมจะต้องปฏิรูประบบจัดการบริหารให้เป็นแบบมืออาชีพ เน้นการดำเนินการเชิงธุรกิจ และมีแผนพัฒนาสโมสรอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับปรุงสนามให้ได้มาตรฐานของ สหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) ภายใต้ระบบการพัฒนา 6 ระบบ ได้แก่
1.ระบบฐานข้อมูลกีฬาอาชีพ
2.ระบบการบริหารจัดการกีฬาอาชีพ
3.ระบบสวัสดิการนักกีฬาและบุคลากรกีฬา
4.ระบบจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพ
5.ระบบการเงินและสิทธิประโยชน์
6.ระบบการประชาสัมพันธ์และสร้างแฟนคลับ

ขณะที่ฝ่ายจัดการแข่งขันที่แบ่งผู้ดูแล ไทยพรีเมียร์ลีก กับ ดิวิชัน 1 แยกออกจากลีกภูมิภาค (ดิวิชัน 2) ก็เสนอให้ควบรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อความเป็นเอกภาพ, จัดตั้งสมาคมผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพเป็นนิติบุคคล เพื่อผลักดันให้เกิดระบบผู้ตัดสินอาชีพที่จะมีการประเมินการทำหน้าที่ในแต่ละนัด ส่งผลต่อการจัดเกรดของสิงห์เชิ้ตดำและกำหนดค่าตอบแทนในแต่ละเกรดลดหลั่นกันไปตามลำดับ

พร้อมกันนี้ กกท. ยังเผยอีกว่าเตรียมจัดตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรกีฬาอาชีพสำหรับ 12 ชนิดกีฬารวมถึงฟุตบอลด้วยขึ้นที่อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ภายใต้งบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อให้บุคคลที่ประกอบอาชีพในวงการกีฬาสามารถทำงานในระดับสากลได้ ยกตัวอย่างเช่น หากนักเตะมีปัญหาเรื่องสื่อสารภาษาอังกฤษแต่ต้องการไปค้าแข้งในต่างแดน ทางศูนย์ก็จะจัดให้มีครูมาช่วยสอนทักษะทางภาษาให้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมการให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนากีฬาอาชีพ โดยในส่วนของสโมสรฟุตบอลที่เป็นทีมจังหวัดจะได้รับงบอุดหนุน 1 ล้านบาท ซึ่งในหนึ่งจังหวัดอาจมีทีมมากกว่า 1 ทีมได้ และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนสนใจกีฬามากขึ้น โดยจะวางให้วันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์เป็นวันกีฬา (sports day) พร้อมทั้งอนุญาตให้เข้ามาใช้สนามที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กกท.เพื่อเล่นกีฬาได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และให้ทีมลูกหนังทำกิจกรรมร่วมกับคนทั่วไป อาทิ การเปิดคลินิกสอนฟุตบอล

จากนั้น ดร.วิจิตร เกตุแก้ว นายกสภากรรมการกิตติมศักดิ์ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ก็ขึ้นมาพูดถึงวาระเกี่ยวกับผู้ตัดสินว่าควรยกระดับให้เป็นมืออาชีพ หากพบหลักฐานว่าใครมีเจตนาเป่าลำเอียง ไม่เป็นกลาง หรือรับสินบนก็จะถูกลงโทษโดยขั้นร้ายแรงที่สุด คือ การถอดชื่อออกจากการเป็นผู้ตัดสิน รวมถึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนทั้ง 16 สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีกและดิวิชัน 1 ที่มาร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลลีกอาชีพในอนาคต

ซึ่ง ทีโอที เอฟซี, จุฬา ยูไนเต็ด, โอสถสภา เอ็ม-150 สระบุรี, ชลบุรี เอฟซี, นครปฐม เอฟซี และ แบงค็อก ยูไนเต็ด ออกมาพร้อมใจกันเสนอไอเดียให้เพิ่มจำนวนทีมในศึกไทยพรีเมียร์ลีกขึ้นจาก 16 ทีมในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากแมตช์แข่งขันในแต่ละสัปดาห์ นำไปดำเนินกิจการต่างๆ ของสโมสร อาทิ การจ่ายค่าจ้างให้นักเตะ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับชุมชนจากการมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของหน้าสนามในวันแข่งขัน โดย อาคม สมุทรโคจร ผู้ช่วยผู้จัดการทีมแบงค็อก ได้เสริมถึงเรื่องลดโควตานักเตะต่างชาติที่สามารถส่งลงเล่นได้ 5 คนลงบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นท้องถิ่นได้แจ้งเกิดและเป็นรากฐานสำคัญของทีมชาติในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตาม ชาญวิทย์ ผลชีวิน ประธานผู้ฝึกสอนฟุตบอลแห่งประเทศไทยยอมรับว่าเห็นด้วยในหลักการ แต่ได้แย้งขึ้นมาว่าคงจะดำเนินการในทันทีไม่ได้ เพราะต้องศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อน ว่าควรจะให้มีทีมเลื่อนชั้นและทีมตกชั้นกี่ทีมจึงจะเหมาะสม ส่วนเรื่องโควตานักเตะต่างชาติ 5 คนนั้น “โค้ชหรั่ง” มองว่ามีข้อดีคือเป็นสีสันของวงการฟุตบอลบ้านเรา และถ้าฝีเท้าดีจริงก็เป็นความท้าทายในการเผชิญหน้าของแข้งไทย รวมถึงต้นสังกัดก็จะได้ประโยชน์ในแง่ผลงานของทีม ทว่าเป็นการปิดกั้นโอกาสบรรดาดาวรุ่งท้องถิ่น ซึ่งเสนอให้นำ 2 เรื่องนี้เข้าที่ประชุมในคราวต่อไป

ด้าน ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด กล่าวว่า “การเพิ่มทีมใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องจัดวางรูปแบบของระบบลีกทั้งระบบให้ลงตัวก่อนแล้วจึงค่อยนำมาร่างกฎระเบียบการแข่งขันต่อไป รวมถึงผ่านมติเห็นชอบของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสมาคมฟุตบอลและ กกท. ที่สำคัญหากฝ่ายจัดอย่างเราเพิ่มทีมแล้ว สโมสรก็ต้องให้ความร่วมมือด้วยการจดทะเบียนบริษัทให้ถูกต้อง เพราะถ้าปรับให้เลื่อนชั้นขึ้นมาแล้วยังมีสถานะเป็นสมาคมกีฬาอยู่ก็จะมีปัญหาในการเข้าร่วมลีก ในเมื่อต้องมีการปรับทั้งระบบแล้วผมคิดว่าทุกทีมก็ควรจะดำเนินการให้เป็นนิติบุคคลด้วย”
บรรยากาศการประชุมกลุ่มย่อยของคณะกรรมการผู้ตัดสินและผู้ควบคุมการแข่งขัน
ตัวแทนสโมสรหารือร่วมกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น