xs
xsm
sm
md
lg

หูตึงเพราะตีกอล์ฟ / วันปีย์ สัจจมาร์ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ "The Golf Touch" โดย "วันปีย์ สัจจมาร์ค"

นอกจากจะร่วมแข่งขันอย่างเข้มข้นใน ดิโอเพ่น แชมเปี้ยนชิปที่ผ่านมา และเข้าร่วมกิจกรรมกับบรรดาสปอนเซอร์ทั้งหลายแล้ว มีโปรจำนวนหนึ่งที่น่าจะร่วมทำกิจกรรมการวิจัยทางการแพทย์ร่วมกับคุณหมอ มัลคัม บิวแคนน่อน และทีมงานจาก Norfolk and Norwich University Hospital ในอังกฤษ เรื่องประสิทธิภาพการทำงานด้านประสาทหูของบรรดานักกอล์ฟอาชีพ

คุณหมอมัลคั่มเป็นนักกอล์ฟ และเป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้าน หู คอ จมูก ที่สนใจการทำวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติม หลังจากที่เขาได้พบกับคนไข้รายหนึ่งวัย 55ปี ที่มีปัญหาหูตึง

ฟังดูแล้วน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้ตามวัย แต่หลังจากการตรวจและทดสอบประสาทหูแล้วพบว่าประสิทธิภาพการได้ยินในหูด้านขวาของคนไข้ ด้อยกว่าข้างซ้ายพอสมควรในระดับกว่า 10 เดซิเบล(dB) ในช่วงความถี่ 4-6 kHz.เมื่อเทียบกับช่วงความถี่ 1-2 kHz. ซึ่งไม่น่าเกิดตามวัย แต่ไปสอดคล้องกับอาการของคนที่มีอาชีพอยู่กับระดับเสียงที่ทำลายประสาทหู เช่น ดีเจ หรือนักกีฬายิงปืน

แปลกที่ว่าเป็นข้างเดียว ชีวิตประจำวัน และอาชีพของคนไข้ก็ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ใกล้ความเสี่ยงของเสียงหรือสารเคมีแต่อย่างใด อาจจะเป็นโชคดีที่คุณหมอเป็นนักกอล์ฟเพราะหลังจากที่คุยไปคุยมา พบว่าคนไข้บ่นเรื่องเกี่ยวกับเสียงอยู่ เรื่องเดียวคือเสียงอิมแพค ของไดร์ฟเวอร์ ตัวใหม่หัวไทเทเนี่ยมของเค้า คนไข้บอกว่าทนตีอยู่ 18เดือนจนทนไม่ไหว รำคาญเสียงมากตอนนี้ขายไปแล้ว

คุณหมอมัลคั่มเลยเริ่มมีอาการสงสัยและได้นำทีมทำการทดสอบ เสียงอิมแพคของไดร์ฟเวอร์ วัดระยะห่างจากหูขวาของคนไข้ถึงจุดอิมแพคได้ 1.7เมตร คุณหมอก็เลยให้โปรตีไดร์ฟเวอร์ยี่ห้อละ 3 ลูก แล้ววางอุปกรณ์วัดระดับเสียงห่างจากจุดอิมแพค 1.7เมตร โดยใช้ไดร์ฟเวอร์หัวไทเทเนี่ยมหน้าบางรุ่นใหม่ๆ 5 ยี่ห้อ และหัวรุ่นเก่าหน้า stainless steel 6ยี่ห้อ ผลปรากฎว่า ไม้ไทเทเนี่ยมรุ่นใหม่หน้าบางทุกตัว ส่งระดับเสียงที่สูงกว่าไม้รุ่นเก่าทุกตัว แต่ที่แย่ก็คือสูงกว่าระดับความปลอดภัยของประสาทหูที่ 85 เดซิเบล(dB) ด้วยเช่นกัน บางยี่ห้อสูงถึง 130 เดซิเบล(dB) ซึ่งเทียบเท่าความดังของการยิงปืน

สรุปว่าถ้าซ้อมหนักหรือใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน เจ้าไม้หน้าเด้งและ Non Conform เกิน COR 0.83 ทั้งหลาย ทำให้ประสาทหูเสื่อมได้ ผมไม่อยากทำร้ายผู้นำเข้าอุปกรณ์บ้านเรา เลยเจตนาไม่เขียนชื่อยี่ห้อ แต่คุณหมอบอกยี่ห้อและรุ่นหัวไม้ในการทดสอบชัดเจน ใครอยากทราบไปสืบต่อเอาเองใน British Medical Journal (Ref. BMJ2008;337:a2835) นะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น