xs
xsm
sm
md
lg

ลัทธิล่าอาณานิคมยุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

ลัทธิล่าอาณานิคมโดยมหาอำนาจตะวันตก เป็นลัทธิที่พยายามหาความชอบธรรมจากศาสนา โดยกล่าวว่าเป็นภารกิจอันสำคัญที่ได้รับมอบจากพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยไถ่บาปวิญญาณของผู้ซึ่งไม่ยอมรับพระผู้เป็นเจ้า แต่เลนินได้กล่าวว่า ลัทธิล่าอาณานิคมที่มหาอำนาจตะวันตกยกทัพไปบุกประเทศที่อ่อนแอกว่าและปกครองแบบเมืองขึ้นนั้นเกิดจากลัทธิเศรษฐกิจทุนนิยมที่พัฒนาสูงสุด มีความจำเป็นต้องหาดินแดนใหม่เพื่อหาตลาด วัตถุดิบ และค่าแรงที่ต่ำกว่า ลัทธิล่าอาณานิคมจึงเป็นจุดพัฒนาสูงสุดของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

อีกมุมมองหนึ่งมองว่า ความสำเร็จของลัทธิล่าอาณานิคมเกิดจาก 3 ตัวแปรคือ ปืน (gun) เสื้อเกราะเหล็ก (steel) และเชื้อโรค (germ) การมีอาวุธที่เป็นปืนไฟทำให้มีอำนาจเหนือคนท้องถิ่นอื่นที่มีแต่หอก ธนูและดาบเป็นอาวุธ ซึ่งไม่สามารถจะเจาะเสื้อเกราะได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ชาวท้องถิ่นทวีปละตินอเมริกาไม่สามารถต่อสู้กับทหารสเปนและโปรตุเกสที่ใส่เสื้อเกราะ นอกจากปืนและเสื้อเกราะแล้วชาวตะวันตกจำนวนไม่น้อยก็นำเชื้อโรคมาเผยแพร่จนเกิดการเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในหมู่คนท้องถิ่น ทำให้ลดจำนวนประชากรในระดับหนึ่ง แต่กลับกัน ผู้บุกรุกก็เจอกับเชื้อโรคต่างพื้นที่เช่นเดียวกัน

ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ลัทธิล่าอาณานิคมเกิดจากความไม่เท่าเทียมของอำนาจ (disparity of power) ประเทศที่มีอำนาจทางทหาร มีการจัดตั้ง และมีอาวุธที่เหนือกว่า ย่อมจะมีอำนาจมากกว่าประเทศที่อ่อนแอในโครงสร้างสังคม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนไฟและเรือกลไฟอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายใต้ระบบทุนนิยม จึงไม่สามารถจะต่อต้านกับมหาอำนาจได้ ประเทศมหาอำนาจก็หาเหตุในการอ้างเพื่อขยายอาณาเขตของตัวโดยอ้างศาสนาดังที่กล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกันก็อ้างความจำเป็นในการจัดระเบียบโลกเพื่อให้ประชาชนได้พัฒนา รวมทั้งมีการติดต่อค้าขายตามครรลองที่ควรจะเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของมหาอำนาจตะวันตกสมัยนั้น ก็คือการอ้างความเหนือกว่าทางอารยธรรมและศีลธรรม

ขณะเดียวกันก็มีเรือกลไฟซึ่งติดปืนใหญ่ รวมทั้งปืนสับนกและเสื้อเกราะ ผนวกกับการจัดตั้งกองทหารที่มีลักษณะเป็นทหารอาชีพ ทำให้การต่อสู้ภาคพื้นดินและปืนที่ยิงมาจากเรือสามารถสยบการต่อต้านได้ การเจรจาต่อรองจะเกิดขึ้นจากความไม่เสมอภาค โดยฝ่ายที่มีกำลังมากกว่าใช้วิธีข่มขู่ว่าจะใช้กำลังเข้าโจมตี ที่สำคัญที่สุดคือการใช้นโยบายการทูตแบบเรือปืน (gun boat diplomacy) และนี่คือสิ่งที่ประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกาได้เผชิญมาในยุคล่าอาณานิคม ไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานอันได้แก่ ประเทศจีนและอินเดีย อินเดียนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและถูกปกครองประมาณสามศตวรรษ

ส่วนจีนนั้นแม้จะไม่เป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจตะวันตกแต่ก็มีลักษณะกึ่งเมืองขึ้นเพราะมีเขตเช่าให้กับมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และในบั้นปลายของประวัติศาสตร์ของยุคล่าอาณานิคมก็มีญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย ทำให้เกิดหนึ่งศตวรรษของการเสียศักดิ์ศรีในประวัติศาสตร์จีน

ในกรณีของประเทศไทยนั้นจากการคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก อันได้แก่ ฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งมุ่งเน้นในการเอาประเทศในอุษาคเนย์เป็นเมืองขึ้น และท่ามกลางภยันตรายต่างๆ นั้นราชอาณาจักรสยามซึ่งโชคดีมีกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในทางการทูต และมีพระเนตรอันยาวไกล ทำให้สามารถหลุดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกาไปได้ โดยการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ที่สำคัญคือในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบต่อโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยนด้วยการสูญเสียดินแดนให้กับมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฝรั่งเศส ยอมรับความขมขื่นจากการถูกคุกคามกดขี่จากผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า เนื่องจากการมีระดับการพัฒนาอาวุธในการสู้รบที่เหนือกว่า

ข้อเรียกร้องหลายข้อมีลักษณะของนักเลงหัวไม้โดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม ทำนองเดียวกับหมาป่ากับลูกแกะ ส่งผลถึงการสูญเสียดินแดนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับเอกราชของชาติ และผลพวงของการสูญเสียดินแดนและการเข้ามายุ่มย่ามของมหาอำนาจตะวันตกในลักษณะนักเลงหัวไม้ ทำให้มีผลต่อเนื่องแม้เมื่อไม่นานมานี้คือ พ.ศ. 2505 ในกรณีเขาพระวิหาร ผลจากกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชามาในปัจจุบัน สถิติการสูญเสียดินแดนของประเทศไทยนั้นโดยสังเขปสรุปได้ดังนี้ คือ

1. พ.ศ. 2329 อังกฤษยึดเกาะหมาก อันปฐมบทของการเสียดินแดนของไทย

2. พ.ศ. 2369 ไทยเสียเปรัคตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเบอร์นี

3. พ.ศ. 2398 สนธิสัญญาเบาริงและการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของไทย

4. พ.ศ. 2410 เสียเขมรส่วนนอก เมื่อเจ้ากรุงกัมพูชาทำสัญญายอมเป็นรัฐอารักขาของฝรั่งเศส

5. พ.ศ. 2431 ไทยเผชิญศึกฮ่อ ฝรั่งเศสฉวยโอกาสยึดแคว้นหัวพันห้าทั้งหกและสิบสองจุไทไปจากไทย

6. พ.ศ. 2435 ไทยเสียหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกะเหรี่ยงตะวันออกให้แก่อังกฤษ

7. พ.ศ. 2436 เหตุการณ์ ร.ศ.112 ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด

8. พ.ศ. 2446 ไทยเสียดินแดนฝั่งขวาบางส่วนให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกกับจันทบูร

9. พ.ศ. 2449 ไทยเสียมณฑลเขมร (ศรีโสภณ พระตะบอง และเสียมราบ) เพื่อแลกกับด่านซ้ายและตราด

10. พ.ศ. 2451 ไทยเสียรัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษ

11. พ.ศ. 2505 ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา

ข้อที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ลัทธิล่าอาณานิคมแบบที่กล่าวมาข้างบนนี้คือระบบอาณานิคมแบบปกครองบริหาร หลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มีทุนการศึกษาให้คนจากประเทศต่างๆ ไปศึกษาในประเทศมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งในแง่หนึ่งก็ได้เปิดโอกาสให้มีการหลั่งไหลเข้าไปหาความรู้ วิทยาการต่างๆ ตั้งแต่ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง จากการศึกษาดังกล่าวนั้นส่งผลในทางบวกก็คือทำให้มีการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอันเป็นความรู้ที่ได้จากการศึกษาในประเทศต่างๆ เหล่านั้น และเป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ขบวนการชาตินิยม มีขบวนการกู้ชาติกู้เอกราชด้วยการขับไล่มหาอำนาจตะวันตกเพื่อได้เอกราชและสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค

แต่ผลในทางลบก็คือ ผู้จบการศึกษาจากประเทศต่างๆ เหล่านี้จำนวนไม่น้อยมีวิธีคิด ทัศนคติ และใช้ความรู้ที่เรียนมาโดยหยิบทฤษฎีมาใช้ทั้งดุ้น เสมือนหนึ่งเอาสัจธรรมคำสอนทางศาสนามาจากคัมภีร์ จนนำไปสู่สภาพของการตกเป็นเมืองขึ้นแบบใหม่ คือ อาณานิคมทางปัญญา จนมีนักเขียนคนแอฟริกันคนหนึ่งกล่าวว่า ในการประชุมของคนแอฟริกันซึ่งเป็นผู้นำของประเทศต่างๆ ในแอฟริกานั้น ขณะที่เจรจาแม้ผู้พูดจะมีผิวดำแต่สำเนียงที่พูดออกมา โครงสร้างภาษาที่ใช้ ระบบความคิดและตรรกก็คือคนอังกฤษ คนฝรั่งเศส คนเยอรมัน คนเบลเยียม หรือเจ้าอาณานิคมเก่านั่นเอง

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การตกเป็นเมืองขึ้นทางภูมิปัญญา นำไปสู่การตกเป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจโดยไม่รู้ตัว ดังจะเห็นได้ชัดจากสาขาวิชาสังคมศาสตร์ 2 สาขา สาขาแรกคือ เศรษฐศาสตร์ หลายคนมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจทุนนิยมหรือตลาดคือทางออกที่ดีที่สุด จนครั้งเมื่อมีวิกฤตต้มยำกุ้งมาเลเซียไม่ยอมปล่อยอัตราการแลกเปลี่ยนลอยตัว

นักเศรษฐศาสตร์ผู้หนึ่งกล่าวว่าผิดหลักเศรษฐศาสตร์ มาเลเซียต้องล้มภายใน 6 เดือน ซึ่งผิดอย่างมหันต์ และจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบผสมผสานแบบจีนคือ ทุนนิยมซึ่งควบคุมโดยรัฐในนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ผสมผสานกับระบบการเมืองที่มีเสรีภาพส่วนบุคคล แต่อาจไม่มีสิทธิเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ก็เป็นระบบที่เหมาะสมกับประเทศจีน นักเศรษฐศาสตร์ที่จบจากสหรัฐฯ และยุโรปมีความคิดแนวเดียวกันหมดโดยไม่คำนึงถึงสภาวะที่แตกต่างของสังคมและระเบียบทางเศรษฐกิจที่มหาอำนาจตะวันตกเอารัดเอาเปรียบประเทศที่ยากจน

สาขาบริหารรัฐกิจ หยิบยกเอาวิธีการบริหารรัฐกิจของสหรัฐฯ หรืออังกฤษซึ่งระบบการเมืองมีการพัฒนาจนมีเสถียรภาพ การบริหารรัฐกิจจึงตั้งอยู่บนฐานของสภาพแวดล้อมทางการเมืองดังกล่าว จุดเน้นจึงอยู่ที่องค์กรการบริหาร แต่ในกรณีประเทศไทยระบบการบริหารแบบใหม่ขึ้นอยู่กับตัวแปรทางการเมือง การมีหลักสูตรบริหารรัฐกิจที่ไม่สอนการเมืองไทยจึงเป็นการมองเป้าผิดอย่างมหาศาล ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ร่างหลักสูตรหยิบวิธีการเรียนการสอนของประเทศดังกล่าวมาทั้งดุ้นโดยไม่คำนึงถึงตัวแปรอื่น จึงทำการสอนแบบแปลจากตำราภาษาอังกฤษในลักษณะของอาจารย์คาราโอเกะ

ประเทศกำลังพัฒนาต้องหยุดคิดคำนึงถึงผลเสียของลัทธิเอาอย่างหรือการหยิบทฤษฎีมาทั้งดุ้นเสมือนหนึ่งเป็นคัมภีร์ในศาสนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนและเพื่อเตรียมตัวต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมทางปัญญาและเศรษฐกิจต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น