ข่าวใหญ่จากออลอิงแลนด์เทนนิสคลับ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาสำหรับสื่อในต่างประเทศคือชัยชนะสมัยที่ 3ในแกรนด์สแลมรายการวิมเบิลดัน ของเซเรน่า วิลเลี่ยมส์ แต่สำหรับชาวไทย ชัยชนะบนสนามที่แข่งคู่ขนานกันประเภทเยาวชนหญิงเดี่ยว นพวรรณ เลิศชีวกานต์ ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้นบนคอร์ตหนึ่งของวิมเบิลดันครั้งที่ 123 เมื่อสาวน้อยวัย 17 ปีจากเชียงใหม่พิชิตคู่ต่อสู้ชาวฝรั่งเศส กลายเป็นนักเทนนิสเยาวชนหญิงไทยคนแรกที่คว้าแชมป์มาครอง และนับเป็นความสำเร็จที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นสำคัญบนเส้นทางนักเทนนิสหญิงอาชีพของนพวรรณ เลิศชีวกานต์ ในฤดูกาลหน้า
ผลงานชิ้นโบว์แดงในฐานะเยาวชนที่ปีนี้นับเป็นปีสุดท้ายของนพวรรณ นับว่าเป็นการทิ้งท้ายเพื่อเริ่มต้นในฐานะนักเทนนิสอาชีพได้งดงามยิ่ง ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการวางแผนของ ฌัคส์ คริส โค้ชคู่บุญของ นพวรรณ ที่ผลักดันให้สาวน้อยวัยทีนชาวไทยมุ่งมั่นให้เต็มที่กับการแข่งขันในระดับแกรนด์สแลม เห็นได้จากความมุ่งมั่นของน้องนก ที่สู้จนได้แชมป์เฟรนช์ โอเพ่นประเภทเยาวชนหญิงคู่มาครองอันเป็นการสร้างความมั่นใจให้เธอมากขึ้นเมื่อลงทำการแข่งขันในแกรนด์สแลมบนคอร์ตหญ้าที่ปี 2008 เธอคว้าตำแหน่งรองแชมป์ในระดับเยาวชน และในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งเมื่อขึ้นไปครองตำแหน่งแชมป์ได้สำเร็จในประเภทหญิงเดี่ยว
นอกจากการวางแผนของ โค้ช ฌัคส์ คริส แล้วรูปแบบการเล่นของนพวรรณ ที่ "ไมเคิล เบิร์ก" นักวิเคราะห์เกมประจำเว็บไซต์วิมเบิลดัน ที่กล่าวชื่นชมสาวน้อยชาวไทยว่ากลับลงสู่สนามวิมเบิลดันในครั้งนี้ด้วยสไตล์การเล่นที่เปี่ยมไปด้วยพลังโดยบรรยายว่า "นพวรรณ กลับคืนสู่สนามวิมเบิลดันระดับเยาวชนอีกครั้งด้วยสไตล์การเล่นที่แตกต่างจากเมื่อปีที่แล้วไม่ว่าจะเป็นการยิงลูกวินเนอร์ที่แม่นยำ เกมเสิร์ฟที่หนักหน่วง รวมไปถึงลูกโฟร์แฮนด์อันทรงพลังทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงในสาวน้อยชาวไทยรายนี้จนทำให้เธอสามารถคว้าแชมป์เยาวชนวิมเบิลดันเหนือคู่แข่งจากฝรั่งเศสอย่าง คริสติน่า มลาเดโนวิกได้สำเร็จหลังจากที่เมื่อปีก่อนเธอได้ตำแหน่งรองชนะเลิศหลังพ่ายแพ้ให้กับ นักเทนนิสยาวชนหญิงจากอังกฤษอย่าง ลอร่า รอบสัน"
นพวรรณที่เอาชนะ คู่แข่งมาด้วยสกอร์ 2-1 เซต กล่าวถึงผลงานของตนเองในห้องแถลงข่าวที่ออลอิงแลนด์ว่า "ตอนที่แพ้ในเซตแรก คิดว่าตนเองอาจจะต้องครองตำแหน่งรองแชมป์เหมือนปีที่แล้วแต่ก็ไม่ได้กดดันอะไรมาก เมื่อลงสู้ในเซตที่สองก็ตั้งใจทำผลงานให้ดีที่สุดจนกระทั่งโอกาสกลับมาเป็นของเรา จนสามารถคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ ซึ่งชัยชนะในครั้งนี้นก ขอมอบให้กับชาวไทยทั้งประเทศ
ชัยชนะของสาวน้อยวัย 17 ปีจากเชียงใหม่ นับว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่งของวงการเทนนิสหญิงไทยหลังจากที่ต้องฝากความหวังทั้งหมดไว้กับ แทมมารีน ธนสุกาญจน์มาเป็นเวลานานถึงวันนี้ นพวรรณ สามารถคว้าแชมป์ในระดับเยาวชนวิมเบิลดัน ซึ่งในอดีตนั้น แทมมี่ เคยครองในตำแหน่งรองแชมป์ก่อนเดินทางเข้าสู่เส้นทางอาชีพและวนเวียนอยู่ในฐานะนักเทนนิสหญิงอาชีพชาวไทยที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในดับเบิลยูทีเอ ทัวร์เพียงรายเดียวมากว่าหนึ่งทศวรรษ
เส้นทางของ นพวรรณ เลิศชีวกานต์ ที่เหลือในฤดูกาลนี้คือการเก็บคะแนนจากการแข่งขันในระดับ ไอทีเอฟ และ ลงสนามในดับเบิลยูทีเอบางรายการ รวมไปถึงการป้องกันแชมป์เยาวชนหญิงคู่ในแกรนด์สแลมยูเอส โอเพ่น หากแต่จุดเริ่มต้นในฐานะนักเทนนิสอาชีพอย่างแท้จริงของ นพวรรณ นั้นคือปี2010 ซึ่งเธอจะได้ลงสนามในฐานะนักเทนนิสหญิงอาชีพแบบเต็มฤดูกาล แน่นอนว่าประสบการณ์จากสนามเยาวชนคือตัวช่วยที่สำคัญยิ่ง ดังเช่นนักเทนนิสหญิงชื่อดังในอดีตหลายรายก็มีจุดเริ่มต้นด้วยตำแหน่งแชมป์เยาวชนหญิงวิมเบิลดันอย่าง เทรซี่ ออสติน ที่คว้าแชมป์เยาวชนหญิงเดี่ยวจากวิมเบิลดันในปี 1978 จากนั้นในปี 1979 เธอสามารถคว้าแกรนด์สแลมยูเอส โอเพ่นมาครองได้สำเร็จ
เช่นเดียวกับมาร์ติน่า ฮินกิส ที่คว้าแชมป์ระดับเยาวชนหญิงเดี่ยวที่ออลอิงแลนด์มาครองได้ในปี 1994 จากนั้นอีกเพียงสองฤดูกาลเธอก็กลับมาเก็บแชมป์อาชีพบนเซนเตอร์คอร์ตของวิมเบิลดันได้สำเร็จ ขณะที่ อเมรี โมเรสโม ซึ่งเป็นแชมป์เยาวชนในปี 1996 และใช้เวลาอีก 10 ปีถึงจะกลับมาคว้าสแลมวิมเบิลดันไปครองได้ แต่ชื่อของเธอบนสนามเทนนิสอาชีพนับว่าแข็งแกร่ง และเป็นนักเทนนิสหญิงที่ติดอยู่ในตารางท้อป 10ติดต่อกันหลายปี
ในเวลานี้ นพวรรณ ยังคงต้องลงสนามในรอบคัดเลือกระดับอาชีพเพื่อเข้าเมนดรอว์ของการแข่งขันระดับดับเบิลยูทีเอ เนื่องจากอันดับโลกในปัจจุบันของน้องนกนั้นอยู่ที่ลำดับ 406 ของโลก เป้าหมายของเธอต่อจากนี้คือการเข้าสู่ท้อป 150 ให้ได้ก่อนสิ้นฤดูกาล 2009 และ เข้าสูท้อป 100 ในฤดูกาล 2010 หากแต่ในช่วงระหว่างเวลาดังกล่าวโอกาสของสาวน้อยนักหวดชาวไทยที่ได้เพิ่มพูนประสบการณ์ของตนเองขึ้นไปเรื่อยๆ อาจจะมาเร็วกว่าที่ใครหลายคนคาดการณ์ไว้ เหมือนดังเช่นผลงานของ ภราดร ศรีชาพันธุ์ เมื่อครั้ง ล้ม อังเดร อากัสซี่ ได้ในปี 2002 บนสนามวิมเบิลดัน ทั้งที่เป็นเพียงมือวางในระดับท้อป 100 ของโลก อาจจะเวียนกลับมาให้ได้ชื่นใจกันอีกครั้ง