นักกอล์ฟส่วนใหญ่ชอบการได้ยินเสียงหน้าไม้กระทบลูกเวลาสวิงเพื่อประเมินผลงานของตนเอง หากเสียงที่ออกมาฟังแน่นชัดเต็มสองหูก็ยิ่งทำให้มั่นใจว่าถูกลูกเต็มหน้าไม้ผลงานที่ออกมาจากจุดทีออฟก็ยิ่งได้ระยะ แต่เรื่องนี้จำต้องระมัดระวังให้มากเพราะมีผลวิจัยเปิดเผยว่าเสียงจากการสวิงไม้อาจดังเกินไปจนส่งผลทำลายระบบประสาทการได้ยินของเหล่านักกอล์ฟ ประเภทที่ชอบใช้เสียงข่มขวัญขู่ต่อสู้
ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ฟอร์กและนอริช ประเทศอังกฤษ ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวหลังพบกรณีของคนไข้รายหนึ่งเป็นชายวัย 55 ปีที่หลังเกษียณจากการทำงานก็หันมาเล่นกอล์ฟเป็นประจำสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันเป็นเวลาเพียง 18 เดือนปรากฏว่าหูข้างขวามีปัญหาการได้ยิน โดยทีมแพทย์พยายามสืบหาสาเหตุด้วยการตัดปัจจัยเสี่ยงออกไปทีละอย่าง จนสุดท้ายลงความเห็นว่าเสียงที่ดังเกินไปจากการสวิงไม้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับปัญหานี้จึงมีการทดสอบเพื่อยืนยันสมมุติฐาน
ทีมวิจัยทำการวัดระดับเสียงของไม้กอล์ฟตอนกระทบบอล โดยได้เลือกไดร์ฟเวอร์มาทดสอบเป็นจำนวน 12 ยี่ห้อ สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยจำนวนเท่ากัน ประเภทแรกคือไม้รุ่นเก่าทำจากเหล็กและหน้าไม้หนา ส่วนอีกประเภทเป็นไม้รุ่นใหม่ผลิตจากไทเทเนียมและหน้าไม้มีความบางกว่าซึ่งนิยมใช้กันในปัจจุบันเพราะช่วยให้ตีไกลขึ้น โดยคนไข้รายดังกล่าวก็ใช้ไม้กอล์ฟประเภทหลัง
เมื่อทำการทดสอบพบว่าไม้รุ่นใหม่นั้นมีความดังของเสียงระดับเกินกว่า 140 เดซิเบลหรือประมาณเสียงของเครื่องบินเจ็ตสามารถทำลายระบบประสาทการได้ยินของมนุษย์ และเมื่อทำการศึกษาไม้กอล์ฟ 12 ยี่ห้องทั้งประเภทเก่าและใหม่พบว่าไม้กอล์ฟทั้งหมดทำให้เกิดเสียงดังอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 110 เดซิเบลหรือประมาณเสียงของเครื่องบินสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้รุ่นใหม่มีถึง 5 ยี่ห้อที่ทำให้เกิดเสียงสูงถึงระดับ 130 เดซิเบลหรือประมาณเสียงของไซเรนรถพยาบาล แต่ไม้รุ่นเก่ามีเพียงยี่ห้อเดียวที่สร้างเสียงดังสูงถึงระดับนี้
นายแพทย์ มัลคอม บูคานัน หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเตือนว่า "ผลการศึกษาของเราพบว่าไดรฟ์เวอร์ที่ทำจากไทเทเนียมซึ่งหน้าไม้มีความบางทำให้เกิดเสียงดังพอที่จะทำลายระบบประสาทของหูเป็นการชั่วคราวหรืออาจถึงขั้นถาวร ดังนั้นผู้เล่นควรระมัดระวังยามใช้อุปกรณ์ประเภทนี้"
สาเหตุที่ไม้กอล์ฟซึ่งผลิตจากไทเทเนียมเกิดเสียงดังกว่ารุ่นเก่า เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นกว่าเหล็กทำให้การกระทบแบบแทรมโพลีน (Trampoline-like effect) มีมากกว่า นอกจากทำให้ตีลูกได้ไกลแล้วยังทำให้เกิดเสียงดังกว่าด้วย
แต่เรื่องของผลกระทบดังกล่าวก็ใช่ว่าจะมีคนเห็นด้วยทั้งหมด ดังเช่นดอกเตอร์ รอสส์ ไดนีน ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงแห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี ตั้งข้อสังเกตว่าเสียงที่ดังจากการไดรฟ์ลูกเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นเกินกว่าที่จะทำลายระบบประสาทการรับฟัง
"เมื่อพูดถึงความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้แล้ว หลักการเดียวคือคุณต้องได้รับเสียงบ่อยและอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่การเล่นกอล์ฟคุณมีโอกาสได้ยินเสียงดังเพียง 1 ครั้งในทุก 15 หรือ 20 นาทีของการทีออฟแต่ละหลุม แม้เสียงจะดังเหมือนกับลูกปืนแต่น้อยเกินกว่าจะส่งผลต่อการได้ยินของคนเรา เว้นแต่คุณจะตีลูกแบบนั้นต่อเนื่องกันเป็นพันครั้ง" ดร.ไดนีน กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.บูคานัน ซึ่งเป็นเจ้าของทฤษฎีหูดับเพราะไดร์ฟเวอร์ชี้ว่าไม้กอล์ฟรุ่นใหม่เพิ่งเริ่มนิยมใช้กันไม่เกิน 10 ปีซึ่งเป็นไปได้ว่าเรายังไม่ทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่านักกอล์ฟอาจได้รับผลกระทบแบบสะสมไปเรื่อยๆโดยไม่รู้ตัว อย่างเช่นผลการศึกษาของกีฬาเทนนิสเมื่อปี 2002 พบว่าแร็กเกตอาชีพที่มีอายุเกินกว่า 35 ปีขึ้นไปเกือบครึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อมือในอนาคต แต่ไม่มีใครรับทราบเรื่องนี้มาก่อนเนื่องจากอาการยังไม่แสดงออกอย่างชัดเจน
นอกจากนี้นายแพทย์คนดังกล่าวเปิดเผยว่าอีกว่าทีมวิจัยเตรียมจะทดสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกครั้งกับเหล่านักกอล์ฟมืออาชีพในศึกดิ โอเพน เมเจอร์รายการที่ 3 ของปีซึ่งจะไปดวลวงสวิงกันที่ประเทศสกอตแลนด์ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเสียงอันเกิดจากหน้าไม้กระทบลูกมีผลเสียต่อระบบการได้ยินหรือไม่ แต่เขาทิ้งท้ายว่าตราบใดที่ยังไม่ได้ข้อสรุป นักกอล์ฟควรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัญหานี้ด้วยการสวมที่อุดหูยามออกรอบเพื่อป้องกันไว้ก่อน