โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน เปิดตัวคลินิกรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ในงานครบรอบ 37 ปี ของเครือโรงพยาบาล ซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ ระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี ควบคู่กับ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง เมื่อช่วงสายของวันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา
วันนี้ เวลา 11.00 น. เครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล จัดงานครบรอบดำเนินธุรกิจมา 37 ปี ที่โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน พร้อมทั้งเปิดตัวคลินิกรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ซึ่งภายในงานมีคนดังในวงการกีฬาอย่าง “เดอะ แบน” ตะวัน ศรีปาน อดีตมิดฟิลด์ทีมชาติไทย, “ซูเปอร์บอล” ภราดร ศรีชาพันธุ์ นักเทนนิสผู้เคยไต่ขึ้นไปติดอันดับ 9 ของโลก, พิษณุ นิลกลัด ผู้ประกาศข่าวและคอลัมนิสต์สายกีฬาที่ชื่นชอบการเล่นกอล์ฟ และ “แพง” ขวัญข้าว เศวตวิมล ดาราสาวซึ่งเล่นกีฬาขี่ม้าและกำลังหัดเล่นเทนนิส
ด้าน สิทธิชัย สุขเจริญมิตร กรรมการผู้จัดการเครือโรงพยาบาลเปาโลฯ กล่าวถึงความคิดที่เปิดคลินิกดังกล่าวขึ้นมาว่า “การออกกำลังกายจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของวิธีดูแลตัวเองของคนยุคนี้ แม้การเล่นกีฬาจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่หากหักโหมเกินไปก็อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมองข้ามความสำคัญในการไปพบแพทย์ เพื่อวิเคราะห์อาการที่ถูกต้อง ดังนั้น การเปิดคลินิกเฉพาะทางนี้ขึ้นมาน่าจะช่วยในส่วนนี้ได้”
สำหรับคลินิกนี้ได้มีการนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี นั่นคือ ระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี (Navigator) มาใช้ควบคู่กับ การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Arthroscopic ACL Reconstruction - ACL) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดสำหรับอวัยวะสำคัญต่างๆ รวมถึงเส้นเอ็นที่มักได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย ขณะเดียวกันยังสามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ทั้งผู้สูงอายุ และบุคคลทั่วไปที่ออกกำลังกายผิดวิธีได้อีกด้วย
ขณะที่ นายแพทย์บัญชา ชื่นชูจิตต์ ได้วิเคราะห์อาการบาดเจ็บที่ของแขกรับเชิญแต่ละคน ซึ่ง “แบน” ตะวัน เคยถูกปะทะในการเล่นฟุตบอลจนเอ็นเข่าคู่หน้าฉีก “เจ้าบอล” ภราดร เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหัวไหล่และข้อมือจากลักษณะการหวดลูก, “เตยหอม” พิษณุ นิลกลัด บาดเจ็บข้อมือจากการสวิงไม้กอล์ฟไปติดหญ้าบนรัฟจนมีอาการเรื้อรังมา 5 เดือน และ “แพง” ขวัญข้าว ที่ชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก รวมถึงขี่ม้าและหัดเล่นเทนนิส ซึ่งกีฬาประเภทหลังสุดอาจทำให้บาดเจ็บจากลักษณะการตีที่ไม่ถูกวิธี ตลอดจนอาการปวดล้าหลังออกกำลังกาย
ทั้งนี้ ระบบคอมพิวเตอร์นำวิถี และ การใช้ ACL ทำให้แพทย์สามารถพิจารณาและผ่าตัดได้เร็วขึ้นจึงสามารถรักษาอาการได้ตั้งแต่ต้นเหตุ อันทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่า ขณะเดียวกันยังเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดได้ถึง 97 % อาทิ สามารถทดสอบความแข็งแรงของอวัยวะ หรือเส้นเอ็นที่ใส่เข้าไปได้ทันทีหลังการผ่าตัดโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย, อาการเจ็บปวดบริเวณแผลลดลง, เสียเลือดน้อยลง โอกาสติดเชื้อต่ำลง ซึ่งทำให้ระยะพักฟื้นลดลงไปด้วย
ส่วน นายแพทย์บุญวัฒน์ จะโนภาษ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า “หลังจากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว ควรหมั่นทำกายภาพบำบัด เพื่อให้ร่างกายส่วนนั้นฟื้นตัว และกลับสู่สภาพปกติหรือเล่นกีฬาได้เร็วขึ้น นอกจากนั้น เราไม่ควรมองข้ามการวอร์มร่างกายก่อนออกกำลังกาย และการคูลดาวน์หลังเสร็จการเล่นกีฬา เพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้มีเลือดมาเลี้ยงมากขึ้น ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ”