xs
xsm
sm
md
lg

อันดับ 7 แต้มมากกว่าอันดับ 6 อย่าตกใจ / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

แต่เดิมนั้น สก็อททิช ฟุตบอล ลีก ( Scottish Football League - SFL ) จัดการแข่งขันฟุตบอลในประเทศแบ่งออกเป็นแค่ 2 ระดับคือ ดิวิเชิน 1 กับ ดิวิเชิน 2 พอมาถึงยุคทศวรรษที่ 70 ก็เริ่มซบเซา จึงมีการเปลี่ยนแปลง โดยยกระดับลีกสูงสุดจาก ดิวิเชิน 1 ให้เป็น เพรอมิเอ ดิวิเชิน ( Premier Division ) ดิวิเชิน 2 ของเดิมก็กระเถิบขึ้นมาเป็น ดิวิเชิน 1 แทน แล้วเพิ่ม ดิวิเชิน 2 ขึ้นมาใหม่ กลายเป็น 3 ระดับ เริ่มกันในฤดูกาล 1975-1976 เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ถึงฤดูกาล 1994-1995 ก็มี ดิวิเชิน 3 เพิ่มเข้ามาอีก โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาทาง SFL จะนำรายได้มาหารแบ่งให้สโมสรต่างๆทั้ง 4 ระดับ แต่ละทีมได้หยุมหยิม

เมื่อบรรดาสโมสรชั้นนำของสก็อทแลนด์ได้เห็นตัวอย่าง เพรอมิเอ ลีก ของทางอังกฤษที่แยกตัวออกมาบริหารเองต่างหากตั้งแต่ฤดูกาล 1992-1993 และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องรายได้ สโมสรเหล่านั้นจึงร่วมกันผลักดันให้ลีกสูงสุดแยกออกมาเป็นเอกเทศบ้าง จนเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1997 เรียกว่า สก็อททิช เพรอมิเอ ลีก ( Scottish Premier League - SPL ) ส่วน สก็อททิช ฟุตบอล ลีก ( Scottish Football League ) ก็ดูแล 3 ดิวิเชินที่เหลือต่อไป โดยเริ่มเตะระบบนี้กันครั้งแรกในฤดูกาล 1998-1999 คราวนี้เงินสปอนเซอร์จะได้นำมาแบ่งกันเนื้อๆ ไม่ต้องมีอีก 3 ดิวิเชินมาเป็นตัวหารด้วย

สก็อททิช เพรอมิเอ ลีก เคยได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจาก แบงค์ อ็อฟ สก็อทแลนด์ ( Bank of Scotland ) ซึ่งมีฐานใหญ่อยู่ใน เอดินเบอเรอะ ( Edinburgh ) เมืองหลวงของสก็อทแลนด์ แต่พอจบฤดูกาล 2006-2007 ไม่มีการต่อสัญญา ทำให้ SPL ต้องวิ่งพล่านหาผู้สนับสนุนรายใหม่ และก็โชคดี ได้นายทุนทันควัน นั่นคือ คลายสเดล แบงค์ ( Clydesdale Bank PLC ) ธนาคารยักษ์ใหญ่อันดับ 3 ของสก็อตแลนด์ ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1838 เป็นสปอนเซอร์หลักตั้งแต่ฤดูกาล 2007-2008 เป็นระยะเวลา 4 ปี ด้วยเงินจำนวน 8 ล้านพาวน์ด หรือประมาณ 416 ล้านบาท ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเรียกชื่อฟุตบอลลีกสูงสุดของเขาอย่างเป็นทางการว่า คลายสเดล แบงค์ เพรอมิเอ ลีก ( Clydesdale Bank Premier League )

เมื่อพูดถึงฟุตบอลในสก็อทแลนด์ หลายท่านคงคุ้นเคยกับคำว่า “ โอลด์ เฟิร์ม ” ( Old Firm ) ซึ่งหมายถึง การโคจรมาเจอกันของ 2 สโมสรยักษ์ใน กลาสโกว์ คือ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ( Glasgow Rangers ) กับ กลาสโกว์ เซลทิค ( Glasgow Celtic ) ที่มาของคำนี้ มีหลายตำราอธิบายไว้ต่างกัน บางตำราก็บอกว่า เกิดจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งในยุคนั้น ขนานนามตั้งแต่ครั้งแรกที่ทั้ง 2 ทีมพบกันในปี 1888 ด้วยคำนี้ เพราะนักเตะทั้ง 2 สโมสรต่างก็เป็นซี้เก่ากันทั้งนั้น อีกตำราหนึ่งบอกว่า ในยุคนั้น พรรคพวกของ 2 สโมสรตั้งตนเป็นคู่กัด แก่งแย่งผลประโยชน์ทางการค้า และฟาดฟันกันตามแหล่งต่างๆเสมอมา จะอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ฤดูกาลแรกที่มีการแข่งฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศคือ 1890-1891 จนถึงปัจจุบัน 2 ทีมดังกล่าวเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดย เดอะ เจอร์ส ( The Gers ) กับ เดอะ บอยส์ ( The Bhoys ) คว้าแชมป์ สก็อททิช ลีก รวมกันนับได้ 93 ครั้ง และ สก็อททิช คัพ อีก 66 ครั้ง ที่สำคัญ ตั้งแต่เปลี่ยนเป็น SPL แชมป์ไม่ไปไหนไกล วนเวียนอยู่กับ 2 ทีมนี้มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมี โอลด์ เฟิร์ม แล้ว ก็ต้องมี “ นิว เฟิร์ม ” เข้ามาขัดจังหวะจนได้ ซึ่งหมายถึง อาเบอร์ดีน ( Aberdeen ) กับ ดันดี ยูนายเต็ด ( Dundee United ) 2 คู่แข่งบารมีทางแถบตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ อาเบอร์ดีน ซึ่งมีฉายามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เดอะ ดอนส์ ( The Dons ) เดอะ เรดส์ ( The Reds ) เดอะ แดนดีส์ ( The Dandies ) หรือ เดอะ แดนดี ดอนส์ ( The Dandy Dons ) ในช่วงปี 1978-1986 นั้น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์เกิสเซิน เคยเป็นผู้จัดการทีมและนำทีมคว้าแชมป์ชุ่ยเลย ทั้งบอลลีก บอลถ้วย แถม ยูโรเปียน คัพ วินเนอร์ส คัพ อีก 1 ใบในปี 1983

รูปแบบการแข่งขันของ สก็อททิช เพรอมิเอ ลีก นั้น ตั้งแต่ฤดูกาล 2000-2001 มีการเพิ่มจาก 10 ทีมเป็น 12 ทีม ดังนั้น แต่ละทีมจะไม่ได้พบกัน 4 หนเหมือนแต่ก่อน ไม่เช่นนั้นทั้งฤดูกาลคงต้องเตะกันบักโกรก ทีมละ 44 นัด เขาให้แต่ละทีมพบกัน 3 หนก็พอ โดยอาจเป็นเหย้า 2 นัด เยือน 1 นัด หรือเหย้า 1 นัด เยือน 2 นัดก็ได้ รวมเป็น 33 นัด เท่านั้นยังไม่จบฤดูกาลครับ มันเป็นเพียง เฟสแรก เท่านั้น ยังมี เฟส 2 อีก โดย SPL จะคิดคะแนนของ เฟสแรก แล้วจัดอันดับตามมาตรฐานสากล เมื่อเรียงได้อันดับได้ที่ 1 ถึง 12 เรียบร้อยแล้ว ก็แบ่งตารางออกเป็น 2 ส่วนคือ ท็อพ ซิกซ์ ( Top Six ) อันดับ 1-6 และ บ็อทท็อม ซิกซ์ ( Bottom Six ) อันดับ 7-12 ให้ทีมใน 6 อันดับแรกพบกันเองให้ครบ รวมแต่ละทีมแข่งอีก 5 นัด เพื่อนำคะแนนที่ได้มาบวกเพิ่มกับ 33 นัดที่แข่งกันมาตลอดฤดูกาล และจัดอันดับขั้นสุดท้าย ใครมีคะแนนมากที่สุดก็ได้แชมป์ ในขณะที่อีก 6 ทีมที่อยู่ท้ายตารางก็ไปพบกันเองเช่นเดียวกันเพื่อชิงอันดับ 7-12

จากรูปแบบการแข่งขันแบบนี้ ทุกทีมต้องลงแข่งทั้งหมด 38 นัด ผมว่าการที่ทีม 6 อันดับแรกมาเจอกัน จะทำให้ช่วงท้ายฤดูกาล 5 นัด เป็นฟุตบอลที่สนุก แฟนบอลได้ชมการแข่งขัน ยักษ์ชนยักษ์ แน่นอน และไม่น่าจะมีทีมใดอ่อนข้อให้กันด้วย สำหรับเรื่องนัดเหย้า นัดเยือนนั้น SPL ไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญ บางทีมอาจเจอกัน 4 หนโดยได้เล่นในบ้านตนเองเพียงหนเดียว และต้องไปเยือนถึง 3 หน หรืออาจโชคดีได้แข่งในบ้านตนเอง 3 หนก็ได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันรูปแบบนี้ ทำให้บ่อยครั้งที่ทีมอันดับ 7 ซึ่งได้แข่งกับทีมท้ายตารางอีก 5 ทีม มักจะเก็บคะแนนในช่วงนี้ได้เป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่ทีมอันดับ 6 ต้องเจอกับ 5 ทีมหัวตาราง ผลการแข่งขันมักจะไม่ค่อยดี คะแนนบวกเพิ่มจึงพลอยน้อยกว่าอันดับ 7 ด้วยซ้ำไป ท่านผู้อ่านก็อย่าได้ตกใจหรือสงสัยครับ เพราะรูปแบบการแข่งขันมันเป็นเช่นนี้เอง
กำลังโหลดความคิดเห็น