แม็ทธิว สแตฟฟอร์ด เป็นควอเตอร์แบ็กคนที่ 9 ในรอบ 12 ปีหลังสุดที่โดนปักป้าย “นัมเบอร์วัน ดราฟท์” แต่คงไม่มีอะไรการันตีว่าสตาร์จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียจะแจ้งเกิดได้ในศึกอเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) บรรทัดต่อจากนี้คือบทวิเคราะห์โดย “ลุงแซม” คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ถึงโอกาสความเป็นไปได้ที่จะส่ง สแตฟฟอร์ด ถึงฝั่งฝันหรือร่วงกราวรูด
‘สแตฟฟอร์ด’ คุณภาพคับแก้ว ?
ก่อนการดราฟท์ประจำปี 2009 จะเริ่มขึ้น “Mock Draft” หลายสำนัก บางกระแสมองว่า เจสัน สมิธ แท็คเกิล จาก ม.เบย์เลอร์ และ อารอน เคอร์รี ไลน์แบ็กเกอร์ ของ ม.เวค ฟอเรสต์ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับ ดีทรอยต์ ไลออนส์ แต่ปลายเดือนก่อน มาร์ติน เมย์ฮิว ผู้จัดการทั่วไป “สิงโต” ไม่ลังเลที่จะเลือก “แม็ทธิว สแตฟฟอร์ด” ขึ้นสู่โพเดียมเป็นคนแรก พร้อมเซ็นสัญญายาว 6 ปี 78 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,600 ล้านบาท) การันตีค่าจ้าง 41.7 ล้านเหรียญฯ (ราว 1,400 ล้านบาท) นี่ถือเป็นเงินก้อนโตที่สุดที่ผู้เล่น “นัมเบอร์ ดราฟท์” เคยได้มา
แน่นอนต้องมีคำถามตามมาว่า สแตฟฟอร์ด มีดีอะไรกับความไว้วางใจตรงนี้ และนี่เป็นคำตอบบางส่วนจากจอมทัพวัย 21 ปี นับตั้งแต่ สแตฟฟอร์ด เข้าเรียนใน ม.จอร์เจีย แนวโน้มดีขึ้นโดยตลอด 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซ็นต์การขว้างที่แม่นยำ ปี 2008 ขว้างได้ระยะถึง 3,459 หลา รั้งอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์สถาบันเป็นรองแค่ เอริค ไซเออร์ (3,525 หลา) แถมยังขว้างไปถึง 25 ทัชดาวน์ เป็นสถิติใหม่ของมหาวิทยาลัย ก่อนพา จอร์เจีย บูลล์ด็อกส์ คว่ำ มิชิแกน สเตท สปาร์ตันส์ คว้าแชมป์แคปิตอล วัน โบว์ล พร้อมตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) นี่ถือเป็นใบเบิกทางสู่การขึ้นเล่นอาชีพที่น่าสนใจทีเดียว
เติบโตกับทีมตั้งไข่อย่าง ‘ไลออนส์’
ดีทรอยต์ ไลออนส์ ทำงามหน้าเป็นเฟรนไชส์เดียวในประวัติศาสตร์ NFL ที่พ่ายทั้ง 16 เกมเมื่อฤดูกาลก่อน จึงเป็นเหตุผลให้ได้สิทธิเลือกผู้เล่นจากระดับมหาวิทยาลัยเป็นทีมแรก หากมองย้อนไปช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ ไลออนส์ แพ้มากกว่าชนะมาตลอดตั้งแต่ปี 2000 ที่สถิติ 9-7 เกม ไม่มีแนวโน้มใดสนับสนุนความก้าวหน้าของ สแตฟฟอร์ด เลย รวมถึงแฟนๆ ต่างมองว่านี่คือทีมตัวตลกมาโดยตลอด ทว่าหากมองในแง่กลับกัน สแตฟฟอร์ด ไม่ต้องแบกความกดดันมากเกินไปดั่งที่เขาเคยปล่อยมุกใส่สื่อมะกันว่า “ชัยชนะเพียงเกมเดียวของทีม ก็ถือเป็นความสำเร็จของผมแล้ว”
ทั้งนี้ทั้งนั้นปัจจัยในองค์กรดูเหมือนไม่เอื้ออำนวยด้วย เมื่อ ไลออนส์ ได้ระยะต่อเกมเฉลี่ย 268.3 หลา (อันดับ 30) เกมบุกวิ่งใส่คู่แข่งแค่ 83.3 หลา ขว้างเพียง 185.0 หลา แทบรั้งท้าย แถมทีมรับโดนคู่แข่งกระซวก 404.4 หลา มากสุดจากทั้งหมด 32 ทีม เจอวิ่งใส่ 172.1 หลา ขว้างไป 232.3 หลา เสียแต้มมากถึง 517 คะแนน ทั้งหมดนี้คือเหตุผลแห่งความตกต่ำของทีมเมื่อปีก่อน ดังนั้นฤดูกาล 2009/10 เสมือนการตั้งไข่ครั้งใหม่ของ “เจ้าสิงโต” เช่นเดียวกับ สแตฟฟอร์ด ที่อาจต้องรอโอกาสอยู่ขอบสนาม ศึกษางานจาก ดันเต คัลเพพเพอร์ ควอเตอร์แบ็กรุ่นพี่ไปก่อน
ตามรอยรุ่นพี่รุ่งหรือร่วง
พี่น้องตระกูล “แมนนิง” เพย์ตัน และ อีลาย เป็นควอเตอร์แบ็ก “นัมเบอร์วัน ดราฟท์” เพียงสองคนในรอบ 12 ปีหลังสุดที่พา อินเดียนาโปลิส โคลสต์ กับ นิวยอร์ก ไจแอนท์ส คว้าแชมป์ซูเปอร์โบว์ล โดย แมนนิงผู้พี่ใช้เวลา 9 ปีในการพาตัวเองและพลพรรค “เกือกม้า” ถึงฝั่งฝัน แต่กว่าจะมีวันนั้น โคลต์ส ต้องสานเกมรับ ผนึกกำลังเกมบุกอยู่พอสมควร ขณะที่ อีลาย พา “ยักษ์ใหญ่” ประสบความสำเร็จสูงสุดภายในระยะเวลา 4 ปี ด้วยความช่วยเหลือจากหลายด้านทั้งโค้ชที่เก่งอย่าง ทอม คอฟลิน, เกมรับสุดแกร่ง และเกมบุกอันสมดุล รวมถึงฝีมือตัวเอง
หันมามองที่ สแตฟฟอร์ด เลิกพูดถึงความสำเร็จที่ไกลเกินฝันเพียงชั่วข้ามคืน หาก ไลออนส์ ยังมีอาวุธแค่ แคลวิน จอห์นสัน ปีกสตาร์คนเดียว และ เควิน สมิธ ตัววิ่งประสบการณ์ปีที่ 2 ให้เลือกใช้งาน อย่างไรก็ตาม สื่อนอกเชื่อว่า ไลออนส์ มีแนวโน้มที่พัฒนาขึ้นได้หลังเขี่ย แมตต์ มิลเลน จากตำแหน่งผู้จัดการทีมให้ เมย์ฮิว มารับงานแทน และจ้าง จิม ชวาร์ทซ อดีตโค้ชทีมรับ เทนเนสซี ไตตันส์ มาเป็นหัวหน้าโค้ช เพื่อปั้น สแตฟฟอร์ด อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ถ้า สแตฟฟอร์ด มีดีจริงอาจก้าวสู่การเป็นจอมทัพแถวหน้าของลีกอย่าง คาร์สัน พาลเมอร์ ที่ดังได้ แม้อยู่กับเฟรนไชส์ซึ่งโดนปรามาสมาโดยตลอดอย่าง ซินซินเนติ เบงกอลส์ หรือไม่ก็รอโอกาสไปก่อนเฉกเช่น อเล็กซ์ สมิธ (ซานฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส) และ จามาร์คัส รัสเซลล์ (โอคแลนด์ เรดเดอร์ส) ทว่าถ้าหมักก็แล้วบ่มก็แล้วไม่มีอะไรดีขึ้น สแตฟฟอร์ด คงเป็นได้แค่ควอเตอร์แบ็กมือ 2 ระหกระเหินไปเรื่อยเหมือน เดวิด คาร์ อดีตดราฟท์คนแรกของปี 2002 (ฮุสตัน เท็กแซนส์) หรือไม่ก็ลาลีกไปเงียบๆ อย่าง ทิม เคาช์ ของ คลีฟแลนด์ บราวน์ส (ดราฟท์ปี 1999) จะอย่างไรก็ตาม ความสำเร็จหรือความล้มเหลวไม่ได้เกิดเพียงแค่พริบตาแน่นอน