xs
xsm
sm
md
lg

ผมไม่เคยเรียก บางกอก ว่า แบงคอก / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

ในโลกเรามีหลายเชื้อชาติ หลายภาษามานานแล้ว ถึงแม้ในปัจจุบัน บางภาษาจะใช้อักษรคล้ายกัน อย่าง abc… แบบโมเดิร์น อิงลิช อัลฟาเบ็ท ( modern English alphabet ) ซึ่งมีรากเหง้ามาจากภาษาลาติน ที่ใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คำต่างๆจะอ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่ละชาติ ต่างก็มีหลักภาษา หลักในการอ่านเฉพาะตัวต่างกัน เช่น สเปน โปรตุเกส อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ส สวีเดน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ คำในภาษาหนึ่งจะไปใช้หลักการอ่านจากอีกภาษาหนึ่ง ไม่น่าจะถูกต้อง ออกเสียงผิด ความหมายไปคนละเรื่อง โดยเฉพาะคนที่รู้ภาษาเพียงอังกฤษ ก็มักจะนำหลักการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษไปใช้อ่านคำในภาษาอื่นๆซะหมด ทำให้การอ่านชื่อนักกีฬา ชื่อทีมสโมสร และชื่ออื่นๆซึ่งเป็นคำในภาษาต่างๆ และปัจจุบันนี้ก็รู้จักกันทั่วโลก แต่ผิดเพี้ยนกันไปหมด

ราว 10 ปีที่แล้ว เมื่อผมเรียกชื่อสุดยอดสโมสรฟุตบอลของสเปนว่า เรอัล มาดริด หลายคนคงรู้สึกหงุดหงิด หมั่นไส้ ผู้คนรุมสกรัมผมจากช่องทางต่างๆโดยไม่ยั้งมือ และไม่ยั้งคิด นั่นมันธรรมดาเหลือเกินครับ เพราะตอนนั้น สื่อต่างๆในเมืองไทยจะเรียกสโมสรนี้ว่า รีล มาดริด หรือ เรียล มาดริด ซึ่งถ้าเรียกกันแบบภาษาอังกฤษอย่างนั้น มันก็จะผิดความหมายไปเลย คนก็จะไปถามหาความหมายจากภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า แท้จริง อะไรทำนองนั้น ดังนั้นกรุณาอย่าให้สิ่งที่เกิดขึ้นจนเป็นเรื่องธรรมดากลายเป็นความถูกต้อง

สโมสรฟุตบอล เรอัล มาดริด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 1902 โดยก่อนหน้านั้น พวกอาจารย์และนักศึกษาจากสถาบัน เอนเซญันซา ( Institucion Libre de Ensenanza ) ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัย อ็อกซเฝิร์ด หรือไม่ก็ เคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษกันมาทั้งนั้น ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยดังกล่าว คนมักจะเรียกรวมกันว่า อ็อกซบริดจ์ ( Oxbridge ) พวกเขาได้นำฟุตบอลเข้ามาเผยแพร่ จนเกิดการก่อตั้งสโมสรฟุตบอล สกาย ( Football Club Sky ) ขึ้นในปี 1897 ต่อมาแตกหน่อออกเป็น 2 สโมสรในปี 1900 คือ New Foot-Ball de Madrid และ Club Espanol de Madrid แล้วอีก 2 ปี Club Espanol de Madrid ก็แตกตัวออกมาอีก จึงเกิดเป็นสโมสรฟุตบอล มาดริด ( Madrid Club de Futbol ) ตั้งแต่นั้นมา แล้วในปี 1920 กษัตริย์ อัลฟอนโซ ที่ 13 ( King Alfonso XIII ) ทรงรับสโมสรไว้ในพระราชูปถัมภ์ นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “ เรอัล ” ( Real ) คำนี้เป็นภาษาสเปน มีความหมายเหมือนคำว่า รอยอัล ( Royal ) ในภาษาอังกฤษ คือ อะไรที่เกี่ยวกับราชวงศ์ หรือ ของหลวง ทำนองนั้น นอกจากนั้น ตราของสโมสรก็ยังมีมงกุฎของกษัตริย์ อัลฟอนโซ มาครอบให้อีกด้วย

ในปี 1931 มีปัญหาการเมืองภายในสเปน เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ไม่ว่าอะไร ต้องถูกถอดออกให้หมด อันนี้รวมถึงมงกุฎในตราสัญลักษณ์ของสโมสร และคำว่า เรอัล ในชื่อสโมสรด้วย ในขณะเดียวกัน เขาก็เอาแถบสีน้ำเงินอันเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นกาสตียา ( Castilla ) มาใส่เข้าไปแทน จนในปี 1941 หลังจากสงครามกลางเมืองจบสิ้นผ่านพ้นไปแล้ว 2 ปี มงกุฎได้กลับมาอยู่ในตราของสโมสร และชื่อ เรอัล ก็กลับมาบวกเพิ่มเข้าไปในชื่อสโมสร นอกจากนั้น ยังทำตราสโมสรให้มีสีทองดูสะดุดตา แต่ก็ไม่ได้มีการเอาแถบสีน้ำเงินทิ้งไป สำหรับตราสโมสรที่เห็นในปัจจุบันนั้น เป็นผลจากการปรับเปลี่ยนครั้งหลังสุดในปี 2001 ทั้งนี้ก็เพื่อให้ดูทันสมัย เป็นการต้อนรับเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

นอกจากชื่อสโมสรแล้ว ชื่อพวกคนสเปนหรือคนอเมริกาใต้ซึ่งใช้ภาษาสเปนเกือบทั้งหมด เราก็ไปอ่านตามภาษาอังกฤษ เช่น เฟอร์นันโด ( Fernando ) เฮอร์นันเดส ( Hernandez ) ผมอยากจะให้อ่านให้ถูกต้องว่า แฟรนานโด แอรนานเดส จะดีกว่า มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสมากมายที่เราอ่านกันผิดๆ เช่น เอริก ก็องโตนา ( Eric Cantona ) เราก็ไปใช้หลักภาษาอังกฤษมาช่วยอ่าน มันจึงกลายเป็น อีริค คันโตนา

ทำไมเรื่องการอ่านออกเสียง เรียกชื่อให้ถูกมันถึงสำคัญหนักหนาครับ ผมขอยกตัวอย่างให้ฟังว่า ในปี 1824 คนประดิษฐ์อักษรสำหรับคนตาบอดชื่อ ลุย ไบรย์ ( Louis Braille ) เขาเป็นชาวฝรั่งเศส เราก็ดันไปเรียกว่า หลุยส์ เบรลล์ แบบอังกฤษ แล้วก็ไปเรียกชุดอักษรดังกล่าวว่า อักษรเบรลล์ แทนที่จะเป็นอักษรไบรย์ ซึ่งกลายเป็นคนละคนกัน นี่ช่างเป็นการสดุดี ให้เกียรติผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อชาวโลก โดยเฉพาะต่อคนตาบอดอย่างไม่ค่อยจะถูกต้องเอาเลย วันนี้เอาเหตุผลไปข้อเดียวก่อนครับ

แม้ว่าผมเคยใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสนานร่วม 10 ปี แต่ในชีวิตยังได้เดินทางไปอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป บางประเทศนั้นหลายสิบเที่ยว ได้โอกาสเรียนรู้ภาษาอื่นๆมาด้วย ดังนั้นคงไม่ใช่อย่างที่หลายคนที่ไม่ได้ภาษาสเปน โปรตุเกส อิตาลี เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ส เดนมาร์ก ฯลฯ หลงเข้าใจผิดว่า คำภาษาต่างชาติ ผมจะเล่นออกเสียงเป็นภาษาฝรั่งเศสซะหมดหรอกครับ เพียงแต่นำสิ่งที่ถูกต้องตามภาษานั้นๆมาบอกกัน

เอาเป็นว่า เวลาส่งภาษาพูดถึงเมืองหลวงของไทยเรา ที่ฝรั่งมักจะไม่คุ้นกับการเรียกว่า กรุงเทพมหานคร แต่จะรู้จักในนาม บางกอก มากกว่า ผมก็ต้องยอมเสียเวลาสอนเขาหน่อย และถ้าจำเป็นต้องเรียกแบบฝรั่ง ผมจะใส่เต็มๆว่า “ บางกอก ” โดยไม่เคยเรียกเมืองหลวงของเราเองแท้ๆและเป็นภาษาไทยซะด้วยว่า “ แบงคอก ” ก็แล้วกัน ถ้าใครเข้าใจตรงนี้ แสดงว่าเข้าใจแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น