xs
xsm
sm
md
lg

พระวิหาร VS เพรียะฮ์วิเฮียร์ : การเมืองเรื่องของชื่อ และปัญหาเรื่องรูปๆ คำๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องของ 'ปราสาทพระวิหาร' เป็นประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันมายาวนานหลายยุคหลายสมัยแล้ว และตราบใดที่ยังไม่มีข้อยุติเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์การครอบครอง และสิทธิการเสนอเป็นมรดกโลกอันเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย 'ปราสาทพระวิหาร' ก็จะต้องเป็นประเด็นอมตะที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่ร่ำไป

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในการเจรจาคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี สมัยสามัญครั้งที่ 4 ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ แถมฝ่ายกัมพูชายังมีการยกเรื่องชื่อเรียกปราสาทเขาพระวิหารขึ้นมา ทำให้เกิดข้อถกเถียงใหม่ขึ้นมาอีก
เพราะทางฝ่ายกัมพูชาต้องการให้ใช้ชื่อ 'เพรียะฮ์วิเฮียร์'(Temple of Preah Vihear) ตามการออกเสียงแบบภาษาเขมร แต่ไทยอยากให้ใช้ชื่อ 'พระวิหาร' (Temple of Phra Viharn) หรือให้ใช้ควบคู่กันไปทั้งสองชื่อเป็นอย่างน้อย

เมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้น กลายเป็นว่าเรื่องเก่าที่ยังเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็ยังค้างคาอยู่ แถมยังมีเรื่องชื่อเรียกเขาพระวิหารเข้ามาเป็นประเด็นใหม่ให้ต้องมานั่งถกเถียงกันอีกยาว กับเรื่องนี้บางคนอาจจะมองว่าแค่เรื่องชื่อไม่น่าจะกลายเป็นประเด็นขัดแย้งได้ แต่เรื่องของการเมืองไม่เข้าใครออกใคร ไม่ว่าจะแง่มุมไหน ก็ก่อให้เกิดข้อโต้เถียงขึ้นมาได้แล้วทั้งนั้น

'เพรียะฮ์วิเฮียร์' VS 'พระวิหาร'

แน่นอนว่าคนไทยอย่างเราคงต้องคุ้นเคยกับชื่อ 'พระวิหาร' มากกว่า 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' และบางคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อภาษาเขมรของเขาพระวิหารมาก่อนเลยด้วยซ้ำ จนเกิดกรณีถกเถียงขึ้นมานั่นแหละ หลายๆ คนจึงเพิ่งได้รู้ว่ากัมพูชาเขาเรียก 'พระวิหาร' ว่า 'เพรียะฮ์วิเฮียร์'

และในทางกลับกันคนที่พูดภาษาเขมร ก็คงรูจักคำว่า 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' มากกว่า 'พระวิหาร' แน่นอนว่าทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็อยากเรียกชื่อเขาพระวิหารตามแบบที่ตัวเองเคยเรียกมาก่อน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืนยันที่จะใช้ชื่อเรียกตามภาษาของตนในการเสนอเป็นมรดกโลก มันจึงเกิดกรณีขัดแย้งขึ้น เพราะคงไม่มีใครอยากให้ชื่อที่ตัวเองคุ้นเคยต้องถูกลืมเลือนไปจากคนทั่วโลก

กับเรื่องข้อขัดแย้งครั้งนี้ ศานติ ภักดีคำ อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ให้ความเห็นว่า

"ผมมองมันเป็นการนำเอาเรื่องของภาษามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ที่จริงถ้าเราศึกษากันในเรื่องของภาษาลงไปลึกๆ แล้วเนี่ย คำว่า 'พระวิหาร' และ 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' ทั้งสองคำนี้มันเขียนเหมือนกัน คือ วิเฮียร์ หรือ วิหาร ทั้งสองคำเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาบาลีด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้น ทั้งสองคำนี้ ถ้าเรามองย้อนกลับไปดูที่รากเหง้า มันคือศัพท์ตัวเดียวกัน คำว่าวิหาร ทั้งไทยและกัมพูชาก็นำมาใช้ในความหมายของวัด หรือศาสนสถานเหมือนกัน เช่น วิเฮียร์จาม วิเฮียร์ ก็คือมัสยิด ส่วนจามก็คือชนชาติหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ในเวียดนามใต้ ตอนหลังคนเหล่านี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม แล้วก็อพยพมาอยู่ในกัมพูชา ในภาษาเขมรก็ยังเรียกมัสยิดของพวกเขาว่า วิเฮียร์ ด้วย สรุปแล้วทั้ง'พระวิหาร' และ 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' ก็คือคำเดียวกัน แต่ออกเสียงด้วยสำเนียงที่ต่างกันเท่านั้นเอง"

ในการถกเถียงครั้งนี้มีการหยิบยกเรื่องความถูกต้องหรือความเป็นชื่อดั้งเดิมของปราสาทพระวิหารมาพูดถึงด้วย เหมือนกับกัมพูชามองว่าภาษาของตัวเองเป็นภาษาที่เก่าแก่และมีความเป็นมาที่ยาวนานกว่าภาษาไทย เราจึงน่าจะยอมรับและใช้ชื่อ 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' ซึ่งเป็นชื่อที่ดั้งเดิมกว่า แต่ประเด็นนี้ก็ต้องตกไป เพราะทั้ง 'พระวิหาร' และ 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิมทั้งคู่

"จริงๆ ถ้าเราดูในจารึก ชื่อของปราสาทหลังนี้ ไม่ได้เรียกว่า พระวิหาร หรือ เพรียะฮ์วิเฮียร์ มาตั้งแต่แรก ชื่อนี้มันเป็นชื่อที่มาตั้งขึ้นในยุคหลัง เมื่อชื่อจริงของปราสาทนี้ถูกหลงลืมไปแล้ว ชื่อเดิมของปราสาท ถ้าเราไปดูในจารึกปราสาทเขาพระวิหาร ก็จะพบหลักฐานชัดเจนว่าชื่อตรงนั้นคือ 'ศรีศิขเรศวร' ซึ่งเป็นชื่อในภาษาสันสกฤต 'ศรี' ก็คือ ศิริมงคล 'ศิขร' หมายถึงยอดเขา และ 'อิศวร' คือ ผู้เป็นใหญ่ เทพเจ้าสูงสุด หมายถึงพระศิวะ ที่เป็นเทพเจ้าสูงสุดของหุบเขา"

เมื่อถามถึงทางออกของข้อถกเถียงเรื่องชื่อของเขาพระวิหาร มันก็คงมีอยู่ไม่กี่ทาง และทางเลือกหนึ่งที่มีการพูดถึงก็คือการตัดปัญหาโดยไม่ใช้ทั้งสองชื่อที่มีการเถียงกัน แต่ให้ใช้ชื่อใหม่ไปเลย และแน่นอนว่าถ้ามีการเลือกใช้ทางออกนี้ ชื่อดั้งเดิมอย่าง'ศรีศิขเรศวร' ก็น่าจะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ

"ผมคงไม่ขอสรุปว่าชื่อดั้งเดิมเป็นทางออกที่ดีในการหาข้อยุติเรื่องชื่อของปราสาทพระวิหาร จริงๆ ผมคิดว่าคงต้องคุยให้ชัดเจน เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม ถ้าเขาไม่ยอมใช้ทั้งสองชื่อ แล้วกลับไปใช้ชื่อเก่า คือ ศรีศิขเรศวร คนทั้งโลกจะรู้จักหรือเปล่า อันนี้ก็เป็นปัญหาอีก เพราะว่าชื่อ พระวิหาร หรือ เพรียะฮ์วิเฮียร์ มันเป็นที่รู้จักแล้ว ถ้ามองในมุมมองของนักภาษาศาสตร์ ผมมองว่าชื่อมันสำคัญตรงที่มันสามารถสื่อสารแล้วคนทั่วไปรับรู้ได้ว่าหมายถึงอะไร ถ้าเราไปใช้ชื่อที่คนไม่เข้าใจ สุดท้ายมันก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้ชื่อเดิมอีกนั่นแหละ"

สำหรับบทสรุปของเรื่องนี้ อาจารย์ศานติยืนกรานว่าสุดท้ายไม่ว่าไทยและกัมพูชาจะตกลงและได้ข้อยุติออกมาอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ ชื่อของปราสาทพระวิหารจะต้องเป็นชื่อที่เป็นที่รู้จักของผู้คน และสามารถสื่อสารให้คนส่วนใหญ่เข้าใจได้ด้วย

นัยยะแห่งความเป็นเจ้าของ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าก็แค่เรื่องชื่อ ทำไมถึงต้องถกเถียงกันยืดเยื้อ หรือคิดหาทางออกกันจนปวดหัว แค่ตกลงใช้ทั้งสองชื่อไปเลยก็หมดเรื่อง แต่กรณีของเขาพระวิหารไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะนอกจากความคุ้นเคยต่อชื่อเรียกปราสาทเขาพระวิหารที่ออกเสียงด้วยสำเนียงที่ต่างกันของทั้งสองประเทศแล้ว ไม่ว่าจะเป็น 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' หรือ 'พระวิหาร' ทั้งสองคำต่างก็มีนัยยะบางอย่างซ่อนอยู่

"ถ้าเป็นเรื่องการเมืองมันเป็นอีกประเด็นหนึ่งเลย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเกียรติภูมิของประเทศ การแสดงสิทธิในสถานที่นั้นๆ เช่น ถ้าเขาเรียกว่า เพรียะฮ์วิเฮียร์ มันก็เป็นการแสดงการยอมรับสิทธิของความเป็นเจ้าของของกัมพูชาที่มีต่อปราสาทเขาพระวิหาร ใช้พระวิหารก็เหมือนกับยืนยันว่าเป็นของไทย ตรงนี้มันเป็นจุดที่ค่อนข้างเปราะบาง เนื่องจากไทยกับกัมพูชามีดินแดนติดกัน มีวัฒนธรรม มีภาษาอะไรหลายๆ อย่างที่ใกล้เคียงกัน บางคำเขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน มันก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจ และเกิดปัญหาขึ้นมาได้" อาจารย์ศานติกล่าวถึงนัยยะความเป็นเจ้าของในชื่อ 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' และ 'พระวิหาร' และกล่าวถึงประเด็นปัญหาเรื่องชื่อระหว่างไทย-กัมพูชาว่า

"มันเป็นปัญหาแค่บางจุด ที่เรื่องชื่อจะแสดงนัยยะของความเป็นเจ้าของ มันถึงมีปัญหาเรื่องชื่อ แต่อย่างชื่อ 'พนมเปญ' เราก็ออกเสียงไม่ถูกต้องตามภาษาเขมร แล้วมันก็ไม่เห็นเป็นปัญหา ถ้าออกเสียงตามเขมรจริงๆ ต้องออกว่า 'พนมปิญ' แต่ไทยก็ออกเสียงว่า 'พนมเปญ' มาตั้งนานแล้ว แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมา เพราะพื้นที่ตรงนั้นมันไม่ได้มีปัญหา"

ส่วนทางด้านของ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็ได้ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า "คำว่า 'พระวิหาร' กับ 'เพรียะฮ์วิเฮียร์' มันก็เหมือนชื่อ 'บางกอก' ฝรั่งเรียก 'แบ๊งค็อก' เขมรเรียก 'บางกก' มันก็เรียกต่างกัน สำเนียงต่างกัน เพียงแต่พอมันมีเรื่องชาตินิยมเข้ามา มีเรื่องปัญหาการครอบครองเข้ามา มันก็กลายเป็นประเด็นที่เอามาเถียงกัน"

"ไอ้ปัญหาเรื่องชื่อเรียกที่สืบเนื่องมาจากเรื่องดินแดนมันมีเกือบทุกประเทศนั่นแหละ ถามว่าพม่ากับบังคลาเทศมีไหม มันก็มี หรือขณะเดียวกัน อินเดียกับปากีสถานก็ยังมี เรื่องนี้ไม่แปลก มีปัญหากันทั้งโลก ยกตัวอย่างชัดๆ ก็ 'ไซ่ง่อน' เขมรเรียก 'บันทายไพรนคร' เขาก็เรียกกันอยู่ของเขา เพียงแต่ว่า ไซ่ง่อนมันอยู่ในดินแดนเวียดนาม ก็เรียกตามนั้นไป อย่างในประวัติศาสตร์ไทยเอง เมืองศรีสัชนาลัย พระเจ้าติโลกราชแห่งเมืองเชียงใหม่ก็จะเรียก 'เชียงชื่น' แต่ฝั่งอยุธยาเรียก 'ศรีสัชนาลัย'"

อาจารย์รุ่งโรจน์ยืนยันว่าการเมืองเรื่องชื่อ และปัญหาเรื่องรูปๆ คำๆ ในประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว หากสืบค้นไปในประวัติศาสตร์ เราก็จะพบเรื่องราวเหล่านี้มากมายที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า...




ปัญหาเรื่องรูปๆ คำๆ ในประวัติศาสตร์

- 'เสียมราบ' VS 'เสียมราฐ' ตัวอย่างกรณีชื่อที่ขัดแย้งกันของไทยกับกัมพูชา ทีเห็นได้ชัดก็คือ 'เสียมราบ' กับ 'เสียมราฐ' เอกสารกัมพูชามีบันทึกไว้ว่าไทยไปแพ้ศึกให้เขมรที่นั่น เขมรก็เลยตั้งชื่อว่าเสียมราบ ซึ่งแปลว่าไทยแพ้ ชื่อนี้ในเอกสารกัมพูชาจะเขียนว่า 'เสียมราบ' แต่ออกเสียงว่า 'เรียบ' สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เอกสารไทยก็ยังใช้ชื่อตามนั้นอยู่ แต่พอรัชกาลที่ 5 มีเรื่องอาณานิคมเข้ามา ก็เลยมีการแก้เป็น 'ฐ' กลายเป็น 'เสียมราฐ' ซึ่งหมายถึง ดินแดนของสยาม แต่กัมพูชาเขาไม่แก้ เขาใช้ 'เสียมเรียบ' ติดต่อกันมาถึงปัจจุบัน ประเด็นนี้จึงกลายเป็นปัญหา เพราะเขมรบอกว่าไทยควรเปลี่ยนไปเรียกตามแบบของเขา ขณะที่ไทยยังคงใช้ 'เสียมราฐ' อยู่ เพราะเป็นศัพท์ที่คนไทยรู้จัก และใช้กันทั่วไปมานานแล้ว

- 'นราธิวาส' VS 'บังนารา' ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีปัญหาที่เกี่ยวพันกับเรื่องชื่อเหมือนกัน อย่าง 'นราธิวาส' ชื่อเดิมคือ 'บังนารา' การไปเปลี่ยนชื่อเป็น 'นราธิวาส ' ก็เป็นการแสดงถึงนัยยะความเป็นเจ้าของ ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เรามองว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่อีกฝ่ายไม่ได้มองเหมือนเรา คือภาษามันถูกนำมาใช้แสดงถึงความเป็นตัวตน ความเป็นเจ้าของ

- 'เซียม' VS 'สยาม' สองคำนี้ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาโดยตรง แต่เป็นปัญหาเชิงประวัติศาสตร์ที่มีการรบกันระหว่างสองรัฐ ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของกัมพูชาจะเรียกคนไทยว่า 'เซียม' หรือ 'สยาม' แต่หลังจากที่จอมพลป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นประเทศไทย กัมพูชาก็เปลี่ยนมาเรียกไทยตามไปด้วย แต่คำๆ นี้มันก็ยังมีการนำกลับมาใช้โดยแฝงนัยยะบางอย่าง อย่างในกรณีที่เขาจะโจมตี หรือแสดงถึงนัยยะความรู้สึกที่ไม่ดีต่อไทย เขาจะหันกลับไปใช้คำว่า 'เซียม' ทันที เพราะมันเป็นคำที่ใช้ในหน้าประวัติศาสตร์ เวลาที่ไทยไปตีกัมพูชา ในภาษาเขมรมันจะมีสองคำที่ชัดเจนเลยกับประเทศเพื่อนบ้าน คือคำว่า 'เซียม' ที่ใช้เรียกไทย กับคำว่า 'ญวณ' ที่ใช้เรียกเวียดนาม ถ้ามันมีความไม่พอใจเกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ สองคำนี้จะถูกนำกลับมาใช้ทันที อย่างถ้าเราไปดูโทรทัศน์กัมพูชา ถ้าเขาพูดถึงไทยในกรณีเขาพระวิหาร มันจะมีการกลับไปใช้คำว่าเซียมตลอด

- เขมร VS กัมพูชา คนไทยหลายคนอาจจะใช้ทั้งสองคำนี้โดยไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่ถ้าไปถามคนกัมพูชาแล้ว คำสองคำนี้แตกต่างกันด้านความรู้สึก เขามองคำว่า 'เขมร' ว่ามีนัยยะบางอย่างอยู่ คล้ายๆ คำว่า'เซียม' ที่เขาใช้เรียก 'ไทย' หลังจากเหตุการณ์รุนแรงในปี 2546 ที่มีการเผาสถานทูตไทย เราจึงพยายามที่จะไม่ใช้คำว่า 'เขมร'

- แคมโบเดีย+แคมโบดจ์ VS กัมพูชา นอกจากกรณีของภาษาไทยกับเขมร ก็ยังมีกรณีภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสกับภาษาเขมรด้วย อย่าง 'กัมพูชา' ที่ภาษาเขมรออกเสียง 'กัมพูเชีย' แต่ในภาษาอังกฤษเขียนว่า 'Cambodia'(แคมโบเดีย) และในภาษาฝรั่งเศสเขียนว่า 'Cambodge'(แคมโบดจ์) กัมพูชาก็บอกว่าไม่ใช่เสียงที่ถูกต้อง และเขาก็ไม่พอใจ เพราะสองคำนั้นมันเป็นเสียงเรียกแบบตะวันตก ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม




*****************************************

ศานติ ภักดีคำ
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
กำลังโหลดความคิดเห็น