ปัจจัยที่กำหนดผลแพ้ชนะในเกมกีฬาไม่ได้มีเพียงความสามารถของตัวผู้แข่ง ความแข็งแกร่งของร่างกาย สภาพจิตใจ และจังหวะโชคดวงเท่านั้น ทว่า เรื่องสภาวะอากาศก็มีผลไม่แพ้กัน ดังเช่น โนวัค ยอโควิช แร็กเกตหนุ่มชาวเซิร์บที่ไม่อาจป้องกันแชมป์ออสเตรเลียน โอเพน 2009 เมื่อปลายเดือนก่อนได้ เนื่องจากพ่ายแพ้ต่อแดดอันร้อนจัด จนต้องยอมถอนตัวจากการดวลกับ แอนดี ร็อดดิก ในรอบ 8 คนสุดท้ายกลางคัน
กระนั้น ใช่ว่าเทนนิสจะเป็นกีฬาชนิดเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการลงสนามขณะตะวันสาดแสงแรงกล้าในช่วงฤดูร้อน ซึ่ง 3 กรณีจาก 3 ประเภทกีฬาในบรรทัดต่อจากนี้เป็นตัวอย่างในอดีต ซึ่งมนุษย์ที่ว่าแน่ๆ สุดท้ายก็ยังต้องสยบให้กับธรรมชาติอยู่ดี
พอลลา แรดคลิฟฟ์ (กรีฑา)
ก่อนหน้าเอเธนส์เกมส์ 2004 ที่ประเทศกรีซ แรดคลิฟฟ์ ไม่เคยแพ้ใครในการวิ่งมาราธอน ทำให้ชาวสหราชอาณาจักรมั่นใจว่าเหรียญทองจะเป็นของเธอแบบนอนมา แต่สำนวนที่ว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ยังใช้ได้เสมอ เมื่อ แรดคลิฟฟ์ เจ็บขาก่อนเข้าร่วมมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ณ แดนเทพนิยายจนต้องทานยาระงับอาการอักเสบ ซึ่งยาเจ้ากรรมกลับมีผลต่อการดูดซึมอาหาร ทำให้เธอถึงกับอ่อนเปลี้ยเพลียแรงก่อนลงแข่ง
เมื่อบวกกับอากาศร้อนราว 35 องศาเซลเซียสและความชื้นสูงในอากาศที่ต้องเจอระหว่างแข่งขัน ส่งผลให้ พอลลา วิ่งไปได้เพียง 23 ไมล์ก็ต้องขอนถอนตัว เนื่องจากหน้ามืดจนวิ่งต่อไม่ไหว หลังจากนั้นความทรงจำอันขมขื่นซึ่งเธอเข้าเส้นชัยเป็นที่ 4 ในการวิ่ง 10,000 เมตรที่ ซิดนีย์เกมส์ 2000 ก็แล่นเข้ามาในศีระษะ ก่อนจะร่ำไห้ออกมาระหว่างนั่งพักริมทางด้วยความเศร้าเสียใจที่ต้องพลาดเหรียญรางวัลอีกครั้ง
ภายหลังนักวิ่งสาวจากเชสเชียร์ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ชนชาวผู้ดีผิดหวังว่า “ฉันไม่เคยวิ่งไม่ถึงเส้นชัยมาก่อน ซึ่งยาแก้อักเสบและความเครียดมีผลไปบีบลำไส้จนร่างกายไม่สามารถดูดซับพลังงานและสารอาหารได้เพียงพอ ฉันขอโทษจริงๆ ที่ต้องหยุดวิ่ง ซึ่งคงเป็นเพราะใช้งานร่างกายหนักเกินไป วันนั้นเป็นวันที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตฉันเลย ถึงร่างกายเจ็บปวดก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่หัวใจของฉันสิมันแตกเป็นเสี่ยงๆ เลยทีเดียว”
แจ็ค ชาร์ลตัน และ จอห์น อัลดริดจ์ (ฟุตบอล)
“บิ๊กแจ็ค” ตกเป็นข่าวพาดหัวตัวโตระหว่างศึกฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐฯ เมื่อกุนซือทีมชาติไอร์แลนด์ ตวาดเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าที่ไม่อนุญาตให้เขาส่งน้ำส่งท่าให้กับผู้เล่นซึ่งกำลังกระหายน้ำในระหว่างฟาดแข้งกลางวันแสกๆ ของช่วงซัมเมอร์ โดยก่อนหน้านี้สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ได้ส่งจดหมายชี้แจงแต่ละทีมก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์ว่าจะให้น้ำแก่นักเตะได้ก็ต่อเมื่อมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรงหรือเล่นต่อไม่ไหวจริงๆ เท่านั้น
เหตุอื้อฉาวดังกล่าวปะทุขึ้นในระหว่างเกมรอบแรกที่ “ยักษ์เขียว” กำลังตามหลัง เม็กซิโก 0-2 ซึ่ง ชาร์ลตัน หวังส่ง จอห์น อัลดริดจ์ ลงไปเสริมแดนหน้าแทน ทอมมี คอยน์ ที่หมดแรงหลังผ่านแสงแดดยามบ่ายอันร้อนระอุในออร์ลันโดมาชั่วโมงเศษ แต่ผู้ตัดสินที่ 4 กลับไม่ยอมให้เปลี่ยนตัวทันที ทำให้ “อัลโด” ถึงกับสบถใส่แบบไม่ยั้งจนเสียงเล็ดลอดออกกล้องโทรทัศน์ที่อยู่ข้างหลัง และผู้ชมการถ่ายทอดก็ได้ยินคำเหล่านั้นชัดเต็มสองหู
แน่นอนว่าทั้งคู่โดนปรับเงินตามระเบียบ โดยที่ ชาร์ลตัน ถูกสั่งห้ามคุมทีมข้างสนามอีก 1 นัดด้วย อย่างไรก็ตาม ไพ่ตายของบิ๊กแจ็คก็มาแผลงฤทธิ์ยิงตีไข่แตกในช่วง 6 นาทีสุดท้าย อันเป็นประตูสำคัญที่ช่วยให้ ไอร์แลนด์ เบียดเข้ารอบ2 ในเวลาต่อมาด้วยผลต่างประตูได้-เสีย
โฮเซบา เบโลกี (จักรยาน)
สิงห์สองล้อชาวสเปนผู้นี้กำลังขับเคี่ยวกับผู้นำเวลารวมในศึกตูร์ เดอ ฟรองซ์ 2003 อย่าง แลนซ์ อาร์มสตรอง แบบหายใจรดต้นคอ ซึ่งโอกาสที่ เบโลกี จะยึดเสื้อเหลืองจากแชมป์เก่า 4 สมัยซ้อน (ในเวลานั้น) มาถึงในสเตจที่ 9 เนื่องจากตามหลังเพียงแค่ 40 วินาที และสามารถขี่นำคู่ปรับชาวอเมริกันได้จนเหลือแค่ 8 กิโลเมตรก่อนเข้าเส้นชัยเท่านั้น
ทว่า โอกาสแห่งชัยชนะของนักปั่นน่องเหล็กจากแคว้นบาสก์ก็มาหลุดลอยไปแบบเจ็บปวดรวดร้าว เมื่อยางล้อหลังทนความร้อนสะสมบนพื้นถนนราว 50 องศาเซลเซียสไม่ไหวจนยางรั่ว ทำให้ เบโลกี ควบคุมรถไม่อยู่ก่อนกระแทกพื้นอย่างจัง เป็นผลให้ต้องออกจากการแข่งขันทันที เนื่องจากกระดูกหักทั้งโคนขา, ข้อศอก และข้อมือ ส่วน แลนซ์ ที่ตามหลังมาติดๆ กลับรอดตัวด้วยการหักหลบเข้าข้างทางก่อนไต่ลงเนินจนเข้าเส้นชัยในที่สุด
หลังจบสเตจ อาร์มสตรอง ซึ่งก้าวขึ้นไปเถลิงแชมป์สมัยที่ 5 ในบั้นปลายเผยถึงวินาทีที่รถของคู่แข่งคนสำคัญล้มลงต่อหน้าต่อตาว่า “ผมไม่เคยเจอเหตุการณ์น่าตกใจเช่นนี้ในการแข่งขันมาก่อนเลย ในจังหวะนั้นผมหักหลบไปตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด แต่สภาพถนนเช่นนั้นก็ไม่ปลอดภัยสำหรับนักแข่งจริงๆ”