xs
xsm
sm
md
lg

“Whereabouts rule” ตรวจเข้ม!! โด๊ปลูกหนัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รูนี่ย์ - เจอร์ราร์ด นักเตะทีมชาติอังกฤษมีสิทธิถูกจับตรวจโด๊ป
ในห้วงปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าบทบาทขององค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ World Anti- Doping Agency (WADA) จะก้าวเข้ามามีบทบาทในวงการกีฬาโลกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู” ต่อกรณีของ แมเรียน โจนส์ นักกรีฑาทีมชาติสหรัฐฯ ที่ถูกตรวจพบว่าใช้สารกระตุ้นจริงจนต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนรวมไปถึงการริบเกียรติยศเหรียญรางวัลจากการแข่งขัน

หลังกรณีของ โจนส์ ดูเหมือนว่า “WADA” จะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจมากขึ้นจากระดับนักกีฬาสมัครเล่น มาถึง นักกีฬาอาชีพและล่าสุดวงการฟุตบอลอังกฤษกำลังจะมีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเมื่อสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ออกมาเปิดเผยว่าเตรียมนำระบบตรวจสอบหาสารกระตุ้นซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่นักกีฬาประเภทอื่น เช่น นักกรีฑา นักว่ายน้ำ หรือนักปั่นจักรยานนำมาใช้กับนักฟุตบอล โดยจะเริ่มนำวิธีการนี้มาใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีหน้าเป็นต้นไป

แน่นอนว่าวิธีการตรวจสอบดังกล่าวเป็นระบบที่ออกแบบโดย WADA ซึ่งถูกเรียกขานกันแบบเสียดสีในวงการกีฬาเมืองผู้ดีเรียกว่า “Whereabouts rule” ซึ่งมีความหมายว่านักกีฬากลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในบัญชีรายชื่อต้องมีความพร้อมเพื่อรับการตรวจโด๊ปจากเจ้าหน้าที่อยู่เสมอไม่ว่าจะอยู่ระหว่างการเก็บตัวฝึกซ้อมหรือการพักผ่อนวันหยุดอยู่กับครอบครัว

ที่ผ่านมาการตรวจโด๊ปของวงการลูกหนังอังกฤษเป็นการสุ่มตรวจนักเตะภายหลังการแข่งขันแต่ละ แมตช์จำนวนทีมละ 2 คนทำให้โครงสร้างของการบริหารจัดการมีขนาดใหญ่โตมาก แต่สำหรับระบบที่ออกแบบโดย WADA นั้นทางเอฟเอจะเป็นผู้คัดเลือกนักเตะจากลีกทุกระดับชั้นของประเทศเข้ามาอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มตัวอย่างที่เฝ้าจับตาเป็นจำนวนเพียง 30 รายโดยกำหนดให้เป็นนักเตะทีมชาติอังกฤษจากทั้งชุดใหญ่หรือชุดเยาวชนเป็นจำนวน 15 รายที่เหลือจากนั้นจะคัดเลือกจากนักเตะต่างชาติที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก

ทั้งนี้การคัดเลือกนักเตะที่จะเข้ามาเป็นกลุ่มตัวอย่างจะพิจารณาจากประวัติความประพฤติในอดีตและการพลาดการตรวจโด๊ปในการแข่งขันระดับยุโรปเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนเนื่องจากพักรักษาตัวจากอาการบาดเจ็บภายหลังจากการเปิดเผยของ เอฟเอ ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายในวงการฟุตบอลเริ่มที่ กอร์ดอน เทย์เลอร์ ประธานบริหารสมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (พีเอฟเอ) แสดงความกังวลว่าระบบตรวจสอบดังกล่าวจะเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวของนักเตะโดยกล่าวว่า

“ถ้าพวกเราออกมาวิจารณ์ระบบการตรวจสอบการใช้ยา ผู้คนจะมองว่าพวกเรากำลังปิดบังบางสิ่งบางอย่าง แต่ตามสถิติที่ถูกบันทึกในรอบ 10 ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าวงการฟุตบอลมีความสะอาดอย่างสูงที่สุด (ปราศจากการใช้ยา) และไม่พบการกระทำใดที่แสดงให้เห็นว่ามีการความหลงใหลกับการใช้ยา” ประธานพีเอฟเอกล่าว

ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการฟุตบอลมาเกือบครึ่งศตวรรษมองว่าระบบนี้จะสร้างความยุ่งยากการดำเนินชีวิตให้กับนักฟุตบอลและบางครึ่งอาจจะถูกลงโทษจากการกระทำที่เกิดจากความไม่ได้ตั้งใจทำผิด

“กระบวนการตรวจสอบดังกล่าวจะก่อให้เกิดความรำคาญแก่พวกเรา ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำหนดวันหยุดให้กับนักเตะ คุณจะต้องแจ้งไปให้ทาง เอฟเอ ได้รับทราบเพื่อบอกพวกเขาว่าลูกทีมคนดังกล่าวจะอยู่สถานที่ใดเพื่อพร้อมรับการตรวจสอบ” กุนซือชาวสกอตต์ กล่าว “นอกจากนี้ คุณน่าจะรู้เป็นเกี่ยวกับนักฟุตบอลอายุน้อย ระหว่างที่พวกเขาพักผ่อนอยู่กับบ้าน แต่พวกเขาอาจจะลืมจนออกไปซื้อของข้างนอกเป็นระยะเวลาหนึ่งและมันพอดีกับที่เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพอดี”

อย่างไรก็ตามด้าน แอนดี พาร์กินสัน หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการใช้สารต้องห้ามของสมาคมกีฬาแห่งสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นหน่วยงานที่ออกมาสนับสนุนให้มีการนำระบบนี้มาใช้กับวงการฟุตบอลออกมาชี้ให้หลายฝ่ายมองเห็นถึงแง่ดีของการตรวจสอบดังกล่าวว่าจะเป็นการยกระดับวงการฟุตบอลให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

“พวกเรามิใช่ผู้ที่ออกกฎมาเพื่อสร้างความยากลำบากให้กับนักฟุตบอล พวกเรากำลังพยายามที่จะปกป้องวงการกีฬา” พาร์กินสันกล่าว “บรรดานักกรีฑารวมถึงนักปั่นจักรยาน ได้รับการตรวจสอบจากการโด๊ป มากกว่านี้หลายเท่า พวกเราเพียงแต่ไม่ต้องการให้วงการฟุตบอลเพิกเฉยต่อเรื่องนี้มากเกินไป”

นอกจากนี้บรรดานักฟุตบอลที่อยู่ในรายขื่อของกลุ่มนักเตะตัวอย่างมิใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด แต่จะเป็นเสมือนกับทูตพิเศษที่จะช่วยรณรงค์ให้เกิดการขจัดการใช้สารกระตุ้นออกไปจากวงการ เช่นเดียวกับ ริโอ เฟอร์ดินานด์ ปราการหลังทีมแมนฯ ยูไนเต็ด ที่เคยถูกลงโทษแบนเป็นเวลา 8 เดือน เนื่องจากเมื่อปี 2003 พลาดการตรวจโด๊ปที่สนามฝึกซ้อมของต้นสังกัดออกมากล่าวทิ้งท้ายด้วยการให้ความสนับสนุนระบบนี้เช่นกันว่า

“มันเป็นสิ่งที่ยุติธรรมดี ถ้ามันช่วยยะกระดับพวกเราให้เท่ากับนักกีฬาประเภทอื่น ผมพอใจ เพราะพวกเราก็ได้รับการตรวจสอบหลายครั้งอยู่แล้ว นักเตะหลายคนได้รับการตรวจสอบเป็นเวลา 3-4 ครั้งต่อปี ดังนั้นมันจึงเป็นสร้างความแตกต่างให้กับเพวกเราที่จะเผชิญกับสิ่งนี้”
เตเบซ แข้งต่างชาติก็มีสิทธิเจอกฎ Whereabouts rule
เซอร์อเล็กซ์ ออกปากไม่เห็นด้วยกับกฎเหล็ก
ริโอ เฟอร์ดินานด์ สวนกระแสสนับสนุนให้ตรวจโด๊ป
กำลังโหลดความคิดเห็น