xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จุฬาฯ เผยผู้ป่วยไอซียู ชาวไต้หวัน “เหยื่อซานติก้า” อาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ แผลไฟไหม้เริ่มติดเชื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รพ.จุฬาฯ-ตำรวจ เผย เหยื่อซานติก้า ผับ ญี่ปุ่นตายเพิ่ม 1 ราย รวมโรงพยาบาล 2 แห่ง เสียชีวิต 60 ราย ชายชาวไต้หวัน อาการหนัก อยู่ไอซียู ใส่ท่อช่วยหายใจ แผลไฟไหม้เริ่มติดเชื้อ ส่วนศพพิสูจน์เอกลักษณ์เรียบร้อย ญาติทยอยรับเกือบหมด แพทย์ตำรวจ ชี้ คนไข้ไอซียูน่าห่วง เกรงผลแทรกซ้อน-ไตวาย ด้าน รพ.รามาฯ เผยผลชันสูตรผู้เสียชีวิต 5 ราย พบสาเหตุการตายจากแผลไฟไหม้ สูดดมก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์

วันนี้ (5 ม.ค.) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทย์จาก รพ.จุฬาฯ และ รพ.ตำรวจ สรุปข้อมูลสถานการณ์ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ซานติก้าผับ ในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2552 โดย รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ พล.ต.ท.สมยศ ดีมาก นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

รศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เมื่อเวลา 21.05 น.ของคืนวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา คือ Mr.KEIICHI WADA ชาวญี่ปุ่น อายุ 38 ปี เสียชีวิตเนื่องจากเกิดภาวะระบบหายใจ ระบบไต และระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว และเสียชีวิตอย่างสงบ โดยมีญาติชาวญี่ปุ่น พร้อมเจ้าหน้าที่สถานทูต และแพทย์ชาวญี่ปุ่น ได้เดินทางมาดูแลตั้งแต่หลังวันที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด ทำให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตที่ รพ.จุฬาฯ ทั้งสิ้น 31 ราย ส่วนศพที่ชันสูตรสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ทางบุคคลเรียบร้อย และญาติมาติดต่อขอรับทั้งหมดแล้ว

รศ.นพ.อดิศร กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ยังพักรักษาตัวที่ รพ.จุฬาฯ 4 รายนั้น เป็นชาวไต้หวัน 1 ราย คือ Mr.MARSS WAN-CHENG อายุ 55 ปี ย้ายมาจาก รพ.ปิยะเวท ถือว่ามีอาการหนักพอสมควร โดยเฉพาะแผลไฟไหม้ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 65 และแผลเริ่มติดเชื้อเล็กน้อย ผู้ป่วยได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ รู้สึกตัวดี แต่แพทย์ต้องให้ยานอนหลับเพื่อให้พักผ่อน ที่เป็นห่วง คือ ระบบทางเดินหายใจ และแผลไฟไหม้ โดยในวันที่ 6 ม.ค.ศัลยกรรมตกแต่งพลาสติก จะเข้ามาดูแลอาการเพื่อตกแต่งแผล โดยผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู ศัลยกรรม ตึกสิรินธร ชั้น 2

รศ.นพ.อดิศร กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ป่วยอีก 3 ราย คือ นายนิยต ดำรงประภักดิ์ อายุ 31 ปี และ นายอวิโรจน์ ศิรินทร์วรชัย อายุ 20 ปี ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว ขณะที่ น.ส.ศิริลักษณ์ อักษรวรรณ อายุ 20 ปี ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ในวันเดียวกันอีก 2 ราย

ด้าน พล.ต.ท.สมยศ กล่าวว่า ได้ประสานกับ รพ.จุฬาฯ เพื่อรับศพไปชันสูตรต่อ โดยสามารถพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้แล้วทั้งหมด 29 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่ง 28 ราย เป็นการส่งต่อมาจาก รพ.จุฬาฯ และอีก 1 ราย ส่งต่อมาจาก รพ.รามคำแหง ทั้งนี้ เสียชีวิตเนื่องจากภาวะการไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว โดยศพทั้งหมดมีญาติมาติดต่อขอรับแล้ว นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยเหลืออยู่อีก 1 ราย อาการยังไม่พ้นขีนอันตราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากถูกความร้อนทำลายเนื้อเยื่อภายใน ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอด ส่วนบาดแผลภายนอกถูกไหม้เพียงร้อยละ 10 จนถึงขณะนี้ มีชาวต่างชาติที่เสียชีวิต เป็นชาวพม่า 1 ราย สิงคโปร์ 3 ราย และ ญี่ปุ่น 1 ราย

“ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกหรือไม่ เนื่องจากมีผู้ป่วยหนักต้องรักษาตัวในไอซียูอีกหลายราย เพราะร่างกายเสียเกลือแร่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และอาจทำให้ไตวายได้ และยิ่งนานก็อาจทำให้แผลมีการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น ต้องใช้ยาปฏิชีวนะขั้นสูงในการรักษา ซึ่งผลจากการแทรกซ้อนต่างๆ อาจทำให้ผู้ป่วยทนพิษบาดแผลไม่ไหวและเสียชีวิตได้” พล.ต.ท.สมยศ กล่าว

ขณะเดียวกัน ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี รศ.นพ.ธันย์ สุภัทรพันธุ์ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ ที่ยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจำนวนทั้งสิ้น  6 ราย มีเพียง 2 ราย ที่ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด คือ น.ส.นัทชา ชัยรำลึก อายุ 21 ปี และ น.ส.ธัญญา ชูเกียรติ อายุ 38 ปี เนื่องจากมีบาดแผลไฟไหม้บริเวณใบหน้า และแขนกว่าร้อยละ 10 รวมทั้งมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ โดยแพทย์ได้ใส่เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วง พ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนอีก 1 ราย คือ น.ส.ธนสร แดงสวัสดิ์ อายุ 34 ปี ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เพราะยังมีปัญหาจากการสูดควันไฟ แต่ไม่ถึงขั้นรุนแรง นอกนั้นอีก 3 ราย คือ น.ส.สุปราณี ทาเภา อายุ 23 ปี น.ส. Yew Siew Fen ชาวมาเลเซีย อายุ 21 ปี และ นายอัศวิน หวังทวีวงศ์ อายุ 22 ปี สามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วันนี้

ด้าน ผศ.พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เปี้ยวนิ่ม หัวหน้าหน่วยนิติเวช ภาควิชาพยาธิวิทยา กล่าวว่า สำหรับที่ รพ.รามาฯ ได้ทำการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต 5 ราย ซึ่งถูกส่งต่อจากโรงพยาบาลต่างๆ มายัง รพ.รามาฯ พบว่า ผู้ป่วยเสียชีวิต เนื่องมาจากผิวหนังถูกไฟไหม้และได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ทำให้เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ดังนั้น หากเกิดกรณีเพลิงไหม้ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ต้องตั้งสติ พยายามกลั้นหายใจและวิ่งหาทางออกให้เร็วที่สุด หรือใช้ถุงพลาสติกคลุมหัววิ่งหนีหาอากาศภายนอก หรืออาจใช้วิธีหมอบคลาน เนื่องจากก๊าซดังกล่าวเป็นก๊าซที่มีลักษณะมวลเบากว่าออกซิเจน จึงลอยสูง การก้มต่ำจะหลีกหนีก๊าซดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.สุปราณี ทาเภา อายุ 23 ปี หนึ่งในผู้บาดเจ็บ ซึ่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านในวันที่ 6 มกราคม ได้ร่วมแถลงข่าวด้วย โดย น.ส.สุปราณี เป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันกับ เคอิชิ วาดะ ชาวญี่ปุ่นที่รักษาตัวที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ และเสียชีวติลงเมื่อคืนวันที่ 4 ม.ค. โดย น.ส.สุปราณี ได้รับการช่วยเหลือจาก นายเคอิชิ แต่ได้พลัดหลงกัน ซึ่งเมื่อ น.ส.สุปราณี ทราบข่าวจากพี่สาว ว่า นายเคอิชิ ได้เสียชีวิตแล้ว น.ส.สุปราณี ก็ร้องไห้จนไม่สามารถให้สัมภาษณ์ต่อไปได้ โดยแพทย์ต้องพากลับเข้าห้องพักทันที 

นางลำเพย ทาเภา พี่สาวของ น.ส.สุปราณี กล่าวว่า ทราบจากเพื่อนๆ ที่รอดชีวิต ว่า นายเคอิชิ ได้หนีออกไปก่อนแล้ว แต่เข้าไปช่วยเพื่อนที่ติดอยู่ในร้าน สุดท้ายจึงได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อทราบข่าวรู้สึกเสียใจมาก และต้องขอขอบคุณ นายเคอิชิ ที่ช่วยเหลือน้องสาวตนไว้

“ฝากให้เจ้าของผับแสดงความรับผิดชอบด้วย เพราะจนขณะนี้ยังไม่มีใครติดต่อมาถึงความช่วยเหลือใดๆ และขอฝากให้สถานบันเทิงทุกแห่งควรปรับปรุงร้านให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยต้องมีทางหนี ทางออกฉุกเฉินให้มากกว่านี้ มีระบบป้องกันอัคคีภัย ไม่ใช่เมื่อเกิดเรื่องกลับไม่มีทางหนี สุดท้ายก็ตายกันจำนวนมาก”นางลำเผย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น