กระทรวงสาธารณสุขเผยเหยื่อ “ซานติก้าผับ” เสียชีวิตอีก 2 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตเป็น 61 ราย อยู่ห้องไอซียู 26 ราย พร้อมเดินหน้าเจรจาโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตยังคงทยอยเข้ารับศพ ระบุขณะนี้ยังเหลือศพที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้อีก 13 ศพ
นพ.ชาตรี เจริญธีระกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ผู้บาดเจ็บจากเหตุไฟไหม้ซานติก้าผับ ซึ่งพักรักษาในโรงพยาบาลกรุงเทพฯ 2 รายได้เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา คือ น.ส.วิภาวรรณ ถนอมปัญญารักษ์ และนายยุทธนา สินไพบูลย์ผล จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรวมทั้งหมด 61 ราย ยังอยู่ห้องไอซียู 26 ราย
สำหรับค่าใช้จ่ายของผู้ที่รักษาในโรงพยาบาลเอกชนนั้น ตนได้รับมอบหมายจาก นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ประสานความช่วยเหลือ ซึ่ง สธ.จะเป็นตัวกลางประสานกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อต่อรองค่าใช้จ่าย และเรียกร้องให้เจ้าของผับรับผิดชอบ หากไม่ได้ก็ต้องเสนอรัฐบาลชงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ดังนั้นการดำเนินการจะต้องเป็นขั้นตอน
ด้านฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แจ้งอาการผู้ป่วยจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับที่ยังพักรักษาตัวอยู่ในขณะนี้มี 7 ราย ดังนี้ พักห้องไอซียู ศัลยกรรม ตึกสิรินธร จำนวน 2 รายคือ 1.Mr.KEIICHI WADA อายุ 25 ปี ถูกไฟไหม้ประมาณร้อยละ 60 ได้รับการใส่ท่อหายใจ 2.นายสุทธิรักษ์ สำเร็จประสงค์ อายุ 29 ปี ได้รับการใส่ท่อหายใจ พักที่ตึกจุฬาภรณ์ ชั้น 3 จำนวน 2 คือ 1.นายนิยต ดำรงค์ประภักดิ์ อายุ 31 ปี ได้รับการใส่ท่อหายใจ 2.น.ส.ศิริลักษณ์ อักษรวรรณ อายุ 20 ปี ได้รับการใส่ท่อหายใจ และที่เหลืออีก 3 ราย พักอยู่ที่ตึกมงกุฏเพชรรัตน์ ชั้น 3 จำนวน 3 ราย คือ 1.นายอวิโรจน์ ศิรินทร์วรชัย อายุ 20 ปี ได้รับการใส่ท่อหายใจ 2. น.ส.นลินรัตน์ อิฐธนรักษ์ อายุ 20 ปี 3.นางนภัส ภูมีราม อายุ 32 ปี
สำหรับผู้เสียชีวิตที่รอญาติมาติดต่อขอรับศพจำนวน 6 ราย ทราบชื่อเพียง 1 รายคือ นายธนวัติ พรมยศ ที่เหลือเป็นหญิงไม่ทราบชื่อ-สกุล อีก 5 ราย
ขณะที่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ตำรวจ ได้ประชุมร่วมกับพนักงานสอบสวน คดีเพลิงไหม้ซานติก้า ผับ ซอยทองหล่อ พร้อมแนะนำวิธีพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล ซึ่งขณะนี้ยังเหลือที่ยังไม่สามารถระบุชื่อได้อีก 13 คน ซึ่งทั้งหมดถูกไฟเผาจนไหม้เกรียม และยากแก่การตรวจพิสูจน์ จึงจะใช้วิธีการแบบเดียวกับที่ใช้ในเหตุการณ์สึนามิ คือจะเก็บหลักฐานลายนิ้วมือ หลักฐานทางการแพทย์ ควบคู่กับญาตินำหลักฐานของผู้ต้องสงสัยมาตรวจสอบไปพร้อมกัน โดยทำวันต่อวัน มีคณะกรรมการตรวจสอบและอนุมัติการปล่อยศพ ซึ่งมีทั้งหมด 2 รอบต่อวัน เชื่อว่าทั้ง 13 ศพจะสามารถระบุได้ว่าเป็นใครในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันมีญาติผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติมาตรวจสอบข้อมูลที่ สน.ทองหล่อติดประกาศไว้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สถานทูตของสิงคโปร์ มาติดต่อสอบถามข้อมูลชาวสิงคโปร์ที่เสียชีวิต และที่ยังสูญหายอีก 1 คน