การเจ็บป่วยด้วยโรคเนื้องอกในสมองของ เซวี บาเยสเตรอส ตำนานโปรจากสเปนจนต้องเข้ารับการผ่าตัดและกำลังพักรักษาตัวอยู่ ณ เวลานี้ ทำให้ผู้คนในแวดวงกีฬาเอาใจช่วยให้เขาต่อสู้กับโรคร้ายได้สำเร็จ ความเป็นห่วงเป็นใยเช่นนี้มิใช่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะได้รับเว้นเสียแต่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำคุณูปการให้กับวงการจนเป็นที่จดจำของคนรุ่นหลังไม่ลืมเลือน
นักกีฬาอื่นนอกเหนือจาก “เซวี” ที่ผู้คนให้ความเคารพยกย่องไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ยอดเยี่ยมที่สุดหรือคว้าแชมป์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่บุคคลเหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬารุ่นใหม่หรือสร้างสรรค์ผลงานที่นอกจากจะช่วยพัฒนาวงการให้ดีขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อมุมมองที่เรามีต่อโลกหรือเพื่อนมนุษย์อีกด้วย โดยหนังสือพิมพ์ “เดอะ ไทม์” (The Time) แห่งประเทศอังกฤษได้จัดอันดับรายชื่อนักกีฬาที่มีแนวคิดและวิถีชีวิต ที่พลิกมุมมองของคนทั่วโลกที่มีต่อวงการกีฬา เราขอคัดบางรายมานำเสนอต่อท่านผู้อ่านในวันนี้
1. เซวี บาเยสเตรอส (นักกอล์ฟ, สเปน) อดีตมือ 1 ของโลกและตลอดการเล่นอาชีพเป็นแชมป์เมเจอร์ 5 สมัยจากรายการ ดิ โอเพ่น 3 สมัยปี 1979, 1984, 1988 และรายการเดอะ มาสเตอร์ 2 สมัยปี 1980, 1983
บาเยสเตรอส เข้าสู่ระดับอาชีพเมื่อปี 1974 ด้วยวัยเพียง 16 ปี เขาสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการด้วยรูปแบบการเล่นเฉพาะตัวที่เต็มไปด้วยอารมณ์ กล้าเสี่ยงตีลูกยาก ต่างจากนักกอล์ฟคนอื่นที่เล่นกันอย่างรัดกุมและเต็มไปด้วยความเครียด นอกจากนี้วงการกอล์ฟในขณะนั้นถูกครอบครองไปด้วยโปรชาวสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร การที่เขาในฐานะนักกอล์ฟชาวสแปนิช จึงช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่จากภาคพื้นทวีปยุโรปส่วนอื่นรวมถึงจากละตินอเมริกาให้มาสนใจกอล์ฟด้วย
2. เดวิด เบ็คแฮม (นักฟุตบอล, สหราชอาณาจักร) อดีตกัปตันทีมชาติอังกฤษและประสบความสำเร็จในระดับสโมสรอย่างมากมายร่วมกับ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และ รีล มาดริด โดยปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับ แอลเอ กาแลกซี สโมสรฟุตบอลชื่อดังในศึกเมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ สหรัฐอเมริกา
แน่นอนว่าทุกคนต่างยอมรับฝีเท้าของ เบ็คแฮม ในฐานะนักฟุตบอล แต่ความสำเร็จอีกประการของเขาคือชีวิตส่วนตัวที่เขายกระดับอาชีพนักกีฬาจากการถูกมองว่าเป็นชนชั้นแรงงานขึ้นไปสู่การเป็นชนชั้นนำที่มีชื่อเสียง และตกเป็นเป้าหมายการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเช่นเดียวกับดาราผู้มีแฟนคลั่งไคล้ ขณะเดียวกันสิ่งนี้สร้างรายได้ให้กับเจ้าตัวเป็นเงินมหาศาลและมีชื่อเสียงโด่งดังเสียยิ่งกว่าการเป็นนักเตะเสียอีก
3. โอลกา คอร์บุต (นักยิมนาสติก, สหภาพโซเวียต) เจ้าของ 4 เหรียญทองและ 2 เหรียญเงินจากการเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกปี 1972 และ 1976
ย้อนกลับไปยังการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงมิวนิค เยอรมนีตะวันตก เมื่อปี 1972 โลกกำลังตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียดของสงครามเย็น ชาวตะวันตกถูกฝังหัวถึงความเลวร้ายของประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ที่สนามยิมนาสติกมีการแสดงที่ได้รับการจดจำและประทับใจมากที่สุดอีกครั้งของประวัติศาสตร์โอลิมปิก แม้ว่าเพื่อนร่วมชาติคนอื่นจะลงแข่งขันด้วยใบหน้าที่ปราศจากรอยยิ้มและสีหน้านิ่งเฉย แต่ คอร์บุต กลับลงเล่นด้วยอารมณ์อย่างเต็มเปี่ยมเหมือนกับไฟที่ลุกโชติช่วงและเหตุการณ์นี้ถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ออกไปทั่วโลก มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าภายใต้ม่านเหล็กที่ปกคลุมคนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้นมิใช่หุ่นยนต์ แต่เป็นผู้คนที่มีเลือดเนื้อ มีอารมณ์เศร้าเสียใจและปิติยินดีเช่นเดียวกับคนทั่วไป
4. จอร์จ เบสต์ (นักฟุตบอล, สหราชอาณาจักร) นักเตะระดับตำนานของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ช่วงระหว่างปี 1963-1974 ได้รับการจัดอันดับจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เมื่อปี 2004 ว่าเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมที่สุดอันดับที่ 19 ในประวัติศาสตร์ลูกหนัง
ยุคสมัยแห่งปี 1960 เป็นยุคที่ผู้คนรุ่นใหม่ของสังคมกำลังตั้งคำถามกับแนวคิดวิถีชีวิตของคนรุ่นพ่อแม่และมองหาหลักยึดใหม่เพื่อวางแผนดำเนินชีวิต โดย เบสต์ เป็นภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ที่เฉลียวฉลาดและเป็นขบถที่คนเอาตามอย่าง เขาดำเนินชีวิตอย่างอิสระและหลีกหนีออกจากวิถีชีวิตเดิม มุ่งไปสู่แนวคิดมุมมองใหม่ต่างขนบธรรมเนียมเดิม
5. มูฮัมหมัด อาลี (นักมวย, สหรัฐฯ) อดีตแชมป์เหรียญทองโอลิมปิกปี 1960 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลีและแชมป์มวยอาชีพรุ่นเฮฟวีย์ เวท ผู้ยิ่งใหญ่
ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แม้คนผิวดำจะได้รับสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้นในสังคมอเมริกัน แต่ลึกลงไปภายใต้จิตใจยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ อาลี เป็นนักมวยที่ได้รับการยอมรับในความสามารถ แต่ก็เป็นที่เกลียดชังของคนผิวขาว เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเผ็ดร้อนแต่แฝงไว้ด้วยมุมมองความคิดที่ชาญฉลาด การที่คนผิวดำได้รับการยอมรับและมีบทบาทในสังคมมากขึ้นอย่างเช่น บารัค โอบามา ไม่สามารถมองข้ามการกระทำของแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่รายนี้ได้เลย
6.บิลลี จีน คิง (นักเทนนิส, สหรัฐฯ) อดีตมือ 1 ของโลกประเภทหญิงเดี่ยวและเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์แกรนด์สแลม 12 สมัย
คิง มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิสตรี ความเรียกร้องดังกล่าวมิใช่เพียงแต่ยกระดับสถานภาพของเพศหญิงขึ้นมาเท่านั้นแต่ส่งผลต่อบทบาทของเพศชายภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย แม้ว่าเธอจะเป็นแชมป์เทนนิสได้อย่างมากมาย แต่การแข่งขันของเธอที่ผู้คนทั่วไปจดจำอย่างแม่นยำคือแมตช์พิเศษที่จัดขึ้นเพื่อโปรโมตการแข่งขันเทนนิสรายหนึ่งเมื่อปี 1973 ที่เธอเอาชนะนักเทนนิสชายอดีตมือหนึ่งของโลกอย่าง บ็อบบี ริกก์ และการนแข่งขันนัดดังกล่าวถูกเรียกว่า "การต่อสู้ระหว่างเพศ" ( Battle of the Sexes ) ความสำเร็จของเธอเหมือนกับชัยชนะของคนอีกกว่าครึ่งโลกทีเดียว
7. โรเจอร์ แบนนิสเตอร์ (นักกรีฑา, สหราชอาณาจักร) เจ้าของเหรียญทองการแข่งขันกีฬาคอมมอนเวลท์ เกมส์เมื่อปี 1954 ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา
ในการแข่งขันคอมมอนเวลท์ เกมส์ ปี 1954 แบนนิสเตอร์ กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถวิ่งระยะหนึ่งไมล์โดยใช้เวลาต่ำกว่า 4 นาที เป็นเวลาที่ก่อนหน้าที่ไม่มีใครคิดว่ามนุษย์จะทำได้ โดยความสำเร็จนี้มิใช่เป็นเพียงแค่การทำระยะของนักกรีฑาเท่านั้น แต่มันหมายถึงการออกเดินทางไปยังดวงจันทร์ มันเป็นการก้าวข้ามขีดจำกัดและแสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หากมนุษย์มีความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะทำให้สำเร็จ