xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อพิษ “เบอร์เกอร์” สะเทือนธุรกิจกีฬา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แมนฯยูไนเต็ด และ เอไอจี สายสัมพันธ์เริ่มสั่นคลอน
“วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์” ที่กำลังลุกลามไปยังประเทศต่างๆทั่วโลกอยู่ขณะนี้ มิใช่ส่งผลต่อกิจการด้านการเงินการธนาคารเพียงเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจประเภทอื่นด้วย แน่นอนว่าวงการกีฬาย่อมหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลสะเทือนเช่นกัน หากกล่าวถึงต้นตอของวิกฤต(ซึ่งดูเหมือนว่านักโภชนาการจะออกมาเตือนภัยในเรื่องนี้ก่อนหน้านักเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำไปว่าให้ระวังการบริโภคอาหารจานด่วน) มีสาเหตุมาจากธุรกิจประเภทสินเชื่อเพื่อการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะฟองสบู่แตกและกระทบกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของประเทศ ก่อนจะกลายเป็นคลื่นสึนามิ ที่ถาโถมนำเอาความเสียหายทางเศรษฐกิจลุกลามไปทั่วโลก

มิเพียงแต่เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนในตลาดหุ้นหรือแม้แต่อุตสาหกรรมส่งออก หากแต่ความรุนแรงของพิษ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ในครั้งนี้เปรียบเสมือนเหตุการณ์เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว เพราะแม้แต่วงการกีฬาที่ดูผิวเผินอาจจะอยู่ห่างไกลจากปัญหา แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นวงการที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจต่างๆอย่างแนบแน่นใกล้ชิด ด้วยผลประโยชน์ที่ต่างฝ่ายต่างแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในฐานะผู้ให้ความสนับสนุนหรือเป็นสปอนเซอร์ให้นักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์หรือทัวร์นาเม้นท์ในหลากชนิดกีฬา

ด้วยความสัมพันธ์อันแนบแน่นดังกล่าว ถึงเวลานี้ได้เริ่มเห็นผลสะท้อนที่เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ตัวอย่างเช่นกรณีของ เอไอจี (อดีต) บริษัทประกันภัยอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ ที่เป็นสปอนเซอร์บนหน้าอกชุดแข่งของสโมสรฟุตบอลดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องมาประสบกับปัญหาการล้มละลายไปเมื่อเดือนก่อนและถูกธนาคารกลางสหรัฐฯซื้อกิจการไปแล้วส่งผลให้สัญญามูลค่ามหาศาลที่ทำกันไว้กว่า 56.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3.7 พันล้านบาท) ตลอดระยะเวลา 4 ปีเกิดความไม่แน่นอนขึ้นในทันที

ด้านเวสต์แฮม ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลในศึกพรีเมียร์ลีกอีกทีมก็พบกับสถานการณ์เช่นเดียวกัน เมื่อสปอนเซอร์ของทีมอย่างเอ็กซ์แอล บริษัทด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของอังกฤษขาดสภาพคล่องจนถูกบริษัทคู่แข่งเข้ามาซื้อกิจการ แต่ที่แย่กว่าก็คือปัจจุบันทีมยังไม่สามารถหาสปอนเซอร์รายใหม่เข้ามาทดแทน

ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบจังๆอีกรายก็คืออภิมหาเศรษฐีอย่าง โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรเชลซี ซึ่งล่าสุดเจ๊งหุ้นไปกว่าแสนล้านบาท จนทำให้อาจต้องมีออกนบายรัดเข็มขัดในทีม “สิงโตน้ำเงินคราม”

การแข่งขันรถสูตร 1 เอฟวัน อันเป็นกีฬาที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารทีมส่วนต่างๆมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับกีฬาประเภทอื่นก็ต้องปรับตัวครั้งใหญ่หลังจาก เลห์แมน บราเธอร์ สถาบันการเงินอันดับ 4 ของสหรัฐฯ ที่ให้การสนับสนุนมาอย่างยาวนานและมีหุ้นอยู่ในองค์กรราว 16.8 เปอร์เซ็นต์ ก็ประสบกับภาวะล้มละลายลงไปแล้วเช่นกัน

ขณะที่วงการกอล์ฟน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากกรณีสถาบันการเงินล้มละลาย เนื่องจากกีฬาประเภทนี้ผู้สนับสนุนการแข่งขันหรือสปอนเซอร์หลักของรายการมักเป็นสถาบันทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพีจีเอ และ ยูโรเปี้ยนทัวร์

จากการตรวจสอบพบว่าสปอนเซอร์ของ ยูเอส พีจีเอ ทัวร์ ราว 1 ใน 3 ของรายการทั้งหมดตลอดฤดูกาลเป็นการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน และปัญหาก็ได้เกิดขึ้นแล้วกับการแข่งขันรายการ“วาโชเวีย แชมเปียนชิป” ที่มี “วาโชเวีย” ธนาคารใหญ่อันดับต้นๆของสหรัฐฯเป็นผู้สนับสนุน แต่ล่าสุดถูก “ซิตี้กรุ๊ป” คู่แข่งสำคัญเข้าซื้อกิจการไปเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้การแข่งขันรายการนี้ต้องมองหาสปอนเซอร์รายใหม่

อย่างไรก็ตามภายใต้วิกฤตก็พอจะมีโอกาสเหลืออยู่บ้างเพราะ วิกฤตครั้งนี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องของวงการกีฬาที่บางส่วนไม่สามารถรับมือได้สถานการณ์ภายใต้ความกดดันและความไม่แน่นอน

สิ่งนี้เองทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายเกิดความตระหนักต่อปัญหา ตัวอย่างเช่นในวงการฟุตบอลอังกฤษที่มีการเปิดเผยว่า หลายสโมสรในศึกพรีเมียร์ลีกมีความเสี่ยงเป็นอย่างสูงกับปัญหาหนี้สินของแต่ละสโมสรที่คาดว่ามีรวมกันกว่า 3 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 1.98 แสนล้านบาท) จากการลงทุนซื้อตัวผู้เล่นอย่างมากมายขาดการควบคุม จนทำให้เกิดการเสนอทางแก้ปัญหาใหม่ เช่นการนำเสนอระบบเพดานเงินเดือนเหมือนกับวงการกีฬาอาชีพในสหรัฐฯ เพื่อมิให้เกิดการปั่นค่าตัวของเหล่านักฟุตบอลจนเกินจริง

ในโลกของระบบทุนนิยมนั้น “กีฬา” คือ ธุรกิจประเภทหนึ่ง การแข่งขันในทุกวันนี้ความสำคัญมิได้อยู่เพียงแค่ผลแพ้ชนะ ตัวเลขที่รายงานผลกำไรในทุกไตรมาสต่างหากคือสิ่งที่เหล่าผู้บริหารสโมสรหรือเอเยนต์นักกีฬามีความเป็นกังวล เพราะสถานะภาพของ “นักกีฬาอาชีพ” นั้นไม่ต่างอะไรไปจากสินค้า หากยังปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้วงการกีฬาก็คงหนีไม่พ้นความเสื่อมเฉกเช่นเดียวกับ เงินดอลลาร์ที่นับวันดูจะลดค่าตนเองลงไปทุกที
เทนนิส กีฬาที่เป็นธุรกิจร้อยเปอร์เซนต์
เงินล้านดอลล่าร์ เช่นนี้อาจไม่ได้เห็นอีกในแอลพีจีเอ
เอฟวัน 2009 เหลือแข่งเพียง  18 สนาม
ฤดูกาลหน้าแฟนกอล์ฟคงได้เห็นวู้ดส์ในยูโรเปี้ยนทัวร์มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น