xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯช่วยแบงก์ฝ่าฟันวิกฤตคราวนี้รวมกันแล้วใกล้ถึง2ล้านล้านดอลลาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – ในความเคลื่อนไหวระลอกล่าสุดซึ่งมุ่งปกป้องไม่ให้ระบบการเงินล่มสลายกันทั้งระบบ คณะรัฐบาลประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ กำลังเร่งเจรจาต่อรองกับฝ่ายรัฐสภาที่ครองเสียงข้างมากโดยพรรคเดโมแครตฝ่ายค้าน เพื่อจัดทำรายละเอียดของแผนการช่วยเหลือที่อาจต้องใช้จ่ายเงินถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ เข้าไปดูดซับหนี้เสียจากสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์อื่นๆ ของบรรดาแบงก์และสถาบันการเงิน
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ด้วยการอนุมัติของกระทรวงการคลังอเมริกัน ก็ได้ปล่อยเงินกู้เข้าไปช่วยไม่ให้ อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ต้องล้มละลาย เป็นเงิน 85,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่ก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีกแค่สัปดาห์เศษ ทางการสหรัฐฯต้องเข้าเทคโอเวอร์กิจการ 2 ยักษ์ใหญ่สถาบันการเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัย แฟนนี เม กับ เฟรดดี แมค มาเป็นของรัฐ
เมื่อรวมความช่วยเหลือที่ทางการสหรัฐฯให้แก่ภาคการเงินการธนาคารในวิกฤต “แฮมเบอร์เกอร์” คราวนี้ ก็น่าจะได้ตัวเลขสูงถึงระดับ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว
ต่อไปคือคือรายละเอียดของมาตรการที่อนุมัติแล้ว รวมทั้งข้อเสนอที่กำลังพิจารณากันอยู่ ในการเข้าช่วยเหลือ ตลอดจนตัวเงินที่จะต้องใช้จ่าย
**การซื้อสินทรัพย์จากบรรดาสถาบันการเงินที่กำลังย่ำแย่ ข้อเสนอนี้ทางการอาจจะต้องใช้จ่ายสูงถึง 700,000 ล้านดอลลาร์ โดยตามแผนการนี้ มุ่งหมายที่จะดูดซับเอาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งที่เป็นประเภทที่อยู่อาศัย และประเภทเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งกลายเป็นหนี้เสีย ออกมาจากสถาบันการเงินต่างๆ นอกจากนั้นยังมอบอำนาจแบบ “ผู้เผด็จการทางการเงิน” ให้แก่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังด้วย
**การค้ำประกันเงินต้นของพวกกองทุนตลาดเงิน เรื่องนี้อาจจะต้องใช้วงเงินสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ จาก “กองทุนรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน” ซึ่งจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เมื่อทศวรรษ 1930 ทั้งนี้เพื่อทำให้พวกผู้บริโภครายย่อยบังเกิดความมั่นใจ ในระดับเดียวกับการฝากเงินไว้ในธนาคารที่สถาบันรับประกันเงินฝากสหรัฐฯรับประกันอยู่
**การปล่อยเงินกู้โดยไม่มีการระบุจำนวนแน่นอนของเฟด ผ่านช่องทางการซื้อลดพันธบัตร ให้แก่สถาบันการเงินทั้งหลาย เพื่อเอาไปใช้รับซื้อสินทรัพย์จากกองทุนตลาดเงิน ในกรณีที่มีผู้มาขอไถ่ถอนการลงทุน
**การเข้าซื้อพวกหลักทรัพย์หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (เอ็มบีเอส) กันโดยตรงของกระทรวงการคลัง โดยในช่วงที่ผ่านมาของเดือนกันยายน ทางกระทรวงใช้เงินไปอย่างน้อย 10,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น กระทรวงยังได้ขยายแผนงานนี้ให้ใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่าตัว พร้อมกับแถลงในวันศุกร์(12)ว่า อาจจะเข้าซื้อต่อไปอีกในเดือนถัดๆ ไป
**การเข้าซื้อหลักทรัพย์เอ็มบีเอสเพิ่มเติม โดยผ่าน แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ซึ่งอาจจะต้องใช้วงเงินสูงถึง 144,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้กระทรวงการคลังประกาศแล้วว่า สถาบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้ง 2 ที่เวลานี้กลายเป็นกิจการของรัฐแล้ว จะเพิ่มเพดานสูงสุดของพอร์ตลงทุนเพื่อซื้อเอ็มบีเอส ขึ้นเป็นรายละไม่เกิน 850,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจาก ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พอร์ตของแฟนนีอยู่ที่ 758,100 ล้านดอลลาร์ ส่วนพอร์ตของเฟรดดีอยู่ที่ 798,200 ล้านดอลลาร์ จึงหมายความว่ายังจะมีวงเงินซื้อเพิ่มได้อีกประมาณ 144,000 ล้านดอลลาร์ดังกล่าว
**การให้เงินกู้ 85,000 ล้านดอลลาร์เพื่อใช้ช่วยเหลือเอไอจีไม่ให้ต้องขอความคุ้มครองจากกฎหมายล้มละลาย โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯจะได้รับหุ้นของกิจการที่เคยเป็นบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้มา 79.9%
**การชำระเงินคืนแก่ เจพีมอร์แกนเชส เป็นจำนวนอย่างน้อย 87,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับการจัดหาวงเงินมาช่วยหนุนหลังการซื้อขายที่กระทำโดยแผนกงานต่างๆ ของ เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ อิงก์ วาณิชธนกิจที่ยื่นขอความคุ้มครองตามกฎหมายล้มละลายเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เฮนรี พอลสัน กล่าวย้ำในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขายืนกรานที่จะไม่ให้ใช้เงินกองทุนภาคสาธารณะเข้าไปกอบกู้ช่วยเหลือเลห์แมน
**การช่วยเหลือพยุงฐานะของแฟนนี เม และ เฟรดดี แมค ด้วยการเข้าเทคโอเวอร์เป็นกิจการของรัฐ ซึ่งต้องใช้เงิน 200,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ในตอนที่ประกาศแผนการนี้ กระทรวงการคลังระบุว่าจะอัดฉีดเงินทุนให้แก่ทั้ง 2 สถาบันรายละ 100,000 ล้านดอลลาร์ ด้วยวิธีซื้อหุ้นบุริมสิทธิ์เพื่อเพิ่มพูนฐานะความมั่นคงทางเงินทุนของสถาบันทั้งสอง
**การให้เงินจำนวน 300,000 ล้านดอลลาร์แก่ สำนักงานบริหารการเคหะแห่งสหรัฐฯ เพื่อรับทำรีไฟแนนซ์สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รายที่ลูกหนี้กำลังจะหมดความสามารถในการชำระ ให้กลายเป็นเงินกู้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ที่เป็นแบบลดเงินต้น และมีรัฐบาลสหรัฐฯเป็นผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งในร่างกฎหมายช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัย ซึ่งมีรายละเอียดกว้างขวาง
**การให้เงินอุดหนุนแก่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยให้ชุมชนเหล่านี้สามารถซื้อและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ถูกทอดทิ้ง สืบเนื่องจากเจ้าของเดิมไม่สามารถชำระสินเชื่อและถูกยึดหลักประกัน
**การให้ช่วยเหลือทางการเงินแก่ เจพีมอร์แกนเชส มูลค่า 29,000 ล้านดอลลาร์ ในตอนที่เจพีมอร์แกนทำข้อตกลงเข้าซื้อกิจการ แบร์สเติร์นส์ แอนด์ โค เมื่อเดือนมีนาคม โดยที่รัฐบาลเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ทั้งนี้เฟดยินยอมรับเอาสินทรัพย์ที่มีปัญหาของแบร์จำนวน 30,000 ล้านดอลลาร์มาเป็นหลักประกันของเงินช่วยเหลือดังกล่าวนี้ ทำให้ เจพีมอร์แกนอยู่ในฐานะที่จะต้องแบกรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น 1,000 ล้านดอลลาร์แรก ตลอดจนความเสียหายที่มากเกินกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์
**การปล่อยเงินกู้ของเฟดผ่านทางช่องทาง “Term Auction Facility” ซึ่งปัจจุบันมีเงินกู้คงค้างอย่างน้อย 200,000 ล้านดอลลาร์ การให้กู้ผ่านช่องทางนี้ เฟดเปิดขึ้นเป็นพิเศษเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับวิกฤต อีกทั้งเมื่อเร็วๆนี้ ยังได้เปิดให้กู้แบบเงื่อนไขยาวนานขึ้น นั่นคือ 84 วัน นอกเหนือจากแบบเดิมที่เป็นการปล่อยกู้ 28 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น