xs
xsm
sm
md
lg

KTAMเชื่อมั่นยิลด์ลงทุนเกาหลีใต้ ล่าสุดเปิดขาย2กองทุนบอนด์มูลค่ารวม5พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.กรุงไทย เชื่อมั่นผลตอบแทนการลงทุนในเกาหลีใต้ยังดี จากนโยบายการทำงานที่เหมาะสม และความเชื่อมั่นของสถาบันจัดอันดับเครดิตที่คงอยู่ในระดับ "เสถียรภาพ" แม้ประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และต่างชาติอาจถอนเงินออกหลังตราสารหนี้ล็อตใหญ่ใกล้ครบกำหนด ล่าสุดรุดออก 2 กองทุนใหม่ลงทุนบอนด์ในประเทศ และอีซีพี มูลค่ารวม 5,100 ล้านบาท เปิดขาย 10 - 16 กันยายนนี้


นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับ ภาวะการลงทุนในเกาหลีใต้ พบว่าขณะนี้ค่าเงินวอนมีการอ่อนค่าลงประมาณ 20% จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจาก นักลงทุนมีความวิตกเกี่ยวกับการไหลออกของเงินทุน ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2551 จะมีตราสารหนี้รัฐบาลที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างประเทศ ครบกำหนดการไถ่ถอนสูงถึง 6.9 ล้านล้านวอน หรือ 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างประเทศบางส่วนเลือกที่จะไม่ลงทุนต่อ โดยนำเงินออกนอกประเทศ

ประกอบกับประเทศเกาหลีใต้ประสบกับปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้เข้าแทรกแซงในตลาดสกุลเงิน เพื่อไม่ให้ค่าเงินวอนอ่อนค่าลงไปอีก จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนที่ลงทุนในประเทศเกาหลีใต้เกี่ยวกับการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และภาระหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้ จากการพิจารณาพื้นฐานเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในไตรมาส 2 พบว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัวอยู่ที่ 4.8% ซึ่งได้ชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 5.8% ส่งผลให้ เศรษฐกิจครึ่งปีแรกของเกาหลีใต้ยังคงขยายตัวสูงถึง 5.3% โดยมีการส่งออกเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ อย่างไรก็ตาม เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสิ้นเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 243.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พบว่าปรับตัวลดลง เนื่องมาจาก ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 51 ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินดุลอยู่ที่ 7,797.7 และ 18,739.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

ขณะเดียวกัน พบว่ามีหนี้ต่างประเทศในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 420 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ต่างประเทศรวมต่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 2 อยู่ที่ 162.6% ก่อให้เกิดความกังวลแก่นักลงทุน แต่เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 พบว่าอัตราส่วนหนี้ต่างประเทศรวมต่อทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากกว่า 8.5 เท่า และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่เพียง 20.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม บลจ.กรุงไทย คาดว่า ภาวะความผันผวนของตลาดจะเกิดขึ้นในช่วงสั้น เนื่องด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ฐานะการคลัง และสถานะการเงินของสถาบันการเงินในเกาหลีใต้ยังอยู่ในระดับที่ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเพราะเป็นประเทศที่เน้นการส่งออก นอกจากนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศหลายแห่งยังคงยืนยันมุมมองเครดิตที่อยู่ระดับที่มีเสถียรภาพ

"จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ พร้อมทั้งการดำเนินนโยบายที่ผ่านมาของประเทศเกาหลีใต้ บริษัทเชื่อว่าความกังวลด้านความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ หรือการออกมาตรการจำกัดการโอนเงินเข้าออกระหว่างประเทศมีอยู่ค่อนข้างต่ำ ดังนั้น บริษัทจึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในภาวะที่พันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง โดยผลตอบแทนสุทธิเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลบาทสำหรับระยะเวลา 1 ปี อยู่ระดับ 4.85 -5.00% ถือว่าสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรภาครัฐในประเทศ และปัจจุบัน Fitch Rating จัดอันดับความเชื่อถือระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ในระยะสั้นสูงสุดที่ F1 ระยะยาวในระดับ A+ มุมมองมีเสถียรภาพ ขณะที่ของไทยถูกจัดอันดับระยะสั้นที่ F2 ระยะยาวที่ BBB+ มุมมองมีเสถียรภาพ"

ดังนั้น บลจ.จึงเดินหน้าเปิดจำหน่ายกองทุนรวมกรุงไทยตราสารต่างประเทศ 1ปี 10 ( KTFIF1Y10) และ กองทุนรวมกรุงไทยตราสารการเงินคุ้มครองเงินต้น49 ( KT3M49) ในวันที่ 10-16 กันยายน 2551 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ลงทุน โดยกองทุน KTFIF1 Y10 อายุโครงการ 1 ปี มูลค่า 3,100 ล้านบาท เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ประเภทตราสารการเงิน ของสถาบันการเงินต่างประเทศ ( Euro Commercial Paper : ECP) ของสถาบันการเงินชั้นนำ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น 2 อันดับแรกขึ้นไป และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงระยะเวลาที่ลงทุน กองทุนจะมีการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าสำหรับเงินลงทุนในต่างประเทศทั้งจำนวน

ส่วนกองทุน KT3M49 มีอายุโครงการ 3 เดือน มูลค่า 2,000 ล้านบาท เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารที่ก่อให้เกิดการคุ้มครองเงินต้น ได้แก่ ตราสารภาครัฐไทย ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือบัตรเงินฝาก ที่บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เป็นผู้ออกเพื่อการกู้ยืมหรือรับเงินจากประชาชน เงินฝากในธนาคารพาณิชย์หรือบัตรเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออก
กำลังโหลดความคิดเห็น