xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.เชื่อกองคุ้มครองเงินต้นขยายตัว ระยะยาวนักลงทุนแบ่งฝากแทนแบงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.เชื่อกองทุนคุ้มครองเงินต้นจะขยายตัวต่อเนื่อง รับอานิสงส์จากการมีผลบังคับใช้ของพ.ร.บ.เงินฝาก แต่ต้องให้เวลาผู้ลงทุนทำความเข้าใจ คาดในระยะยาวเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลมาสู่กองทุนประเภทนี้ ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม มีเม็ดเงินทั้งระบบเฉียด 5 หมื่นล้านบาท โดยบลจ.ธนชาต มีมากสุด2.3 หมื่นล้าน ด้านบลจ.นครหลวงไทย เล็งใช้เป็นกองหลักเรียกเงินจากลูกค้า

นายนที ดำรงกิจการ ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นครหลวงไทย จำกัด กล่าวถึงการมีผลบังคับใช้ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ว่าบริษัทมีแผนที่จะใช้กองทุนคุ้มครองเงินต้นของบริษัทที่มีอยู่เป็นเรือธง ในการนำเสนอลูกค้าให้หันมาสนใจลงทุนผ่านกองทุนประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่า แม้พ.ร.บ.ดังกล่าวจะเริ่มผลบังคับใช้ และประชาชนทั่วไปเริ่มรับทราบข่าวสาร แต่ในความเป็นจริงจากที่เป็นช่วงเริ่มต้นของผลบังคับใช้ดังกล่าว ทำให้เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ยังได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน อีกทั้งประชาชนยังมีเวลาเลือกช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้มีลูกค้าบางกลุ่มยังไม่มีความเชื่อมั่น ว่ากองทุนประเภทคุ้มครองเงินต้นเหล่านี้ จะสามารถตอบสนองหรือรองรับความต้องการได้หรือไม่

ทั้งนี้ ในส่วนของบลจ.นครหลวงไทย จะเน้นให้ความสำคัญในการนำเสนอข้อมูลแก่ลูกค้า โดยเฉพาะนโยบายการลงทุนของกองทุน และอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ รวมถึงการดูแลคุ้มครองเงินลงทุนเต็มจำนวนของกองทุนคุ้มครองเงินต้นให้ประชาชนได้รับทราบ

ขณะที่แผนการตลาดนั้น บริษัทยังเน้นที่แผนงานเดิมนั่นคืออาศัยผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นตัวประชาสัมพันธ์ถึงประสิทธิภาพในการบริหารเงินลงทุนของบริษัท เช่นเดียวกับกองทุนรวมประเภทอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ. แอสเซท พลัส จำกัด กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมขยายตัวมากขึ้นในระยะยาว 3-5ปี ซึ่งหมายถึงจะมีเม็ดเงินที่เริ่มไหลเข้ามาในกองทุนที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก เช่น กองทุนคุ้มครองเงินต้น หรือกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตร ที่ให้ผลตอบแทนแน่นอนจากการลงทุน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ในลักษณะเดียวกับเงินฝากประจำ หรือกองทุนตราสารหนี้อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นในระดับความเสี่ยงที่ไม่มากนัก รวมถึงกองทุนส่วนบุคคลที่มีรูปแบบการบริหารเงินแบบส่วนตัว
"คาดว่าช่วงแรกเม็ดเงินที่จะไหลเข้าอุตสาหกรรมกองทุนรวมอาจจะยังมีไม่มากนัก เนื่องจากในปีแรกยังคงคุ้มครองเต็มจำนวน แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่จะกระตุ้นให้ผู้มีเงินออมอาจจะเริ่มศึกษาถึงทางเลือกการบริหารเงินอื่นๆ ที่น่าสนใจ แต่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในความเสี่ยงที่เท่ากันๆ ซึ่งกองทุนรวมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ลงทุนเริ่มรู้จักและมีการขยายตัวในช่วงหลังนี้" นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว

รายงานงานข่าวแจ้งว่า นับตั้งแต่พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีผลบังคับใช้ ขณะนี้ได้มีบริษัทจัดการลงทุนหลายแห่งเริ่มที่จะทยอยออกกองทุนคุ้มครองเงินต้นเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่เริ่มมองหาช่องทางการลงทุนแบบใหม่ โดยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า บลจ.ธนชาต ที่ได้จัดตั้งกองทุนเปิดธนชาตตราสารภาครัฐคุ้มครองเงินต้น7 (TPRO7) ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7% อายุประมาณ 1 ปี มีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ บลจ.พรีมาเวสท์ จำกัด ได้มีการจัดตั้งกองทุนเปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์พันธบัตรรัฐบาลคุ้มครองเงินต้น 12M 2 ( KPG12M2) โดยให้เหตุผลเพื่อที่จะลดความเสี่ยงที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับ ซึ่งถ้าเทียบกับหุ้นกู้กับพันธบัตรรัฐบาลแล้ว ทั้งสองอย่างจะให้ผลตอบแทนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าดูความเสี่ยงแล้ว หุ้นกู้ ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล

ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนรายหนึ่งกล่าวว่า การเติบโตของกองทุนคุ้มครองเงินต้นอาจจะเป็นไปในแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเมื่อนำมาเปรียบเทียบกองทุน มันนี มาร์เก็ต แล้วจะมีข้อเสียเปรียบในเรื่องความสะดวกในการนำเงินเข้าออก เพราะโดยทั่วไปกองทุนคุ้มครองเงินต้นจะมีระยะเวลาที่ตายตัว ตามอายุโครงการในหนังสือชี้ชวน อีกทั้งกองมันนี มาร์เก็ต บางโครงการก็เป็นไปในลักษณะคุ้มครองเงินต้นด้วย และที่ผ่านมาเมื่อผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนมากขึ้น จะเลือกที่จะลงทุนผ่านกองทุนประเภทนี้มากกว่า เห็นได้จากตัวเลขสินทรัพย์สุทธิประเภทดังกล่าว มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ระบุว่า กองทุนรวมลักษณะพิเศษ ประเภทกองทุนคุ้มครองเงินต้นมีการจัดตั้งทั้งสิ้น 74 โครงการ ภายใต้การบริหารของบลจ.จำนวน12 แห่ง โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 49,082 ล้านบาท และพบว่าบลจ.ธนชาต มีเม็ดเงินจากกองทุนดังกล่าวมากที่สุด 23,885 ล้านบาท จากกองทุนภายใต้การบริหารทั้งสิ้น 15 โครงการ ถัดมาคือ บลจ.กรุงไทย 9,286 ล้านบาท จาก 16 โครงการภายใต้การบริหาร และบลจ.นครหลวงไทย 5,972 ล้านบาท จาก 14 โครงการที่บริหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น