เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีทาโร อาโซะ แห่งญี่ปุ่น วันศุกร์ (10) ออกมาเตือนว่าประเทศของเขาที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียและเป็นอันดับสองของโลก กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงร้ายแรง หลังจากตลาดหุ้นโตเกียวควงสว่านลงไปสู่จุดต่ำที่สุดในรอบสองทศวรรษ และวิกฤตการเงินก็ส่งผลให้สถาบันการเงินแดนซามูไรล้มคว่ำเป็นแห่งแรกแล้ว
อาโซะ กล่าวกับนักข่าวว่า การดิ่งลงของตลาดหุ้นโตเกียว "ได้มาถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจภาคการผลิตแท้จริง รวมทั้งระบบการระดมทุนของประเทศแล้ว"
เมื่อวันศุกร์ ดัชนีนิกเคอิของตลาดโตเกียว ทรุดลงไปถึงราว 11% ในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน ก่อนที่จะดีดขึ้นมาได้เล็กน้อยและปิดแบบติดลบไป 9.62% ซึ่งนับเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เหตุการณ์ "แบล็ก มันเดย์" ในเดือนตุลาคม ปี 1987 เป็นต้นมา รวมแล้วตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีก็ถูกทุบไปแล้วมากกว่า 24%
รัฐบาลแดนซามูไรยังรีบเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าการล้มละลายของ ยามาโต ไลฟ์ อินชัวรันส์ ที่มีหนี้สูงถึง 2,700 ล้านดอลลาร์ เป็นสถานการณ์ที่จะไม่ลุกลามบานปลาย
บริษัทประกันชีวิตขนาดกลางแห่งนี้ออกมาระบุว่า ความผันผวนในตลาดการเงินเป็นต้นเหตุทำให้บริษัทต้องปิดตัวลง และเหตุการณ์นี้ก็เท่ากับเป็นการสลายความเชื่อที่ว่า ญี่ปุ่นอาจจะมีภูมิคุ้มกันจนไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินของโลกที่เริ่มในสหรัฐฯ
"จากการที่ตลาดการเงินโลกตกอยู่ในภาวะมิคสัญญี และจากภาวะการขาดแคลนสินเชื่อรุนแรง มูลค่าของหลักทรัพย์ที่เราถือครองอยู่ก็ร่วงลงรวดเร็วเกินกว่าที่เราได้เคยคาดเอาไว้" ทาเคโอะ นากาโซโน ประธานของยามาโต ไลฟ์ อินชัวรันส์กล่าว
ยามาโตกลายเป็นบริษัทในกิจการประกันภัยแห่งแรกของแดนซามูไรที่ถึงกับต้องพับฐานไปในรอบระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา และเป็นบริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นแห่งที่ 8 เท่านั้นที่ล้มละลายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์กลับเผชิญสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ เพราะมีบริษัทล้มหายตายจากไปแล้วจำนวนมาก
นักวิเคราะห์พากันเห็นว่า ความปั่นป่วนทางการเงินทำให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีเพิ่มขึ้นสูง และตอนนี้อาจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็ได้
"ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าวิกฤตในตลาดการเงินส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว" ทาโร ไซโต นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเอ็นแอลไอ รีเสิร์ช อินสติติวต์ กล่าว และเพิ่มเติมด้วยว่าการเทขายของนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็นปฎิกิริยาสะท้อนถึงความกลัวว่าเศรษฐกิจในอนาคตอาจจะย่ำแย่ลงไปกว่านี้ และก็เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งปีนี้จะมีอัตราการเติบโตติดลบ
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหดตัวมากที่สุดในรอบ 7 ปีในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ และนักวิเคราะหจำนวนมากเชื่อว่าญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้ว ซึ่งคำนิยามทางทฤษฎีของภาวะนี้ก็คือมีอัตราการเติบโตติดลบต่อเนื่องกันสองไตรมาส
เท่าที่ผ่านมาธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่นได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบแล้วถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกันบรรดารัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจก็เรียงหน้ากันออกมาบอกว่า สถาบันการเงินอื่น ๆของญี่ปุ่นจะไม่ล้มลงอย่างแน่นอน รัฐมนตรีคลัง โชอิชิ นาคากาวะ บอกว่าการล้มละลายของยามาโต ไลฟ์นั้นเป็นสถานการณ์เฉพาะของบริษัท ที่พึ่งพารายได้จากหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เพื่อมาอุดการขาดทุนจากการดำเนินงานประกันภัยที่บริษัทใช้ต้นทุนสูงมาก ซึ่งแตกต่างสถาบันการเงินอื่น ๆ
นายกรัฐมนตรีอาโซะออกมาย้ำด้วยว่า เขาพร้อมที่จะจัดการประชุมฉุกเฉินระดับผู้นำของกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี8) หากว่าการประชุมรัฐมนตรีคลังที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ (10) ที่กรุงวอชิงตัน ไม่สามารถจะได้ข้อสรุปว่าจะจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร
อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นยังคงไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงนี้ ในทางตรงกันข้ามใช้โอกาสนี้ขยายกิจการเข้าไปในต่างประเทศอย่างเช่นเข้าไปซื้อหุ้นในธนาคารของตะวันตกที่กำลังมีฐานะง่อนแง่น
มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อิงค์ ธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ประกาศเข้าซื้อหุ้น 24.9% ของมอร์แกนสแตนลีย์ อดีตวานิชธนกิจระดับต้น ๆของสหรัฐ ส่วนโนมูระ โบรกเกอร์อันดับ 1 ของประเทศก็กำลังเข้าซื้อกิจการของเลห์แมน บราเธอร์สในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป