xs
xsm
sm
md
lg

ECB ลดดอก 0.5% อังกฤษหั่น 1.5% "โอบามาฟีเวอร์" สิ้นฤทธิ์อุ้มตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โลโก้ธนาคารกลางยุโรป
เอเจนซี/เอเอฟพี - ธนาคารกลางสำคัญของยุโรป พากันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอย่างดุดันเมื่อวานนี้ (6) ในความพยายามหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากแรงฉุดลากของวิกฤตการเงิน หลังจากที่ชัยชนะของบารัค โอบามาในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กระตุ้นให้ตลาดตื่นเต้นได้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) หั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนลงมา 0.5% เหลือ 3.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี อันเป็นการสะท้อนถึงทิศทางอนาคตด้านเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ทรุดโทรมย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อก็กำลังผ่อนคลายแล้ว

เพียงไม่นานก่อนความเคลื่อนไหวของอีซีบี ด้านธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ (บีโออี) ก็แถลงลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนอย่างสุดๆ เป็นประวัติการณ์ถึง 1.5% ลงมาอยู่ที่ 3.0% มากมายเกินกว่าที่พวกนักวิเคราะห์และตลาดคาดหมายกันไว้ และก็แสดงให้เห็นถึงความลำบากสาหัสของเศรษฐกิจประเทศนี้

นอกจากนั้นในวันเดียวกัน ธนาคารกลางแห่งชาติสวิส (เอสเอ็นบี) ก็ได้หั่นอัตราดอกเบี้ยของตนลง 0.50% เช่นกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารกลางใหญ่ๆ ในยุโรปเหล่านี้ ก็ได้ประสานร่วมมือกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หั่นดอกเบี้ยของพวกตนลงพร้อมๆ กันแบบฉุกเฉิน 0.5% มาแล้ว จากนั้นในการประชุมเฟดปลายเดือนตุลาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่ง 0.5% ติดตามด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่นที่หั่นดอกเบี้ยซึ่งอยู่ระดับต่ำเตี้ยติดดินอยู่แล้วของตนลงมา 0.2% จึงทำให้เป็นที่คาดหมายกันทั่วไปอยู่แล้วว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายของธนาคารกลางทางฟากยุโรปเมื่อวานนี้ จะต้องมีการลดดอกเบี้ยตามลงมาอีกเช่นกัน

กระนั้นก็ตามที ในกรณีของอีซีบี พวกนักวิเคราะห์หลายคน เช่น ไรเนอร์ กุนเทอร์มานน์ นักเศรษฐศาสตร์ดูแลเขตยูโรโซน แห่ง เดรสเนอร์ ไคลน์เวิร์ต ในแฟรงเฟิร์ต ก็ให้ความเห็นว่า ไม่คิดว่าการลดดอกเบี้ยของอีซีบีจะหมดรอบลงแล้ว โดยน่าจะมีการหั่นต่อไปอีก ในเมื่อปัญหาทางเศรษฐกิจยังคงไม่มีทีท่าบรรเทาลง

เช่นเดียวกับรายของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ แม้นักวิเคราะห์หลายราย บอกว่า การลดลงมาคราวเดียว 1.5% เช่นนี้ถือว่าเป็นเซอร์ไพรซ์ และ "น่าแตกตื่น" แต่การที่ดอกเบี้ยของอังกฤษยังอยู่ที่ 3.0% ก็ถือว่าสูงอยู่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับในสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 1.0%

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กำลังวิตกกังวลด้วยว่า มาตรการลดดอกเบี้ยในเวลานี้ดูจะด้อยประสิทธิภาพกว่าในอดีตมาก เนื่องจากพวกธนาคารยังอยู่ในอาการไม่ไว้วางใจกันและลังเลที่จะปล่อยกู้ ตลอดจนลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ของตนตามที่ธนาคารกลางนำร่องไว้

นอกจากนั้น วิกฤตของภาคการเงินกำลังส่งผลกระทบถึงภาคเศรษฐกิจแท้จริงอย่างชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากบริษัทต่างๆ กำลังประสบกำลังประสบภาวะยากลำบาก แม้แต่โตโยต้าที่กำลังวิ่งเบียดกับเจเนอรัลมอเตอร์ส (จีเอ็ม) เพื่อผงาดเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก วานนี้ก็ยังตัดลดคาดหมายผลกำไรจากการดำเนินงานประจำปีการเงินนี้ลงกว่าครึ่งหนึ่ง

ส่วนยักษ์ใหญ่รถยนต์อเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นจีเอ็ม,ฟอร์ด หรือไครสเลอร์ก็จับมือกันร้องขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้น และป้องกันมิให้ต้องปิดโรงงานเพิ่ม อันแสดงให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรอโอบามาในฐานะที่เป็นผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความสำคัญที่สุดในโลกนั้นสาหัสเพียงใด และเขาจำจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการเงินให้กลับคืนมาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ความตื่นเต้นยินดีกับชัยชนะของโอบามา ดูจะทำให้ตลาดการเงินฟื้นตัวขึ้นได้ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เมื่อดัชนีหลักของวอลล์สตรีทต่างพากันดิ่งลงในวันพุธ โดยเฉพาะดาวโจนส์นั้นร่วงลงถึงมากกว่า 5% ซึ่งเป็นตัวนำให้หุ้นในเอเชียและยุโรปต่างพากันดิ่งลงไปด้วยในวานนี้

"ตอนนี้การเฉลิมฉลองชัยชนะของโอบามาก็ยุติลงแล้ว บรรดานักลงทุนเริ่มได้สติมองไปรอบๆ และก็ยังเห็นว่าเศรษฐกิจยังคงซึมเซาอยู่" มาซาโตชิ ซาโตะ โบรกเกอร์จากมิซูโฮ อินเวสเตอร์ส ซีเคียวริตีส์กล่าว

ดัชนีนิกเกอิของตลาดโตเกียวร่วงไป 6.53% ตอนปิดวานนี้ ในขณะที่ฮั่งเส็งของฮ่องกงควงสว่านลงไป 7.1% และที่โซล ตลาดหุ้นก็ดำดิ่งไปถึง 7.6% จากราคาปิดของเมื่อวันก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น