ว่ากันว่าการเปลี่ยนเจ้าของสโมสรอาจพลิกชะตาทีมฟุตบอลทีมหนึ่งให้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้ ดังเช่นกลุ่มนักลงทุนจากดูไบ “อาบู ดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป”ที่เข้ามาฮุบกิจการ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จนกลายเป็นทีมเจ้าบุญทุ่มไปในชั่วข้ามคืน พร้อมทั้งสร้างแรงสั่นสะเทือนในตลาดนักเตะด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่พร้อมกวาดต้อนสตาร์ดังมาเข้าสังกัด
“เรือใบสีฟ้า” อาจเป็นทีมเดียวที่การเทกโอเวอร์ประสบความสำเร็จในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา แต่บนเวทีพรีเมียร์ชิป อังกฤษ ยังมีอีก 6 สโมสรที่ตกเป็นเป้าหมายของเหล่านายทุนต่างชาติในช่วง 2-3 เดือนหลังมานี้ ซึ่งแต่ละทีมต่างก็มีเป้าหมายสู่ก้าวย่างที่ใหญ่กว่าเดิม อันเป็นสิ่งเย้ายวนชวนให้เศรษฐีหอบเงินเข้ามาแสวงหาความท้าทาย
1.เอฟเวอร์ตัน
บิลล์ เคนไรท์ ประธานใหญ่ “ทอฟฟี่สีน้ำเงิน” มองหานักธุรกิจเข้ามาซื้อสโมสรตั้งแต่ปี 2004 โดยมีจุดมุ่งหมายพาทีมก้าวไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ เอฟเวอร์ตัน เป็นทีมที่ดึงดูดนายทุนอยู่ที่โครงการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่แทน กูดิสัน ปาร์ค เพื่อเป็นบันไดสู่เป้าหมายขั้นต่อไปในการยกระดับขึ้นมาแข่งขันบนเวทียูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของทีมแล้ว เอฟเวอร์ตัน อาจมีเสน่ห์ที่น่าหลงใหลมากกว่า แมนฯ ซิตี้ ด้วยซ้ำ ทว่าน่าเสียดายที่ชื่อของ อานิล อัมบานี มหาเศรษฐีหมายเลข 6 ของโลกชาวอินเดียที่ถูกนำมาเชื่อมโยง ยังเป็นเพียงแค่ข่าวลือ
2.ซันเดอร์แลนด์
เอลลิส ชอร์ต นักธุรกิจชาวอเมริกันพร้อมหว่านเงินจำนวน 30 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,860 ล้านบาท) เพื่อหวังฮุบหุ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ที่ ดรูมาวิลล์ กลุ่มนักลงทุนนำโดย ไนออลล์ ควินน์ ประธานสโมสร “แมวดำ” คนปัจจุบันถือครองอยู่ ในการเข้ามาบริหารในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แม้ แบล็ก แคตส์ จะไม่ใช่สโมสรใหญ่โตอะไรนัก แต่การเสริมทัพเป็นว่าเล่นของ รอย คีน ในช่วง 2 ซีซันหลังสุดสะท้อนให้เห็นถึงการคิดการใหญ่ด้วยการไต่ขึ้นสู่ท็อป 10 ของพรีเมียร์ลีกอย่างสม่ำเสมอ ก่อนไปอวดโฉมบนเวทียุโรปรายการเล็กอย่าง ยูฟ่า คัพ ในอนาคต
3.นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด
จัดเป็นทีมที่มีองค์ประกอบสำหรับก้าวขึ้นไปอยู่ระดับหัวแถวครบถ้วน ทั้งสนามเหย้าขนาดใหญ่, ฐานแฟนบอลที่เหนียวแน่นและเปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี รวมถึงชื่อเสียง ขาดเพียงเกียรติยศที่จับต้องได้ ซึ่งหลังจาก ไมค์ แอชลีย์ ประกาศขายทีมตามที่ ทูน อาร์มี่ ต้องการ ก็มีข่าวว่าบรรดานายทุนทั้งจากสหรัฐอเมริกา, อาหรับ, เอเชียตะวันออก และแอฟริกา ให้ความสนใจรวมกันมากถึง 7 ราย โดยมีกลุ่มจากแอฟริกาใต้ และ เอ็นวีเอ แมเนจเมนท์ จากไนจีเรียที่แสดงท่าทีชัดเจนมากที่สุด ซึ่ง “สาลิกาดง” วางกำหนดให้ยื่นข้อเสนออย่างจริงจังในวันอังคารที่ 7 ตุลาคมนี้ โดยหวังว่าจะได้ราคาระหว่าง 250-300 ล้านปอนด์ (ประมาณ 15,500-18,600 ล้านบาท)
4.ท็อตแนม ฮอตสเปอร์
สื่อเมืองผู้ดีรายงานว่ากลุ่มนักลงทุนจากเอเชียกลุ่มหนึ่งพร้อมเทกโอเวอร์ “ไก่เดือยทอง” ด้วยข้อเสนอ 300-400 ล้านปอนด์ (ประมาณ 18,600-24,800 ล้านบาท) โดยมี ปินี ซาฮาวี เอเยนต์ชื่อดังเป็นคนคอยประสานงาน แม้ตอนนี้จะยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แต่เมื่อดูจากสภาพทีมที่กำลังย่ำแย่ ทั้งฟอร์มการเล่นในสนาม ประกอบกับ ดาเนียล เลวี ประธานใหญ่ และ ดาเมียน โคมอลลี ผู้อำนวยการฟุตบอลที่ดูแลเรื่องซื้อขายนักเตะผิดพลาดจนไม่คุ้มเงินกว่า 100 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6,200 ล้านบาท) ที่ลงทุนไปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บางทีกองเชียร์ สเปอร์ส อาจต้องการผู้บริหารชุดใหม่ที่พาทีมไปสู่อนาคตที่สดใสกว่าเดิม
5.ปอร์ทสมัธ
หลังจาก นิวคาสเซิล และ สเปอร์ส ตกเป็นเป้าหมายเทกโอเวอร์ ก็มีข่าวลือกับ “ปอมปีย์” หลุดออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างไรก็ตาม อเล็กซานเดร กายดามัค เจ้าของทีมชาวรัสเซียปฏิเสธทันควันว่าทีมดังแห่งแดนใต้ไม่ได้มีไว้ขาย แม้สโมสรจะมีภาระหนี้สินและตัวเขาไม่มีเงินทุนอัดฉีดมากไปกว่านี้แล้วก็ตาม ซึ่งคงต้องภาวนาให้ คีย์แมนของทีมอย่าง ลาสซานา ดิยาร์รา, เจอร์เมน เดโฟ และพรรคพวกรักษาสถานภาพทีมระดับท็อป 10 หรือไปเล่นยูฟ่า คัพ ให้ได้ เพื่อช่วยประคับประคองการเงินให้พอเอาตัวรอดก่อนขายทำกำไรในภายหลัง
6.ลิเวอร์พูล
คู่หูเศรษฐีอเมริกันอย่าง ทอม ฮิกส์ และ จอร์จ ยิลเลตต์ ถูกเพ่งเล็งโดยบรรดา เดอะ ค็อป ในหลายกรณี ไล่ตั้งแต่การทำให้สโมสรเป็นหนี้ก้อนโตจากการกู้เงินเพื่อนำมาครอบครองกิจการ, ความขัดแย้งกับกุนซืออันเป็นที่รักอย่าง ราฟาเอล เบนิเตซ รวมถึงโครงการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ ความจุ 60,000 ที่นั่ง บริเวณ สแตนลีย์ ปาร์ค ซึ่งวางงบไว้สูงถึง 350 ล้านปอนด์ (ประมาณ 21,700 ล้านบาท) แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่กระเตื้องไปไหน ทั้งที่เคยให้สัญญาตั้งแต่เข้ามาเทกโอเวอร์ เมื่อต้นปี 2007 ทำให้เหล่านักธุรกิจทั่วโลกคอยจับจ้องอยู่ทุกเมื่อ แม้ว่าจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของกลุ่มดูไบ อินเตอร์เนชันแนล แคปิตอล (DIC) ที่ล้มเลิกแผนการเข้ากุมอำนาจในถิ่นแอนฟิลด์ไปแล้วก็ตาม