xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแลนด์ พรีเมียร์ ลีก / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

ในปี 1996 ซึ่งประเทศไทยมีการแข่งขันฟุตบอลอาชีพเป็นปีแรกในนาม ไทยแลนด์ ลีก นั้น ผมได้ติดตามชมการแข่งขันอยู่หลายนัด ตอนนั้น นักเตะต่างชาติยังมีไม่เยอะเหมือนกับสมัยนี้ และผู้ชมในสนามก็ยังบางตา แฟนคลับน้อยจริงๆ บางแมตช์ เล่นกันเอง ดูกันเอง มีผู้ชม 10-20 คน ถ้าเปรียบกับในปัจจุบัน ก้าวมาถึงฤดูกาลที่ 12 แล้ว ผมเชื่อว่า เราได้เห็นความแตกต่างที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ ทั้งทักษะของนักเตะไทย สีสันกองเชียร์ เกิดแฟนคลับ จำนวนผู้ชมเพิ่มเป็นหลายพันคน ที่สำคัญ ทุกๆทีมล้วนมีนักเตะต่างชาติเป็นกำลังหลัก ส่วนมากจะมีสัก 4-5 คน บางทีมก็คนสองคน และถ้าผมจำไม่ผิด คงมีเพียง สโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพเพียงทีมเดียวที่ไม่ได้ใช้บริการนักเตะต่างชาติเลย นักเตะต่างชาติที่พูดถึงนี้ ล้วนมาจากทวีปอัฟริกา และลงเล่นในฟุตบอล ไทยแลนด์ พรีเมียร์ ลีก 2008 นับได้ 56 คน

ย้อนกลับไปในยุคปี 80 ซึ่งผมยังใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ผมเห็นสโมสรของประเทศต่างๆในทวีปยุโรปมักเรียกใช้บริการของนักเตะที่มาจากแถบยุโรปตะวันออก เช่น โรมาเนีย ฮังการี บุลกาเรีย ยูโกสลาเวีย เช็กโกสโลวาเกีย โปแลนด์ รวมทั้งสหภาพโซเวียต เพราะตอนนั้น ประเทศเหล่านี้ยังอยู่ใต้ปีกของสหภาพโซเวียต ยังมีการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้คนมีรายได้น้อยมาก เมื่อเปรียบกับทางซีกยุโรปตะวันตก การซื้อตัวนักเตะจากยุโรปตะวันออกมาเสริมทีม ถือว่าได้ของดี ราคาถูกกว่ามาก และนักกีฬาจากยุโรปตะวันออกมีวินัยสูง การฝึกซ้อม การฟิตร่างกาย การใช้ชีวิตที่เป็นไปอย่างเคร่งครัด ดังนั้น นักเตะเหล่านี้ แม้จะขาดความโฉบเฉี่ยว วูบวาบ สีสัน ลวดลายไปบ้าง แต่ส่วนมากจะโชว์ผลงานอยู่ในระดับมาตรฐาน ความแน่นอน เชื่อถือได้ ไม่ค่อยมีความผิดพลาด เรียกว่าเล่นแบบหุ่นยนต์ ไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็น ยุคนั้น ถือว่านักเตะเหล่านี้มาช่วยเป็นกำลังสำคัญให้ จนเข้าสู่ยุคทศวรรษที่ 90 สหภาพโซเวียตล่มสลาย ไม่มีการแบ่งแยก ยุโรปตะวันตก ตะวันออก กันแล้ว นักเตะดังกล่าวก็มีค่าตัวสูงขึ้น ความนิยมในนักเตะยุโรปตะวันออกจึงเปลี่ยนไป กลายเป็นนักเตะจากทางทวีปอัฟริกาที่ได้โอกาสมากขึ้น

นักเตะผิวดำจากทวีปอัฟริกา ส่วนใหญ่จะมาจาก กาเมรูน ( Cameroun ) ไนจีเรีย ( Nigeria ) และ โก๊ต ดีวัวร์ ( Cote d’ Ivoire ) กานา ( Ghana ) และเซเนกัล ( Senegal ) พวกนี้มีความเร็ว แข็งแกร่ง อึด อดทน ทักษะในการเล่นบอลดี บอลติดเท้า เข้าแย่งยาก เป็นคุณลักษณะเด่น และเนื่องจากทวีปอัฟริกายังยากจน พวกเขายอมรับค่าเหนื่อยในระดับต่ำ แต่ก็ยังถือว่าเป็นเงินจำนวนมากสำหรับพวกเขา จึงเป็นของดีราคาถูกที่เข้ามาแทนที่นักเตะยุโรปตะวันออก

ในฟุตบอล ลีก ของไทย ที่กำลังพยายามสร้างทีมระดับสโมสรให้ขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของเอเชียก็จำเป็นต้องมีนักเตะต่างชาติมาเป็นตัวช่วยยกระดับ และด้วยกำลังเงินของแต่ละสโมสร คงไม่สามารถจ้างนักเตะราคาแพงจากทวีปยุโรปได้ เกิน 1 ล้านบาทก็ไม่มีกำลังทรัพย์แล้วครับ ดังนั้น บรรดานักเตะผิวดำแถวสอง คือฝีมือไม่สูงพอที่จะไปค้าแข้งในทวีปยุโรป ก็ย่อมเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม บางคนเผยให้ผมฟังว่า ตอนที่ค้าแข้งอยู่ในประเทศของตนนั้น ได้ค่าเหนื่อยเดือนหนึ่งไม่ถึง 10,000 บาท คนพวกนี้ตัดสินใจมาค้าแข้งในทวีปเอเชียเพราะเห็นว่า ถัดจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่พัฒนาไปไกลแล้ว ก็มีประเทศแถวสองที่กำลังพัฒนาไต่ขึ้นมา เรียกว่า กำลังบูม อย่าง อินโดเนเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ซึ่งชาติเหล่านี้พอจะมีเงินจ้างแค่นักเตะจากทวีปอัฟริกา

อึ๋งกัตตา โกเบน็อง เลอง ( N'Guatta Kobenan Leon ) นักเตะกองหลังวัย 25 ปีของทีมจุฬา ยูไนเต็ด เล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่ค้าแข้งอยู่กับสโมสรบ้านเกิดใน อาบีช็อง ( Abidjan ) ประเทศ โก๊ต ดีวัวร์ เขาได้รับค่าเหนื่อยคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5-6 พันบาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งการมาเล่นที่เมืองไทย เขาได้เงินเดือน 25,000 บาท ทำให้สามารถส่งเงินไปช่วยทางบ้านที่เมียกับลูกวัย 3 ขวบกำลังรออยู่ได้ราวเดือนละ 15,000 บาท

ผมขอเรียนท่านผู้อ่านไว้ก่อนว่า ประเทศนี้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ มีชื่อเป็นทางการภาษาฝรั่งเศสว่า Republique de Cote d' Ivoire อ่านว่า เรปูบลิก เดอ โก๊ต ดีวัวร์ และชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Republic of Cote d' Ivoire อ่านว่า รีพลับบลิค อ็อฟ โก๊ต ดีวัวร์ คือแตกต่างกันตรงคำว่า สาธารณรัฐ ที่อ่านแบบฝรั่งเศส หรือ อังกฤษ เท่านั้น แต่ทั้งสองภาษาก็เรียกว่า โก๊ต ดีวัวร์ เหมือนกัน และรัฐบาลก็รณรงค์ให้ชาวโลกเรียกเขาว่า โก๊ต ดีวัวร์ ไม่นิยมคำว่า Ivory Coast

อึ๋งกัตตา คุยให้ฟังต่อว่า นักเตะผิวดำแต่ละคนจะมีผู้จัดการส่วนตัวเป็นคนติดต่อให้ เมื่อมาอยู่เมืองไทย พวกนี้พักรวมอยู่กับคนดำด้วยกัน ให้ความช่วยเหลือกัน ไม่มีเงินก็ขอกันได้สบายมาก สำหรับเกมการแข่งขันในไทยเรานั้น เบาสบายครับ เพราะฟุตบอลในอัฟริกา ใส่กันหนักกว่าเยอะ หมอนี่ไม่มีปัญหาเรื่องการปรับสภาพความเป็นอยู่ อาหารก็มีหลากหลาย กินที่ค่ายพักที่สนามจุฬาฯ มื้อกลางวันก็ซัดที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัยเลย ว่างๆก็ไปเดินเที่ยวเล่นที่ มาบุญครอง เพลินดี นั่นเป็นสภาพโดยรวมของนักเตะผิวดำที่ปัจจุบันนี้กระจายอยู่เต็มไทย ลีก

สิ่งสำคัญที่เราเห็นก็คือ นักเตะพวกนี้เวลาลงสนาม จะทุ่มเท เข้าบอลทุกลูก พวกเขาสู้ขาดใจ เพราะถ้าไม่ได้เล่นอยู่เมืองไทยก็กลับไปแร้นแค้น อดตายในอัฟริกา ในขณะเดียวกัน เมื่อเงินน้อย หนทางที่น่าสนใจก็คือการจ้างนักเตะพวกนี้แหละครับ พวกเขาจะเป็นเส้นมาตรฐานให้นักเตะไทยได้ยกระดับฝีเท้า บวกกับความตั้งใจในการถ่ายทอดสดการแข่งขันให้ชาวบ้านได้ชมทางฟรีทีวีถี่ๆหน่อย แล้วอีก 4-5 ปี ฟุตบอลไทยได้อยู่แถวหน้าของทวีปเอเชียอย่างแน่นอนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น